ชนะรวด “บงกช-เอราวัณ” ให้รัฐจัดเต็ม ปตท.สผ. เบียด “เชฟรอน” ผงาด

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ชนะรวด “บงกช-เอราวัณ” ให้รัฐจัดเต็ม ปตท.สผ. เบียด “เชฟรอน” ผงาด

Date Time: 14 ธ.ค. 2561 09:20 น.

Summary

  • ครม.อนุมัติ ปตท.สผ.ชนะประมูลรับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้ง 2 แปลงในอ่าวไทย เบียดเจ้าเก่า “เชฟรอน” กระจาย หลังกดราคาก๊าซต่ำกว่าปัจจุบันมาก และยื่นเงื่อนไขแบ่งสัดส่วนกำไรให้รัฐในอัตรา...

Latest

“ค้างหนี้-จ่ายช้า”เร่งตัว NPLs คนไทยพุ่ง! สินเชื่อรถ-บ้าน มากสุด กู้เต็มวงเงิน หันพึ่งหนี้นอกระบบ

ครม.อนุมัติ ปตท.สผ.ชนะประมูลรับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้ง 2 แปลงในอ่าวไทย เบียดเจ้าเก่า “เชฟรอน” กระจาย หลังกดราคาก๊าซต่ำกว่าปัจจุบันมาก และยื่นเงื่อนไขแบ่งสัดส่วนกำไรให้รัฐในอัตราที่สูง “ศิริ” เผย 10 ปี ประโยชน์ตกกับคนไทยและประเทศกว่า 650,000 ล้านบาท

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) กลุ่ม จ.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (หนองคาย บึงกาฬ เลย หนองบัวลำภูและอุดรธานี) มีมติอนุมัติรายชื่อผู้ชนะการประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยแปลงจี 1/61 หรือแปลงเอราวัณ และแปลงจี 2/61 หรือแปลงบงกช โดยให้บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับบริษัท เอ็มพี จี 2 (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตในแปลงสำรวจเอราวัณ ส่วนแหล่งบงกช มีบริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตเช่นกัน

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า จากการเปิดประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณและบงกช ทั้ง 2 แหล่งมีผู้เข้าประมูล 2 รายคือ บริษัทแรกนำโดยบริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ส่วนอีกบริษัทนำโดยบริษัทเชฟรอน ไทยแลนด์ โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งการประมูลจะมีเกณฑ์พิจารณา 4 ข้อหลักคือ พิจารณาจากราคาก๊าซธรรมชาติตลอดอายุสัญญาตามสูตรราคาที่กำหนดในเอกสารเชิญชวน, ส่วนแบ่งกำไรของผู้รับสัญญาที่จะมอบให้รัฐบาล, โบนัสและผลประโยชน์พิเศษ และสัดส่วนของการจ้างพนักงานคนไทย

“ผลการประมูลสรุปได้ว่า ปตท.สผ.เป็นผู้ได้รับสิทธิผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตทั้ง 2 แปลง คือแปลงเอราวัณ ซึ่งเดิมเชฟรอน เป็นผู้ดำเนินการอยู่ และในแปลงบงกช ที่ในปัจจุบันปตท.สผ.เป็นผู้ดำเนินการอยู่ โดย ปตท.สผ.ยื่นเงื่อนไขในการประมูลที่ดีกว่าคู่แข่งให้กับประเทศที่จะได้รับ”

ทั้งนี้ เงื่อนไขเกณฑ์พิจารณาทั้ง 4 ข้อในรายละเอียด สำหรับแปลงเอราวัณ ในด้านราคาก๊าซ ปตท.สผ.เสนอราคาก๊าซคงที่เริ่มต้นที่ 116 บาทต่อล้านบีทียู จากปัจจุบันเชฟรอนคิดในราคา 165 บาทต่อล้านบีทียู ส่วนกำไรที่จะแบ่งปันให้รัฐเสนอมาที่ 68% เก็บไว้เอง 32% โดยตามกฎหมายผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสามารถเสนอรับกำไรสูงสุดได้ที่ 50% ของกำไร ด้านสัดส่วนการจ้างพนักงานนั้นทั้ง 2 บริษัทเสนอใกล้เคียงกัน โดย ปตท.สผ.เสนอจ้างพนักงานไทยตั้งแต่ปีแรกเป็นต้นไปที่ 98% ขณะที่แปลงบงกช ปตท.สผ.เสนอราคาที่ 116 บาทต่อล้านบีทียู เป็นราคาเดียวกับแปลงเอราวัณ จากปัจจุบัน ปตท.สผ.คิดราคาอยู่ที่ 214 บาทต่อล้านบีทียู สัดส่วนแบ่งปันผลกำไรให้รัฐอยู่ที่ 70% ปตท.สผ.รับไว้เอง 30% ใช้สัดส่วนพนักงานคนไทยตั้งแต่ปีแรกที่ 99%

“จะเห็นได้ว่าราคาขายก๊าซที่ผู้ชนะการประมูล คือ ปตท.สผ.เสนอมา ต่ำกว่าราคาที่จำหน่ายอยู่ในปัจจุบันค่อนข้างมาก ส่งผลให้การซื้อก๊าซธรรมชาติจาก 2 แหล่งที่คิดเป็นปริมาณกว่า 75% ของก๊าซที่ผลิตจากอ่าวไทย โดยตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป ประเทศไทยจะสามารถซื้อก๊าซในราคาถูกลง ราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงทั้งการผลิตไฟฟ้า สำหรับใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม หรือเป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถขนส่งเอ็นจีวีจะมีราคาถูกลงในอัตราเทียบเท่ากับ 550,000 ล้านบาทในระยะ 10 ปี หรือประหยัดลงได้ปีละ 55,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลประโยชน์ที่ได้จากการประมูลโดยตรงที่จะไปถึงผู้บริโภคในทันที โดยในส่วนลดค่าไฟฟ้าจะลดลง 17 สตางค์ต่อหน่วย”

ขณะเดียวกัน ในการประมูลครั้งนี้ ปตท.สผ.ได้เสนอส่วนแบ่งกำไรในอัตราที่สูงให้กับรัฐ คำนวณแล้วรัฐจะได้เงินจากผลกำไรเพิ่มขึ้นเป็นเงินอีก 100,000 ล้านบาทในช่วง 10 ปีแรกของการผลิตในรูปแบบของค่าภาคหลวงและการแบ่งปันผลกำไรจากการผลิต ดังนั้นโดยรวมแล้วประโยชน์จากการประมูลครั้งนี้ทั้งผู้บริโภคในสังคมที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 550,000 ล้านบาท และมีเงินงบประมาณเข้ารัฐเพิ่มอีก 100,000 ล้านบาท ประโยชน์โดยรวมจึงอยู่ที่ 650,000 ล้านบาทในระยะเวลา 10 ปี โดยคาดว่าจะเชิญ ปตท.สผ.มาเจรจาและทำสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติโดยเร็ว เพื่อให้สามารถลงนามในสัญญาได้ภายในเดือน ก.พ.2562.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ