“ฐากร” ลั่นปี 2562 เร่งแก้ปัญหาทีวีดิจิทัลให้อยู่รอด ทั้งช่วยจ่ายค่าเช่าโครงข่าย ค่ามัสต์แครี จนถึงปี 2565 แบ่งเบาภาระ วอนอย่าเพิ่งปลดพนักงาน หวั่นกระทบเศรษฐกิจภาพรวม ส่วนประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ นำเงินมาเยียวยา ย้ำราคาต้องไม่แพง หากแพง กระทบแผนการช่วยทีวีดิจิทัลแน่
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินงานของ กสทช.ในปี 2562 ว่า กสทช.มีพันธกิจที่จะผลักดันการดำเนินงานให้เกิดขึ้นจริงใน 5 ประเด็นหลัก ดังนี้
1.การผลักดันให้เกิด 5 จีในประเทศ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่ง กสทช.จะต้องทบทวนการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ใหม่, เงื่อนไขการชำระเงิน, การประมูลล่วงหน้า, การกำหนดหลักเกณฑ์การประมูลใหม่ จากเดิมประมูลคลื่นความถี่เดียว เปลี่ยนเป็นหลายคลื่นพร้อมกัน หรือกำหนดแพ็กเกจการประมูล เช่น คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ คู่กับคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ และการประมูลล่วงหน้า
2.การแก้ไขปัญหาทีวีดิจิทัล เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เนื่องจากสถานการณ์ของทีวีดิจิทัลอยู่ในภาวะลำบาก เนื่องจากทีวีดิจิทัลช่อง
3 ได้มีการเลิกจ้างพนักงานแล้ว เพราะนอกจากได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี หรือ Digital Disruption แล้ว ยังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวด้วย โดยอันดับแรกจะขยายการสนับสนุนค่าใช้จ่ายการออกอากาศผ่านโครงข่ายทีวีดิจิทัล (MUX) และค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการปฏิบัติตามประกาศ กสทช.ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป หรือกฎมัสต์แครี (Must Carry) ให้ไปสิ้นสุดปี 2565 จากเดิมคำสั่งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้ช่วย เหลือแบ่งเบาภาระถึงปี 2562 อีกทั้ง กสทช.ได้เร่งดำเนินการให้มีการวัดอันดับความนิยมทีวีผ่านอินเตอร์เน็ต หรือดิจิทัลเรตติ้ง เพื่อให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลนำไปเป็นข้อมูลในการหารายได้
ส่วนเรื่องคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่จะนำมาประมูล 5 จี เพื่อนำรายได้มาช่วยเหลือเยียวยาทีวีดิจิทัลนั้น เป็นเรื่องที่ กสทช.ต้องเร่งดำเนินการให้มีการประมูลเกิดขึ้นในปี 2562 เป็นการเปิดประมูลล่วงหน้า ถ้าไม่มีการประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ และไม่มีเอกชนรายใดเข้าร่วมประมูล การช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ก็ไม่เกิดขึ้น ดังนั้น กสทช.ต้องกำหนดราคาเริ่มต้นการประมูล ระยะเวลาการชำระเงินค่าประมูล ให้จูงใจเอกชนเข้าร่วมประมูล หากไม่จูงใจผู้ประกอบการโทรคมนาคม ก็ไม่สนใจร่วมประมูล ก็ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้ ซึ่งทั้งอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและทีวิดิจิทัลนั้น ผูกพันโยงใยกันจนเป็นเรื่องเดียวกัน จึงไม่สามารถแยกการช่วยเหลือออกจากกัน หรือช่วยเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ ส่วนราคาเริ่มต้นประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ คาดว่า จะอยู่ที่ 13,000-14,000 ล้านบาท ต่อจำนวน 10 เมกะเฮิรตซ์
“ปัญหาของทีวีดิจิทัล ผูกพันกับปัญหาของโทรคมนาคม ถ้ากำหนดราคาประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ สูงเกินไป ก็ไม่มีใครมาประมูล เมื่อไม่มีใครมาประมูล ก็ไม่มีเงินที่ไปช่วยเหลือทีวีดิจิทัล ฉะนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยกัน เพื่อให้อยู่รอดร่วมกัน พร้อมกันนี้ ผมอยากจะขอร้องผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล อย่าเพิ่งปลดพนักงาน เพราะ กสทช.กำลังหาช่องทางช่วยเหลือ เนื่องจากปลดพนักงาน 1 คน กระทบการเลี้ยงดูครอบครัว และส่งผลกระทบต่อเนื่องเศรษฐกิจโดยภาพรวมด้วย และผมมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาให้ และเชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ หากทำไม่ได้ ก็คงไม่สามารถอยู่ทำงานต่อไปได้ ผมเป็นคนทำงานจริง บริหารความจริง ไม่ใช่บริหารความฝัน”
นายฐากร กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องที่ 3 กสทช.จะเร่งกำหนดหลักเกณฑ์การใช้วงโคจรดาวเทียม เพื่อรองรับการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม ในปี 2564 4.การร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อกำหนดเลขหมายโทรศัพท์ 191 เป็นเลขหมายฉุกเฉินแห่งชาติ และ 5. การร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สตช. กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เพื่อระงับการเผยแพร่เนื้อหาบนสื่อออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย.