นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยความคืบหน้าของการพัฒนารถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ภายใต้กรอบความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่นว่า จะมีการก่อสร้างในระยะ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 270,000 ล้านบาท ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างทบทวนความเหมาะสมและความคุ้มค่า สำหรับผลการศึกษาโครงการพบว่าปริมาณผู้โดยสารอาจมีเฉลี่ยเพียง 10,000-20,000 คนต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณที่ยังไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน เนื่องจากปริมาณที่เหมาะสมของโครงการไฮสปีดเทรนต้องมีผู้โดยสารเฉลี่ย 30,000 คนต่อวัน หรือหากจะสร้างกำไรได้ ควรมีผู้โดยสารสูงเฉลี่ย 40,000-50,000 คนต่อวัน “ตอนนี้ญี่ปุ่นได้ส่งผลการศึกษามาแล้ว และคมนาคมกำลังทบทวนการลงทุน เพราะประเด็นสำคัญอยู่ที่ความคุ้มค่า รายได้ที่จะได้รับ เนื่องจากปริมาณผู้โดยสารยังน้อย ดังนั้นความเป็นไปได้ที่จะทำให้โครงการนี้น่าลงทุน คือการดึงเอาพื้นที่เชิงพาณิชย์มาพัฒนาด้วย โดยอาจพัฒนาในลักษณะศูนย์กลางคมนาคม หรือ TOD เพื่อนำรายได้จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์มาช่วยให้โครงการคุ้มทุน”
นายวรวุฒิยังกล่าวว่า พื้นที่ศักยภาพสูงที่จะนำมาพัฒนา TOD จากการประเมินจังหวัดพิษณุโลก มีความเหมาะสมในการพัฒนา เป็นอีกฮับของการเชื่อมต่อการเดินทาง ส่วนแนวทางการลงทุนอาจคล้ายกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู โดยรัฐบาลเป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายงานก่อสร้างโยธาแล้วให้เอกชนเข้ามาดูแลงานระบบและงานบริหาร หรือหากจะจัดตั้งเป็นบริษัทร่วม หรือ SPV รัฐต้องมอบสิทธิ์ให้ SPV สามารถเวนคืนที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ผลศึกษาโครงการไฮสปีดเทรนไทย-ญี่ปุ่นในเฟสแรกเสร็จแล้ว โดย สนข.ได้รวบรวมข้อมูลเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมแล้ว เหลือเพียงนโยบายรัฐบาลที่จะเร่งผลักดันหรือไม่ ขณะที่ญี่ปุ่นยังไม่ยืนยันที่จะเข้ามาร่วมทุน ระบุเพียงขอเป็นส่วนช่วยจัดทำแผนพัฒนาเท่านั้น หากมีพื้นที่เชิงพาณิชย์ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับโครงการได้.