"วรวุฒิ" ยันยังไม่ตัดสิทธิ์ "บีเอสอาร์" เจรจารถไฟเชื่อมสนามบินไม่คืบ นัดถกซีพีอีกรอบ12 ก.พ.นี้

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

"วรวุฒิ" ยันยังไม่ตัดสิทธิ์ "บีเอสอาร์" เจรจารถไฟเชื่อมสนามบินไม่คืบ นัดถกซีพีอีกรอบ12 ก.พ.นี้

Date Time: 8 ก.พ. 2562 09:01 น.

Summary

  • นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยความคืบหน้าการเจรจาร่วมกับกลุ่มกิจการร่วมค้าที่นำโดยกลุ่มซีพี

Latest

ล้อมคอกรถโดยสารสาธารณะยึดมาตรฐาน "UN”

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยความคืบหน้าการเจรจาร่วมกับกลุ่มกิจการร่วมค้าที่นำโดยกลุ่มซีพี ในโครงการร่วมลงทุนพัฒนารถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) โดยยืนยันว่า ตามเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ไม่ได้ระบุถึงการตัดสิทธิ์เอกชนที่เสนอขอเงินอุดหนุนจากรัฐเกินกว่ากรอบที่ ครม. กำหนด แต่ระบุเพียงให้เจรจากับผู้ที่เสนอขอเงินอุดหนุนจากรัฐต่ำสุดเป็นรายแรกก่อน ดังนั้นกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ที่นำโดยบีทีเอสกรุ๊ป จึงยังไม่ถือว่าเป็นผู้ถูกตัดสิทธิ์จากการเจรจา

อย่างไรก็ดี ผลการเจรจาของคณะอนุกรรมการกับกลุ่มซีพีเมื่อวันที่ 7 ก.พ. ต้องนำมารายงานให้คณะกรรมการคัดเลือกรับทราบ หากได้ข้อสรุปแล้วก็จะต้องเจรจาร่วมกับกลุ่มซีพีด้วยว่ายังต้องการเดินหน้าการเจรจาต่อหรือไม่ เพราะถือว่าเดินหน้ามาครึ่งทางแล้ว โดยกรณีที่จะยกเลิกเจรจาต้องเกิดจากความต้องการของทั้งสองฝ่าย โดยระหว่างการเจรจา หากเอกชนต้องการลดออปชันที่เสนอมา ก็สามารถปรับเปลี่ยนหรือถอดออกได้ตลอด แต่ขณะนี้ไม่สามารถบอกได้ว่ามีข้อเสนออะไรบ้าง เพราะอยู่ในขั้นตอนเจรจาและท้ายสุดรัฐอาจไม่รับข้อเสนอเลยก็ได้

นายวรวุฒิ กล่าวต่อว่า หน้าที่ของคณะกรรมการคัดเลือกคือการเจรจาร่วมกับเอกชนให้ได้ข้อสรุป และสรุปผลทั้งหมดรายงานให้คณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมทั้ง ครม.ตามลำดับ โดยข้อเสนอทั้งหมดของเอกชน คณะกรรมการคัดเลือกจะต้องสรุปผลในรายงาน ทั้งข้อเสนอที่รับไว้และข้อเสนอที่ไม่ได้รับไว้ แต่หากคณะกรรมการอีอีซีจะนำข้อเสนอที่ไม่ได้รับไว้มาพิจารณาอีกก็สามารถทำได้ แต่เชื่อว่าคงไม่พิจารณาข้อเสนอที่อยู่นอกเหนือทีโออาร์

ตัวแทนอัยการสูงสุด ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเจรจาร่วมซีพี เปิดเผยว่า การเจรจาครั้งนี้เป็นเพียงการคุยในรายละเอียดร่างสัญญา ตามเรื่องที่เอกชนเสนอขอมา ซึ่งการเจรจาถือว่าคืบหน้ายังไม่ถึงครึ่งทาง และต้องเดินหน้าเจรจาอีกครั้งวันที่ 12 ก.พ.นี้ อย่างไรก็ดี ยืนยันว่าเรื่องที่ส่งผลต่อความเสียหายอย่างรุนแรงต่อภาครัฐจะไม่สามารถรับข้อเสนอ “ประเด็นส่วนใหญ่หารือเรื่องที่เอกชนขอมา ซึ่งเริ่มคุยเรื่องที่ยากปานกลางแล้ว เพราะเรื่องที่ยากที่สุดคุยจบไปแล้ว”

ด้านตัวแทนคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า คณะกรรมการคัดเลือกยังคงกรอบการเจรจาให้แล้วเสร็จภายใน ก.พ.นี้ เพื่อเร่งเสนอเข้า ครม.และลงนามสัญญาภายในเดือน มี.ค.62.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ