ผ่านสนช.แล้ว! ผ่าภาษีที่ดิน เอื้อใคร? คนจนไม่กระทบ คนรวยไม่สะเทือน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ผ่านสนช.แล้ว! ผ่าภาษีที่ดิน เอื้อใคร? คนจนไม่กระทบ คนรวยไม่สะเทือน

Date Time: 16 พ.ย. 2561 13:00 น.

Video

วิธีเอาตัวรอดของ Wikipedia ไม่พึ่งโฆษณา ไม่มีค่าสมาชิก แต่อยู่มาได้ 23 ปี | Digital Frontiers

Summary

  • ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กฎหมายที่ สนช.แช่ยาวมาราธอน กินเวลากว่า 2 ปี ขอปรับแก้อัตราจัดเก็บภาษีให้ต่ำลง ยกเว้นมูลค่าทรัพย์สินให้สูงขึ้นเป็น 50 ล้าน ล่าสุดผ่านที่ประชุม สนช.วาระ2และ3 แล้ว

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กฎหมายที่ สนช.แช่ยาวมาราธอน กินเวลากว่า 2 ปี เจอโรคเลื่อนซ้ำๆ ขอปรับแก้อัตราจัดเก็บภาษีให้ต่ำลง และยกเว้นมูลค่าทรัพย์สินให้สูงขึ้นเป็น 50 ล้านบาท หลัง ครม.ไฟเขียวร่างกฎหมายตัวนี้ตั้งแต่ 7 มิ.ย. 2559 ล่าสุดช่วงเช้าที่ผ่านมา 16 พ.ย. ที่ประชุมสนช.มีมติให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯในวาระ2 และ 3 แล้ว 

เท่ากับว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2562 แต่จะเริ่มเก็บภาษีจริงในวันที่ 1 ม.ค. 2563 มาแทน พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ และ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ประเมินว่าจะทำให้เก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ในปีที่ 4 หลังมีผลบังคับใช้

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กำหนดเพดานอัตราภาษีที่ดินเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1.ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมกำหนดไว้ 0.15% 2.ที่ดินเพื่ออยู่อาศัย 0.3% 3.ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ อุตสาหกรรม สันทนาการ และอื่นๆ 1.2% และ 4 ที่ดินว่างเปล่า 3% โดยที่ดินเพื่อการเกษตรสำหรับบุคคลธรรมดา เว้นภาษีในส่วนมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท คิดเป็น 99.9% ของเกษตรกรทั้งหมดที่ได้รับการเว้นภาษี

ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท เก็บ 0.01% หรือล้านละ 100 บาท อาทิ ที่ดินประเภทเกษตรกรรม ที่มีมูลค่า 60 ล้านบาท จะเสียภาษี 1 พันบาทต่อปี เป็นต้น และเว้นการเก็บภาษีให้ 3 ปีแรก เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับเกษตรกรรายย่อย ส่วนเกษตรกรที่เป็นนิติบุคคล ให้เก็บภาษีตั้งแต่บาทแรกที่ 0.01% โดยที่ดินมูลค่า 1 ล้านบาท จะเสียภาษี 100 บาท อาทิ ที่ดินมูลค่า 10 ล้านบาท เสียภาษี 1 พันบาท, ที่ดินมูลค่า 20 ล้านบาท เสียภาษี 2 พันบาทต่อปี เป็นต้น

ด้านที่ดินเพื่ออยู่อาศัยบ้านหลังแรกมูลค่าที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้น ซึ่งคิดเป็น 99.9% เช่นกัน ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท เสียภาษี 0.02% หรือล้านละ 200 บาท อาทิ บ้านมูลค่า 60 ล้านบาท จะเสียภาษี 2 พันบาทต่อปี ซึ่งมีบ้านที่ต้องเสียภาษีประมาณ 1 หมื่นกว่าหลัง ส่วนบ้านหลังที่ 2 เป็นต้นไป ต้องเสียภาษีตั้งแต่บาทแรกที่ 0.02% หรือล้านละ 200 บาท อาทิ บ้านมูลค่า 10 ล้านบาท จะเสียภาษี 2 พันบาทต่อปี

ขณะที่ ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ มูลค่าเกิน 50 ล้านบาท เสีย 0.3% หรือล้านละ 3 พันบาท ส่วนที่เกิน 200 ล้านบาท เสียภาษี 0.4% หรือล้านละ 4 พันบาท ซึ่งจะไม่กระทบกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือผู้ประกอบการขนาดใหญ่ โดยที่ดินประกอบการโรงเรียนสถานศึกษา โรงพยาบาล สนามกีฬา สนามกอล์ฟ จะได้บรรเทาภาษีสูงสุดถึง 90%

สำหรับภาษีที่ดินที่ทิ้งว่างเปล่าจะเก็บภาษี 0.3-3% ของราคาประเมิน และเพิ่มขึ้น 0.3% ทุก 3 ปี ต่อเนื่อง ไม่เกิน 27 ปี หรือจนกว่าจะมีการใช้ประโยชน์จากที่ดิน และจากข้อมูลของกรมพัฒนาที่ดินพบว่ามีที่ดินทิ้งไว้ไม่ได้ทำประโยชน์ทั่วประเทศ 8.31 ล้านไร่ จากที่ดินทั้งประเทศประมาณ 300 ล้านไร่ ในส่วนผู้เสียภาษีที่ดินเพื่อการเกษตร ที่อยู่อาศัย และเพื่อการพาณิชย์ หากมีภาระต้องเสียมากกว่าที่เคยเสียตามกฎหมายเก่า กฎหมายยังกำหนดให้บรรเทาภาระภาษีส่วนเกินเป็นเวลา 4 ปี ในปีแรกจะเก็บ 25% ปีที่สอง 50% ปีที่สาม 75% และปีที่สี่ 100%

ด้านนายสมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เคยพยายามผลักดันภาษีที่ดินให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด เปิดเผยกับ ”ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” ว่า เดิมเคยวางกรอบภาษีที่ดินเอาไว้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับกลายเป็นคนละเรื่อง ซึ่งแปลว่าประเทศจะเดินต่อไปไม่ได้ เพราะมีการปรับแก้เพื่อเอื้อให้คนรวย รู้สึกเสียใจกับโอกาสของประเทศชาติในการเดินหน้าไปสู่ความมั่นคั่งยั่งยืนที่ไม่มีทางหาเจอ ทั้งๆ ที่ประเทศต้องการเงินมาพัฒนาประเทศ

“พูดได้คำเดียวว่าเรื่องความเหลื่อมล้ำที่รัฐบาลชุดนี้ทำมา ยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าเรื่องค่าใช้จ่าย เรื่องภาษี และโครงการลงทุนต่างๆ เอื้อให้กับคนรวยทั้งนั้น เป็นการใช้ทรัพยากรที่ไม่ยุติธรรม เพราะเมื่อเอาไปมากก็ต้องเสียมาก แต่ดันปรับแก้เก็บภาษีให้น้อยลง เพื่อให้คนรวยเสียน้อย กลายเป็นคนละเรื่องกับหลักการภาษีที่ดินที่เคยทำมาสมัยเป็นรัฐมนตรี” นายสมหมาย กล่าวทิ้งท้ายด้วยความเสียใจ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ