7 รายชิง "ไฮสปีดเทรน" 3สนามบิน จ่อเวนคืนพื้นที่เพิ่มสร้างรถไฟฟ้าสีชมพู

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

7 รายชิง "ไฮสปีดเทรน" 3สนามบิน จ่อเวนคืนพื้นที่เพิ่มสร้างรถไฟฟ้าสีชมพู

Date Time: 19 มิ.ย. 2561 09:40 น.

Summary

  • เอกชน 7 ราย แห่ซื้อซองร่วมประมูลชิง “รถไฟความเร็วสูง” เชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท ขณะที่รถไฟฟ้าสีชมพูป่วนไม่เลิก รฟม.เตรียมชงบอร์ดขอเวนคืนพื้นที่เพิ่ม 100 หลังคาเรือน

Latest

ล้อมคอกรถโดยสารสาธารณะยึดมาตรฐาน "UN”

เอกชน 7 ราย แห่ซื้อซองร่วมประมูลชิง “รถไฟความเร็วสูง” เชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท ขณะที่รถไฟฟ้าสีชมพูป่วนไม่เลิก รฟม.เตรียมชงบอร์ดขอเวนคืนพื้นที่เพิ่ม 100 หลังคาเรือน หลังติดปัญหาเข้าใช้พื้นที่ถนนของกรมทางหลวง

นายวรวุฒิ มาลา ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า วานนี้ (18 มิ.ย.61) เป็นวันแรกที่ รฟท.เปิดขายซองประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานอู่ตะเภา มูลค่ากว่า 224,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับรายงานจากคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีซีซี) ว่ามีเอกชนสนใจซื้อซองประกวดราคาทั้งสิ้น 7 ราย ได้แก่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน), บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด, บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน), บริษัทยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด (EnCo), บริษัท อิโตชู คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด

ทั้งนี้ รฟท.จะเปิดขายซองไปจนถึงวันที่ 9 ก.ค.61 เวลา 09.00-12.00 น. และเวลา 13.00-15.00 น. ในราคาชุดละ 1 ล้านบาท และจะเปิดให้ยื่นซองเสนอราคาวันที่ 12 พ.ย.61 เวลา 09.00-15.00 น. โดยผู้ยื่นข้อเสนอต้องยื่นหลักประกันซองพร้อมกับการซื้อซองเอกสารข้อเสนอ มูลค่า 2,000 ล้านบาท และต้องชำระค่าธรรมเนียมการประเมินข้อเสนอให้แก่ รฟท. 2 ล้านบาท โดยกำหนดเปิดซองวันที่ 13 พ.ย.61

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ บริษัทเอกชนที่ประกาศจะซื้อซองประกวดราคาแน่นอน คือ บริษัทบีทีเอส โดยจะร่วมลงทุนในนามกลุ่มกิจการร่วมค้าบีอาร์เอส (BRS) ประกอบด้วย บีทีเอส, บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH นอกจากนี้ ยังมีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยจะจับมือกับกลุ่มบีทีเอสเพื่อเข้าร่วมประมูล หลังจากก่อนหน้านี้ ปตท.ได้เจรจากับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงจับมือกับกลุ่มบีทีเอสแทน ขณะเดียวกัน ซีพีจะจับมือกับจีนเข้าร่วมประมูลด้วย นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเทศสนใจ เช่น จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี เป็นต้น โดยสนใจดำเนินการระบบรถไฟความเร็วสูง และตัวรถมากกว่าร่วมลงทุนก่อสร้าง

ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 46,000 ล้านบาทนั้น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะเจ้าของโครงการ เตรียมเสนอให้บอร์ด รฟม.พิจารณาอนุมัติให้เวนคืนที่ดินเพิ่มเติมอีกประมาณ 100 หลังคาเรือน บริเวณถนนแจ้งวัฒนะและติวานนท์ เพื่อนำไปให้กรมทางหลวง (ทล.) สร้างถนนเพิ่มเติม หลังจากที่ขณะนี้ รฟม.ได้ใช้พื้นของ ทล.ก่อสร้างเสาต่อหม้อรถไฟฟ้า แต่ ทล.ระบุว่า การใช้พื้นที่ดังกล่าว ทำให้ช่องจราจรบนถนนแจ้งวัฒนะและติวานนท์ มีขนาดลดลงต่ำกว่า 3.5 เมตร จนผิดเงื่อนไขคุณสมบัติของถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ จึงต้องขอเวนคืนที่ดินเพิ่ม เพื่อนำไปให้ ทล.สร้างถนน หากบอร์ด รฟม.เห็นชอบจะต้องจัดทำรายละเอียดวงเงิน และพื้นที่ เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อ ของบดำเนินการ แต่หากบอร์ดไม่เห็นชอบ รฟม. ต้องเจรจากับ ทล.ให้ได้ข้อยุติ เพื่อให้ผู้รับเหมาเริ่มงานก่อสร้างได้จริง.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ