1 ก.ค.2561 ถือเป็นวันดีเดย์ หรือปฐมฤกษ์ที่กฎหมายใหม่ว่าด้วยการเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เพื่อนำไปใช้งานส่วนตัว เริ่มมีผลบังคับ
ที่จริงกฎหมายเช่าซื้อใหม่นี้ ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.2561 แต่เพื่อให้เวลาแก่ผู้ประกอบการปรับตัว และปรับปรุงสัญญาเช่าซื้อ จึงมีการบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ค.2561
ปกติที่ผ่านมา การเช่าซื้อรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ ฝ่ายผู้เช่าซื้อส่วนใหญ่มักจะถูกทางไฟแนนซ์ หรือผู้ปล่อยสินเชื่อ ซึ่งมีอำนาจต่อรองที่ดีกว่า กดผู้เช่าซื้อให้เสียเปรียบ ด้วยการกำหนดให้จ่ายดอกเบี้ยแบบ อัตราคงที่ หรือที่เรียกกันว่า Flat Interest Rate ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่มีการลดทั้งเงินต้น และดอกเบี้ยให้
วิธีคำนวณดอกเบี้ยแบบนี้ กำหนดไว้แต่แรกเท่าไร ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยเท่านั้น ไปจนกว่าจะสิ้นสุดสัญญา แถมบางทียังต้องเสียเงินเพิ่ม ตอนที่นำเงินไปโปะอีกต่างหาก
แต่ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกประกาศคณะกรรมการฯ ให้สัญญาธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เป็นธุรกิจที่มีการควบคุมสัญญา พ.ศ.2561 เพราะที่ผ่านมามักได้รับการร้องเรียนจากประชาชนเป็นจำนวนมากว่า ถูกฝ่ายผู้ให้เช่าซื้อเอารัดเอาเปรียบ
ตามกฎหมายเช่าซื้อใหม่ นอกจากช่วยลดภาระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ผู้เช่าซื้อ ยังให้ความคุ้มครองแก่ผู้ค้ำประกันมากขึ้นด้วย
เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในฐานะผู้บริโภคได้รับทราบแบบง่ายต่อการทำความเข้าใจ และไม่ตกเป็นเหยื่อของบรรดาไฟแนนซ์โหด ขอนำเอาคำอธิบายที่ “ทนายพีท” หรือ ดร.พีรภัทร ฝอยทอง กับ “ทนายเคน” หรือ ธีรวัฒน์ นามวิชา 2 ทนายความชื่อดัง ซึ่งเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ มาสรุป
สิ่งแรกที่ควรทราบ กฎหมายเช่าซื้อใหม่ ใช้บังคับเฉพาะกรณี การเช่าซื้อรถยนต์ หรือ รถจักรยานยนต์ ระหว่าง ผู้ประกอบการ กับ ผู้บริโภค ...ที่ซื้อไปเพื่อใช้งานส่วนตัว เท่านั้น หมายความว่า รถที่นำไปใช้เพื่อการรับจ้าง หรือนอกเหนือจากที่นำไปใช้งานส่วนตัว ไม่อยู่ในบังคับนี้
สาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลงก็คือ การคิดอัตราดอกเบี้ย กฎหมายกำหนดให้ ผู้ประกอบการ เช่น บริษัทไฟแนนซ์ทั้งหลาย ต้องใช้ “อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี” หรือ Effective Interest Rate แทนที่การใช้ “อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่” หรือ Flat Interest Rate ซึ่งเคยใช้กันมานาน
ตามประกาศของ สคบ. ได้ให้คำนิยามของ “อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี” ไว้ว่า หมายถึงอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อเช่าซื้อ ในลักษณะการคิดดอกเบี้ย แบบลดต้นลดดอก หรือแบบเดียวกับการคำนวณดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย โดยคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นคงเหลือในแต่ละงวด
อัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกนี้ ต่างกับอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ ราวฟ้ากับเหว เพราะหลังจากที่ผู้เช่าซื้อเริ่มผ่อนไปแล้ว เงินต้นจะลดลงเรื่อยๆตามลำดับ
ต่างจากดอกเบี้ยแบบคงที่ ซึ่งทางไฟแนนซ์ที่ปล่อยสินเชื่อ มักจะคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นที่เรากู้ตอนแรก เช่น เรากู้เงินมาเช่าซื้อรถยนต์ 100,000 บาท ถ้าคิดดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อปีแบบคงที่ ก็เอา 10% คูณ 100,000 บาท เท่ากับว่าเราต้องเสียดอกเบี้ย 10,000 บาท รวมแล้วเราจะมีหนี้รวมทั้งสิ้น 110,000 บาท
สมมติว่า ถ้าเราต้องผ่อนชำระค่างวดเป็นเวลา 10 เดือน หรือ 10 งวด เราจะมีภาระต้องผ่อนงวดละ 11,000 บาท ไปจนครบ 10 เดือน ก็เท่ากับเราจ่ายไปทั้งหมด 110,000 บาท
มองผิวเผินแล้วดูเหมือนยุติธรรมดี แต่จริงๆแล้วมันเป็นลูกเล่นทางการเงิน เพราะที่บอกว่าเป็น 10% ต่อปีนั้น ถ้าคิดดอกแบบลดต้นลดดอกแล้ว ที่เราผ่อนไปนั้นจะกลายเป็นดอกเบี้ยประมาณ 18% ต่อปี เลยทีเดียว ซึ่งอีก 8% ที่งอกมา เกิดจากการที่ดอกเบี้ยไม่ได้ลดลงตามเงินต้นที่เราผ่อนนั่นเอง
แต่จากตัวอย่างเดิม ถ้าเราผ่อนงวดแรก 11,000 บาท โดยเป็นเงินต้น 100,000 บาท กับดอกเบี้ยอีก 1,000 บาท แปลว่าเงินต้นจะลดเหลือเพียง 90,000 บาทในงวดถัดไป หากคิดดอกเบี้ย 10% เราก็ควรจะเสียดอกเบี้ย งวดถัดไปเพียง 900 และทุกงวดที่เราผ่อนไปนั้น เมื่อต้นลดแล้ว ดอกก็ควรจะลดตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม วันที่ 1 ก.ค.นี้ สำหรับผู้ที่ผ่อนรถตามสัญญาเดิม (ก่อน 1 ก.ค.2561) จะไม่ได้รับประโยชน์ในกรณีนี้ เพราะกฎหมายเช่าซื้อใหม่ บอกว่า สัญญาที่ทำมาก่อนหน้านี้ ให้ใช้ตามสัญญาเดิมต่อไปได้
ถัดมา กรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัด ค้างชำระค่างวดใน 60 วัน (ยังไม่ถึง 3 เดือน) ทางไฟแนนซ์ต้องแจ้งให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันทราบ เพื่อให้ผู้ค้ำประกันมีทางเลือกว่าจะแก้ไขอย่างไร เช่น ติดตามตัวให้ผู้เช่าซื้อมาชำระหนี้ที่ค้างชำระ เพื่อมิให้มีการผิดนัด
นอกจากนี้ ก่อนที่ทางไฟแนนซ์จะหันมาเล่นงานผู้ค้ำประกันแทนลูกหนี้ ทางผู้ค้ำฯยังสามารถปฏิเสธชำระหนี้ได้ โดยให้ไฟแนนซ์ไปเรียกเอาจากผู้เช่าซื้อก่อน หากผู้ค้ำประกันสามารถพิสูจน์ได้ว่า ผู้เช่าซื้อยังมีทรัพย์สินอื่นให้ทางไฟแนนซ์ไปยึด เช่น มีบ้าน หรือที่ดิน เป็นต้น
กรณีที่จะมีการยึดรถ เพื่อนำไปขายทอดตลาดตามกฎหมายเช่าซื้อเดิม เมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระ 3 งวดติดกัน ผู้ประกอบการสามารถยึดรถ แล้วนำไปขายทอดตลาดได้ทันที
แต่ตามกฎหมายใหม่ กำหนดให้ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องดำเนินการตามลำดับในการยึดรถ เพื่อนำไปขายทอดตลาด เช่น กำหนดว่าหลังจากที่ผู้ประกอบการยึดรถไปแล้ว ก่อนจะนำไปขายทอดตลาดต้องแจ้งให้ผู้เช่าซื้อทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน โดยให้สิทธิผู้เช่าซื้อมาชำระหนี้ ส่วนที่เหลือ จึงเอารถคืนไปได้
แต่ถ้าผู้เช่าซื้อไม่ใช้สิทธิดังกล่าว ผู้ประกอบการก็ยังต้องแจ้งไปยังผู้ค้ำประกัน (ถ้ามี) ไม่น้อยกว่า 15 วัน เพื่อให้ผู้ค้ำประกันมีทางเลือก เช่น ตัดสินใจที่จะไปชำระหนี้แทน แล้วใช้สิทธิแทนผู้เช่าซื้อ เป็นต้น
ถ้าผู้ค้ำประกันเลือกที่จะชำระหนี้ส่วนที่ผู้เช่าซื้อค้างอยู่ ผู้ค้ำประกันก็จะได้รถคันนั้นไปเลย ซึ่งข้อนี้นับว่าเป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้ค้ำประกันมาก ทำให้ผู้ค้ำประกันมีทางเลือกที่จะเสียเงินแล้วได้รถไปด้วย ดีกว่าต้องมาเสียเงินเปล่าๆโดยไม่ได้อะไรเลย ดังที่เป็นมาในอดีต
ถัดมา กรณีอัตราค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียม เช่น ค่าติดตามรถ ค่าทวงถาม เป็นต้น ที่ผ่านมาทางไฟแนนซ์มักคิดกับผู้เช่าซื้อที่ผิดนัดในราคาแพง เช่น 10,000-20,000 บาท ต่อไปจะคิดแพงแบบนั้นไม่ได้
นอกจากนี้ เมื่อนำรถไปขายทอดตลาดแล้ว กฎหมายยังกำหนดว่า ทางไฟแนนซ์ต้องมีหนังสือแจ้งไปยังผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันว่า ขายทอดตลาดแล้วได้กำไรหรือขาดทุน
กรณีที่ขายได้กำไร ทางไฟแนนซ์จะต้องคืนส่วนต่างให้แก่ผู้เช่าซื้อ แต่ถ้าขายแล้วขาดทุน ให้ผู้เช่าซื้อชำระหนี้ส่วนต่างที่เหลือภายใน 15 วัน
ในกรณีที่รถซึ่งเช่าซื้อมีปัญหา ตามกฎหมายเดิมผู้เช่าซื้อไม่สามารถฟ้องร้องผู้ขายได้โดยตรง แต่ตามกฎหมายเช่าซื้อใหม่ กำหนดให้ไฟแนนซ์ ต้องมอบอำนาจให้ผู้เช่าซื้อสามารถฟ้องร้องผู้ขายได้โดยตรง
สุดท้าย กรณีที่รถซึ่งเช่าซื้อสูญหาย ถูกทำลาย ถูกยึด หรืออายัด โดยไม่ใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ ตามกฎหมายใหม่ ห้ามไฟแนนซ์ฟ้องเรียกค่างวดที่ค้างชำระ รวมทั้งค่าปรับหรือค่าทวงถาม
ทั้งหมดนี้ คือ สาระสำคัญที่จะมีการบังคับใช้ในการเช่าซื้อรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ เพื่อใช้งานส่วนตัว ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2561 เป็นต้นไป.