รัฐหาช่องกฎหมายอุ้มค่ายมือถือ ยืดจ่ายใบอนุญาตคลื่น900 ตุนเงินแข่งประมูลคลื่น5จี

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

รัฐหาช่องกฎหมายอุ้มค่ายมือถือ ยืดจ่ายใบอนุญาตคลื่น900 ตุนเงินแข่งประมูลคลื่น5จี

Date Time: 14 ก.พ. 2562 09:26 น.

Summary

  • นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

Latest

ล้อมคอกรถโดยสารสาธารณะยึดมาตรฐาน "UN”




นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นำผู้บริหารของ 3 ค่ายมือถือ เอไอเอส ดีแทค และทรู เข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า ค่ายมือถือได้ขอให้รัฐบาลขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ออกไป เพื่อจะได้มีเงินสำหรับเตรียมพร้อมการประมูลคลื่นความถี่ 5 จี ซึ่งเป็นการรับฟังเท่านั้นและจะนัดมาคุยอีก ส่วนการช่วยเหลือกำลังดูว่ามีวิธีอื่นที่นอกเหนือจากการออกคำสั่ง ม.44 หรือไม่ โดยขึ้นอยู่กับว่ารัฐจะช่วยมากหรือน้อยแค่ไหน หากช่วยน้อยก็ไม่ต้องใช้ม.44 หากช่วยมากก็คงต้องใช้ ซึ่งข้อเสนอของเอกชนก็มีเงื่อนไขหลายอย่างและแต่ละค่ายก็เงื่อนไขต่างกัน ในส่วนรัฐเองก็มีเงื่อนไขด้วยก็ให้เอกชนกลับไปคิดดู แล้วนัดเจอกันอีกครั้ง

ด้านนายฐากร กล่าวว่า การหารือครั้งนี้แต่ละค่ายมือถือมาเล่าสถานการณ์และปัญหาของตัวเอง และแสดงถึงเหตุจำเป็นที่ต้องขอให้รัฐบาลช่วย เพื่อให้มีเงินเตรียมไว้สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 5 จี โดยชี้แจงว่าในปัจจุบันวงเงินกู้ที่ได้รับจากสถาบันการเงินเต็มวงเงินแล้ว และการลงทุนคลื่น 5 จี ต้องใช้เงินเปลี่ยนอุปกรณ์ทั่วประเทศนับแสนล้านบาท ยังไม่รวมเงินที่เข้าซื้อใบอนุญาต อาจจะถึง 200,000 ล้านบาท ส่วนช่วงเวลาการตัดสินใจช่วยเหลือที่เหมาะสมน่าจะเป็นก่อนการเลือกตั้ง

“ที่ผ่านมาไทยล้าหลังประเทศอื่นเนื่องจากการลงทุน 3 จี ช้ากว่าประเทศอื่น 10 ปี ต่อมามีการลงทุน 4 จี เราก็ล้าหลังประเทศอื่นอีก 8 ปี จนเมื่อเรามี 3 จี และ 4 จี วันนี้เราใช้งานก้าวกระโดดเร็วขึ้น เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติให้ กสทช.เดินหน้าทุกอย่างตามแผน แต่เอกชนยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน หากการประมูล 5 จี ที่วางกำหนดไว้ในปีนี้ล่าช้าอีก เราก็จะล้าหลังประเทศอื่น จนกระทบเศรษฐกิจของประเทศไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ (AI) อินเตอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง (IoT) หรือโครงการอัจฉริยะทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ท ซิตี้ หรือสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ จะไม่เป็นไปตามแผนได้”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ