ข่าวดี!! อินโดนีเซีย ยกเลิกจำกัดเวลานำเข้าพืชสวนปี 61 ทำลำไย ทุเรียน หอมแดงไทย ส่งออกได้ทั้งปี หลังถูกบล็อกให้นำเข้าเฉพาะบางเดือน พาณิชย์ ขอความร่วมมือผู้นำเข้ามะพร้าว หยุดนำเข้า 3 เดือน เริ่มส.ค.-ต.ค.นี้ หวังดึงราคาไม่ให้ตกต่ำอีก...
เมื่อวันที่ 25 ก.ค. นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อต้นสัปดาห์ ได้รับหนังสือจากรมว.เกษตร ของอินโดนีเซีย เพื่อชี้แจงอินโดนีเซีย เตรียมยกเลิกการใช้มาตรการจำกัดการนำเข้าพืชสวนปี 61 ที่กำหนดพืชสวนที่สามารถนำเข้าอินโดนีเซียได้ในเดือนต่างๆ จะต้องไม่ตรงกับฤดูกาลผลไม้ของอินโดนีเซีย ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าไทย จะมีทั้งลำไย ทุเรียน และหอมแดง คาดว่า การยกเลิกมาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆนี้
”ถือเป็นข่าวดี เพราะอินโดนีเซียเป็นตลาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งของพืชไทยทั้ง 3 ชนิด การยกเลิกกำหนดระยะเวลานำเข้า จะทำให้การส่งออกสินค้าไทยทั้ง 3 รายการไปอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นได้อีก และรองรับผลผลิตของปีนี้ได้”
สำหรับกรณีที่ไทยแก้ปัญหาราคาผลผลิตมะพร้าวในประเทศตกต่ำ โดยขอความร่วมมือผู้นำเข้าไม่นำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศชั่วคราวเป็นเวลา 3 เดือน หรือตั้งแต่เดือนส.ค.-ต.ค.61 นั้น จากการหารือกับผู้นำเข้า ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กะทิ เป็นต้น พบว่าจะไม่กระทบต่อการผลิตแน่นอน เพราะปีนี้ผลผลิตไทยเพิ่มขึ้น ภายหลังจากแก้ปัญหาโรคระบาดที่เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อนได้แล้ว และการไม่นำเข้าจะช่วยให้ราคาในประเทศไม่ตกต่ำลงไปอีก
ส่วนกรณีที่มีการขออนุญาตนำเข้า แต่ผู้นำเข้าไม่ได้นำไปใช้ผลิตเอง แต่นำไปขายต่อให้ผู้ประกอบการในประเทศรายอื่น ซึ่งผิดกฎระเบียบการนำเข้า และยังทำให้ปริมาณการนำเข้าสูงเกินจริง จนกระทบต่อราคาผลผลิตในประเทศนั้น ได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศ ดูแลการนำเข้าอย่างเข้มงวดมากขึ้น รวมถึงตรวจสอบย้อนหลังไปจนถึงปี 60 ว่า การนำเข้าสอดคล้องกับความต้องการใช้หรือไม่ เพื่อที่จะได้วางแผนบริหารจัดการการนำเข้าได้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม หากพบว่า มีการนำเข้าแล้วนำไปขายต่อ ก็อาจไม่อนุญาตให้ผู้นำเข้ารายนั้นนำเข้าได้อีก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ต้นปี 61 กระทรวงเกษตรอินโดนีเซีย ได้ใช้มาตรการจำกัดการนำเข้าพืชสวน ทำให้ลำไย ทุเรียน และหอมแดงไทย ได้รับผลกระทบ โดยลำไย อินโดนีเซีย ห้ามนำเข้าช่วงเดือนก.ค.-ส.ค. ซึ่งผลผลิตลำไยของไทยออกมาก ส่งผลให้ไทยส่งออกลำไยไปอินโดนีเซียไม่ได้ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายเกือบ 700 ล้านบาท ส่วนทุเรียน อนุญาตให้นำเข้าได้เฉพาะเดือนก.ค. คิดเป็นมูลค่าความเสียหายเกือบ 200 ล้านบาท และหอมแดง ห้ามการนำเข้าตลอดปี มูลค่าความเสียหายเกือบ 150 ล้านบาท รวมความเสียหายทั้งหมดราว 1,000 ล้านบาท
ส่วนการที่ไทยขอความร่วมมือผู้ประกอบการในประเทศไม่นำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศเป็นการทั่วไป เป็นเวลา 3 เดือนนั้น เพื่อแก้ปัญหาราคาผลผลิตในประเทศตกต่ำ ที่เกิดจากการนำเข้าจำนวนมากนั้น จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ส่งออกรายใหญ่ ได้แก่ อินโดนีเซีย เพราะมีส่วนแบ่งตลาดมะพร้าวในไทยถึงกว่า 90% รองลงมาคือ เวียดนาม สัดส่วนประมาณ 5%.