เนรมิต 10 ที่จอดแนวรถไฟฟ้า ชูกลยุทธ์ "จอดแล้วจร" แก้วิกฤติรถติดกรุงเทพ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เนรมิต 10 ที่จอดแนวรถไฟฟ้า ชูกลยุทธ์ "จอดแล้วจร" แก้วิกฤติรถติดกรุงเทพ

Date Time: 24 ส.ค. 2561 10:10 น.

Summary

  • คมนาคมจับมือมหาดไทย กทม.เนรมิต 10 ที่จอดรถ แก้วิกฤติจราจรในกรุงเทพฯ นำร่องเปิดให้บริการแล้ว 3 สถานี ที่สถานีตลิ่งชัน บางบำหรุ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และเปิดเพิ่มอีก 2 ในปี 62...

Latest

“โกโก้ร้านไอ้ต้น” แฟรนไชส์สัญชาติไทย ปีเดียว ขยายสาขา 160 แห่งในจีน ความแปลก ที่กลายเป็นเอกลักษณ์

คมนาคมจับมือมหาดไทย กทม.เนรมิต 10 ที่จอดรถ แก้วิกฤติจราจรในกรุงเทพฯ นำร่องเปิดให้บริการแล้ว 3 สถานี ที่สถานีตลิ่งชัน บางบำหรุ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และเปิดเพิ่มอีก 2 ในปี 62 พร้อมสั่ง สนข.ถกภาคเอกชนทำที่จอดรถร่วมด้วยช่วยกัน และเดินหน้าเปิด 5 แผนเร่งด่วน ทั้งปรับเส้นทางรถเมล์ วิ่งชัตเตอร์บัส เปิดซอยทะลุ เพิ่มเรือด่วนช่วยแก้ปัญหารถติดอีกแรง

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังการประชุมแผนก่อสร้างที่จอดรถใต้ดินและที่จอดรถเพื่อการท่องเที่ยวว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ดำเนินการจัดทำที่จอดรถสาธารณะให้มากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาจราจรติดขัดในพื้นที่กรุงเทพฯนั้น ขณะนี้ได้ข้อสรุปร่วมกันแล้วว่า จะจัดทำที่จอดรถรวม 10 แห่ง ประกอบด้วย 1.บริเวณถนนราชดำเนิน หน้ากองทัพภาคที่ 1 และ 2.บริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งทั้ง 2 จุดนี้เป็นที่จอดรถแบบใต้ดิน รับผิดชอบโดย กทม. ซึ่งจอดได้ทั้งรถทัวร์และรถยนต์ ขณะนี้ กทม.อยู่ระหว่างขอรับจัดสรรงบประมาณการก่อสร้างวงเงิน 3,049 ล้านบาท

ส่วนอีก 8 แห่งนั้น กระทรวงคมนาคมเป็นผู้เสนอให้มีการจัดที่จอดรถเพิ่มบริเวณแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการและอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่ 1.สถานีบางขุนนนท์ 2.สถานีตลิ่งชัน 3.สถานีบางบำหรุ 4. สถานีหลักสอง 5.สถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 6.สถานีกลาง บางซื่อ 7.สถานีภาษีเจริญ และ 8.สถานีเจริญนคร

สำหรับจุดจอดรถที่เปิดให้บริการแล้ว ประกอบด้วย สถานีตลิ่งชัน วงเงินก่อสร้าง 579 ล้านบาท จอดรถยนต์ได้ 110 คัน, สถานีบางบำหรุ วงเงินก่อสร้าง 725 ล้านบาท จอดรถยนต์ได้ 310 คัน และสถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ส่วนที่จะเปิดให้บริการภายในปี 62 คือ สถานีหลักสอง วงเงินก่อสร้าง 531 ล้านบาท จอดรถยนต์ได้ 1,024 คัน ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน (สถานีกลางบางซื่อ) วงเงินก่อสร้าง 1,410 ล้านบาท จอดรถยนต์ได้ 1,700 คัน

ส่วนสถานีภาษีเจริญ จะเปิดให้บริการในปี 63 และสถานีบางขุนนนท์, สถานีเจริญนคร เปิดให้บริการปี 64 ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งเตรียมการบริหารที่จอดรถที่สถานีกลางบางซื่อ โดย รฟท.จะบริหารเอง หรือให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการ เพื่อให้สามารถเปิดบริการที่จอดรถได้ทันทีเมื่อเปิดใช้งานสถานีกลางบางซื่อปี 63 ขณะที่สถานีหลักสอง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเป็นผู้บริหารเอง ซึ่งได้เตรียมพื้นที่จอดไว้แล้ว หากเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หัวลำโพง-บางแค ปี 62 ก็สามารถให้บริการได้ทันที

นายพีระพล กล่าวต่อว่า ได้มอบให้ฝ่ายเลขาไปหารือกับ รฟม.และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เพื่อพิจารณารายละเอียดการก่อสร้างที่จอดรถที่สถานีบางขุนนนท์ให้ชัดเจนว่าสามารถก่อสร้างที่จอดรถเป็นอาคารสูง 5 ชั้นได้หรือไม่ เพราะพื้นที่เดิมเป็นเพียงที่จอดรถระดับพื้นดินเท่านั้น หากทำได้อาจต้องปรับวงเงินก่อสร้างด้วย ขณะเดียวกันได้มอบให้ สนข.เร่งรัดจัดประชุมเพื่อหาแนวทางที่จะร่วมมือกับภาคเอกชนในการทำที่จอดรถร่วมกับห้างสรรพสินค้า ได้แก่ สถานีเจริญนคร กับห้างฯไอคอนสยาม, สถานีภาษีเจริญ กับห้างฯซีคอนสแควร์ บางแค และสถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กับศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

“ทุกเรื่องต้องเร่งสรุป เพื่อนำไปหารือกับ กทม.ในเดือน ก.ย.นี้ ก่อนเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณา อย่างไรก็ตาม สำหรับการใช้บริการที่จอดรถสาธารณะนั้น ในส่วนของคมนาคม 8 จุดเบื้องต้นอาจให้บริการฟรี แต่ในระยะถัดไป อาจเก็บค่าบริการในอัตราที่ถูกกว่าที่จอดรถของภาคเอกชนทั่วไป”

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวถึงมาตรการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลว่า ยอมรับการก่อสร้างรถไฟฟ้าพร้อมกันหลายสาย ส่งผลกระทบต่อปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นอย่างมาก ดังนั้นเพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาดังกล่าว สนข.จึงออก 5 มาตรการเร่งด่วน ประกอบด้วย 1.บริหารการใช้พื้นที่ก่อสร้างให้เกิดประโยชน์ และให้กระทบพื้นที่จราจรให้น้อยที่สุด 2.ปรับเพิ่มเส้นทางรถเมล์ในเส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้า หากเส้นทางไหนมีทางด่วนหรือออกมอเตอร์เวย์ได้

ให้เปลี่ยนเส้นทางใช้ทางดังกล่าว 3.จัดบริการรถชัตเตอร์บัสเพื่อรับส่งจากชุมชน 4.จัดเรือโดยสารด่วนพิเศษให้บริการในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน 5.เปิดทะลุซอยตันให้เชื่อมถนนหลัก เพื่อช่วยจัดระบบจราจรและเร่งระบายรถและคนในชั่วโมงเร่งด่วนเช้าและเย็น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ