คมนาคม เปิด 5 แผนจราจรช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า-เย็น ปรับเส้นทางรถเมล์ แก้ปัญหารถติดก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายสาย พร้อมสำรวจซอยเปิดทะลุเชื่อมถนนหลัก เร่งสร้างอาคารจอดรถใต้ดินถนนราชดำเนินนอก...
เมื่อวันที่ 23 ส.ค. นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงมาตรการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ว่า จากที่รัฐบาลได้มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าพร้อมกันหลายสาย ได้ส่งผลกระทบต่อปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพและปริมณฑลอย่างมาก ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขบรรเทาปัญหาจราจร สนข.ไม่นิ่งนอนใจ ได้ออกมาตรการเพื่อช่วยจัดระบบจราจรและเร่งระบายรถ คน ในชั่วโมงเร่งด่วน เช้า และ เย็น ประกอบด้วย 1. บริหารการใช้พื้นที่ก่อสร้างให้เกิดประโยชน์ โดยกระทบพื้นที่จราจรให้น้อยที่สุด หากพื้นที่ใดสร้างเสร็จให้คืนพื้นที่ถนนจราจรทันที 2. ปรับเพิ่มเส้นทางรถเมล์ในเส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้า ถนนแจ้งวัฒนะ,ถนนลาดพร้าว และถนนรามคำแหง เช่น หากเส้นทางใดมีทางด่วน หรือเส้นทางออกมอเตอร์เวย์ให้เปลี่ยนเส้นทาง ให้ใช้เส้นทางดังกล่าวเพื่อร่นระยะเวลาเดินทาง
3. จัดบริการรถชัตเติลบัสเพื่อรับส่งจากชุมชน ซึ่งให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไปดำเนินการร่วมกันในการจัดหารถมารับส่งจากห้างสรรพสินค้า ไปยังสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ หรือ สถานีรถไฟฟ้า เช่น ถนนรามคำแหง จัดรถรับส่งที่ห้างเดอะมอลล์ ไปยังสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ 4. จัดเรือโดยสารด่วนพิเศษให้บริการในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน จากเดิมให้บริการจอดทุกท่า กว่า 28 ท่า ให้เหลือจอดรับส่งเพียงท่าเรือที่สามารถเชื่อมไปยังสถานีรถไฟฟ้าได้ เป็นต้น
5. เปิดทะลุซอยตันให้เชื่อมถนนหลัก ซึ่งในส่วนนี้ทาง สนข.จะร่วมกับ กทม. ไปดำเนินการสำรวจซอยต่างๆในเขตที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า ว่ามีซอยใดเป็นทางตัน เพื่อเปิดทะลุเชื่อมถนนหลัก หากสามารถทำได้ให้เร่งดำเนินการเปิดซอย เช่น ซอยราม 118 ซึ่งเป็นทางตัน ซึ่งจากการสำรวจ พบว่าหากเปิดซอยทะลุ จะสามารถเชื่อมต่อไปยังถนนศรีนครินทร์ ได้ เป็นต้น
"แนวทางการแก้ไขปัญหาจราจรต่างๆ ในเขตก่อสร้าง ได้มีการดำเนินการไปแล้วทั้งเรื่องการบริหารการใช้พื้นที่จราจรกับพื้นที่ก่อสร้าง รวมถึงการปรับเปลี่ยนเส้นทางรถเมล์ เพื่อร่นระยะเวลาเดินทางของประชาชน ส่วนแนวทางการจัดรถชัตเติลบัสนั้น ขณะนี้ได้ให้ รฟม. และ ขสมก. ดำเนินการว่าจะนำรถอะไร มาให้บริการรับส่ง"
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับ กทม.สำรวจและศึกษาการสร้างที่จอดรถในเมือง เพื่อสร้างอาคารจอดรถจอดและจร ซึ่งการสร้างอาคารนี้ จะเปิดกว้างให้เอกชนเข้ามานำเสนอพื้นที่และรูปแบบ นอกจากนั้น ยังได้ร่วมกับ กทม.ในการสำรวจพื้นที่ใต้ดินบริเวณถนนราชดำเนินนอก เพื่อสร้างอาคารจอดรถใต้ดิน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีสถานที่ราชการ และแหล่งท่องเที่ยว เบื้องต้น พื้นที่ที่เหมาะสมก่อสร้างลานจอดรถใต้ดินจะอยู่ใต้อาคารยูเอ็น ถนนราชดำเนินนอก ซึ่งจากการศึกษาจะสามารถรองรับได้ทั้งรถทัวร์ รถส่วนบุคคล รวมแล้วกว่า 1,000 คัน.