บทพิสูจน์ “การตลาดนำการผลิต”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

บทพิสูจน์ “การตลาดนำการผลิต”

Date Time: 21 มิ.ย. 2561 07:01 น.

Summary

  • ในช่วงนี้ กระทรวงพาณิชย์กำลังปลาบปลื้มยินดีกับผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ที่ “นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รมว.พาณิชย์ ยืนยันว่าประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

Latest

สนค.แจงสี่เบี้ยเงินเฟ้อปี 68 เติบโต 0.8% ขึ้นค่าแรงไม่มีผลกระทบ

ในช่วงนี้ กระทรวงพาณิชย์กำลังปลาบปลื้มยินดีกับผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ที่ “นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รมว.พาณิชย์ ยืนยันว่าประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

โดยเฉพาะยกระดับรายได้เกษตร เพราะสามารถทำให้ราคาสินค้าเกษตรสำคัญสูงขึ้น จนทำสถิติ “นิวไฮ” หรือสูงสุดในรอบ 10 ปี ทั้งข้าวเปลือกหอมมะลิ มันสำปะหลัง รวมถึงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ผลไม้อย่างทุเรียน

โดยข้าวเปลือกหอมมะลิ ปัจจุบันตันละ 18,700 บาท เพิ่มจากตันละ 12,000-14,000 บาท ราคาสูงสุดในรอบ 10 ปี เพราะกระทรวงระบายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาล 18 ล้านตันได้หมด อีกทั้งยังขายข้าวไปต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น จากการชนะการประมูลข้าวอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ส่งมอบข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ให้กับจีน และกำลังจะทำสัญญาเพิ่มอีก 1 ล้านตัน

ส่วนมันสำปะหลัง ปีนี้เป็นครั้งแรกที่ราคาสูงถึงกิโลกรัม (กก.) ละ 3.20 บาท เพิ่มขึ้น 100% จากปีก่อนที่ กก.ละ 1.70 บาท สูงสุดในรอบ 10 ปีเช่นกัน เพราะส่งออกไปจีนได้เพิ่มขึ้น และยังหาตลาดใหม่ๆได้อย่างตุรกี นิวซีแลนด์ และเมืองใหม่ๆของจีน อีกทั้งยังทำให้สมาคมที่เกี่ยวข้องกับการค้ามันสำปะหลังไม่ขายตัดราคากันเอง และกำกับดูแลการนำเข้าหัวมันสดจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเข้มงวด

ขณะที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กก.ละ 9.5-9.7 บาท เพราะใช้มาตรการรักษาเสถียรภาพราคา โดยกำหนดให้ผู้นำเข้าข้าวสาลี เพื่อนำมาผลิตอาหารสัตว์ ต้องรับซื้อข้าวโพดในประเทศในอัตรา 1 ต่อ 3 และขอความร่วมมือโรงงานอาหารสัตว์ รับซื้อข้าวโพดหน้าโรงงานกรุงเทพฯและปริมณฑล ไม่ต่ำกว่า กก.ละ 8 บาท

สำหรับผลไม้สำคัญ เช่น ทุเรียน ราคาสูงขึ้นมาก เพราะผลักดันการขายผ่านเว็บไซต์ Tmall.com ส่วนปาล์มน้ำมัน ทำงานร่วมกับหลายกระทรวง จนทำให้ราคาสูงขึ้นมาได้ จากก่อนหน้านี้ที่ราคาตกต่ำ

นี่คือสินค้าดาวเด่นที่ราคาสูงขึ้น ทั้งจากโชคช่วย ที่ผลผลิตลดลงจากปีก่อน เพราะภัยธรรมชาติ แต่ความต้องการซื้อเท่าเดิม หรือสูงขึ้น ส่งผลให้ลูกค้าแย่งกันซื้อ และดันราคาขึ้น รวมถึงการทำงานหนักของกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน

แต่ยังมีอีกหลายรายการที่ราคาดาหน้าตกต่ำ และรัฐบาลยังแก้ไขไม่ได้ อย่างสับปะรด กระเทียม หอมแดง ฯลฯ ยังไม่นับรวมยางพารา อ้อย ฯลฯ ซึ่งฉุดรายได้เกษตรกร และทำให้เศรษฐกิจฐานรากยังไม่เข้มแข็ง

จำได้ว่ารัฐบาลนี้ย้ำนักย้ำหนาว่าจะบริหารจัดการสินค้าเกษตรโดยใช้ “การตลาดนำการผลิต” (Demand Driven) หรือผลิตตามความต้องการของตลาด ไม่ใช่อยากจะปลูกอะไรก็ปลูก โดยไม่คิดว่าปลูกแล้วจะขายใคร หรือมีตลาดรองรับหรือไม่ หรือแห่ปลูกพืชราคาดี จนผลผลิตล้นทะลัก และฉุดราคาตก

ถ้าทำตามที่รัฐบาลตั้งใจไว้ คงไร้ปัญหาผลผลิตล้น และราคาตกต่ำ แต่เอาเข้าจริงผ่านมากว่า 4 ปี ราคาสินค้าเกษตรหลายรายการยังตกต่ำอยู่ดี เหมือนรัฐบาลสร้างความฝันลมๆแล้งๆที่ไม่มีวันเป็นจริง

ประเทศไทย ประเทศเกษตรกรรม แต่แปลก! เกษตรกรกลับยัง “จนดักดาน” รัฐบาลต้องทุ่มแก้ปัญหาให้คนกลุ่มนี้จริงจังมากกว่านี้ ไม่ใช่มัวแต่เอาใจ “นักลงทุนต่างชาติ”!!

ฟันนี่เอส


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ