ยกเครื่องบริบทประเทศไทย สร้างคนไทยพันธุ์ใหม่ "Disruptor" ชู "นวัตกรรม-ปัญญาประดิษฐ์" ขับเคลื่อน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ยกเครื่องบริบทประเทศไทย สร้างคนไทยพันธุ์ใหม่ "Disruptor" ชู "นวัตกรรม-ปัญญาประดิษฐ์" ขับเคลื่อน

Date Time: 4 มิ.ย. 2561 05:01 น.

Summary

  • ในหมู่คนเจน Y ที่คาดหวังกันว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่ของประเทศที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงบริบททางสังคมที่ดูจะล้าหลังในสายตาของพวกเขาให้ก้าวไปสู่สังคมของโลกใบใหม่ที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมขั้นสูง

Latest

ที่สุดแห่งปี ! เปิด 10 ทำเล ราคาที่ดิน แพงสุด “ชิดลม-เพลินจิต” ทะลุ 3.7 ล้าน/ตร.ว. สงขลา รองแชมป์

ในหมู่คนเจน Y ที่คาดหวังกันว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่ของประเทศที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงบริบททางสังคมที่ดูจะล้าหลังในสายตาของพวกเขาให้ก้าวไปสู่สังคมของโลกใบใหม่ที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมขั้นสูงนั้น

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ดูจะเป็นบุคคลที่ตอบโจทย์ข้างต้นได้ดีที่สุด และถูกต้องที่สุด ทั้งด้วยคุณวุฒิ ตำแหน่ง และประสบการณ์งานที่ทำ

ศ.ดร.สุชัชวีร์ หรือ “พี่เอ้” ของนักศึกษา สจล.ได้ตำแหน่งศาสตราจารย์จาก มหาวิทยาลัยแมสซาชูเสตต์ (MIT : Massachusetts Institute of Technology) มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของโลก เมื่ออายุ 38 ปี เป็นผู้ออกแบบรถไฟใต้ดินสายแรกของประเทศไทยตั้งแต่อายุ 20 ปี ก่อนที่เขาจะไปเรียนต่อที่ MIT เป็นอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และออกแบบก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาที่กำลังจะแล้วเสร็จอีกไม่นานนี้

ขณะเดียวกันก็ดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีสถาบันการศึกษาที่ผลิตวิศวกรที่ดีที่สุดอันดับต้นของประเทศในช่วงอายุ 40 ปีเศษจนถึงปัจจุบัน เขาก็ยังคงเป็นอธิการบดีที่อายุ 45 ปี...น้อยที่สุดในหมู่อธิการบดีมหาวิทยาลัยในประเทศไทยด้วยกัน

ทีมเศรษฐกิจ มีโอกาสพบและสัมภาษณ์ “พี่เอ้” ด้วยเหตุผลเพราะ เขายังคงมีความมุ่งมั่น (Passion) ในการเป็น Game Changer ที่ต้องการสร้างกลยุทธ์เพื่อเป็นผู้คุมเกมในการเปลี่ยนแปลงบริบทของประเทศไทยครั้งใหญ่ ที่จะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว...

เมื่อต้องเอาประเทศใดประเทศหนึ่งในอาเซียนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง แล้วปรับเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็น Disruptors ผู้เปลี่ยนแปลง มิใช่ ผู้ถูกเปลี่ยนแปลง หรือถูกโลกแห่งเทคโนโลยี “บังคับ” ให้ต้องเปลี่ยนแปลงเช่นที่กำลังเป็นอยู่ในทุกวันนี้

ไปฟัง ศ.ดร.สุชัชวีร์ พูดถึงแนวคิด และวิธีการในการเป็น “ผู้เปลี่ยนแปลง” ของเขากันดีกว่า

ผนึก “คาร์เนกี เมลลอน” ต่อยอด

“ศ.ดร.สุชัชวีร์” เริ่มบทสนทนากับเราว่า การจะผลักดันนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ให้ก้าวพ้นประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลางไปสู่รายได้สูงขึ้นได้จริงๆ มีหนทางเดียวที่จะทำได้คือ การพัฒนา “นวัตกรรม” หรือเทคโนโลยีที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ของประเทศไทยมีมูลค่าเพิ่มเพื่อที่จะได้ขายของน้อยชิ้น แต่ได้ราคาแพงขึ้น

“ประเทศไทยยังตามหลังประเทศอื่นอยู่มาก ทางออกคือการหาพี่เลี้ยงที่ดีที่สุดมาช่วย หากเรายังมัวแข่งกับตัวเอง การพัฒนาจะไม่ไปไหน แต่ถ้าเราบอกว่าอยากสู้กับประเทศสิงคโปร์ให้ได้ ยกตัวอย่าง สู้ให้ได้ภายใน 10 ปี ประเทศไทยก็ต้องมีพี่เลี้ยงที่เหนือกว่าสิงคโปร์ให้ได้”

ความคิดนี้ทำให้ สจล. จับมือ “มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน (Carnegie Mellon University : CMU)” ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 2 ของ สหรัฐฯในด้านวิศวกรรมศาสตร์ และยังเป็นแหล่งสร้างสรรค์งานนวัตกรรมระดับโลกมากมาย ตั้งแต่ระบบ Cloud (คลังเก็บข้อมูล) หุ่นยนต์ที่ปฏิบัติการในอวกาศ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ซึ่งทำหน้าที่ช่วยหน่วยสืบสวนคดีอาญาของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ (FBI) ในการค้นหาใบหน้าของผู้ก่อการร้าย เป็นต้น

การจับมือกันกับคาร์เนกี เมลลอน ก็เพื่อจัดตั้งสถาบันร่วมระดับอุดมศึกษาภายใต้ชื่อ “มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University)” ซึ่งจะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งเดียวในอาเซียนที่สร้างนักวิจัยระดับโลก ยกระดับการแข่งขันของประเทศด้านเศรษฐกิจโดยใช้นวัตกรรมเป็นตัวนำ จากเทคโนโลยีของ “คาร์เนกี เมลลอน” และอาจารย์ของสถาบันที่จะเดินทางมาทำวิจัยร่วมกันในประเทศไทย

ที่จริงทางมหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ก็ติดต่อคาร์เนกี เมลลอนไป พร้อมยื่นข้อเสนอที่น่าสนใจเช่นเดียวกับไทยเรา แต่สุดท้ายเขารับข้อเสนอประเทศไทย เพราะเขาบอกว่า เด็กไทยไม่เคยทำให้ผิดหวัง ทั้งเด็กที่ได้ทุนเล่าเรียนหลวง King’s Scholarship และใช้ทุนส่วนตัว ซึ่งจบจากมหาวิทยาลัยนี้แล้วถึง 300 คน ถือว่าเป็นเด็กที่มีคุณภาพมากที่สุด

“ผมภูมิใจมาก เพราะประเทศไม่เคยชนะสิงคโปร์เลย คนของเขาก็ได้ที่หนึ่งทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ แต่สุดท้ายเราสามารถดึงมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน มาสอนที่ประเทศไทยได้ แสดงให้เห็นว่าถ้าตั้งใจสู้แล้ว เราไม่แพ้ใครในโลกจริงๆ”

หลักสูตรสร้างคนไทยพันธุ์ใหม่

สำหรับมหาวิทยาลัย CMKL นี้ ได้เริ่มเปิดรับสมัครนักศึกษานำร่องไปแล้วในปี 2561 โดยเปิดสอนสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ ในระดับปริญญาเอก ระยะเวลา 5 ปี

ส่วนระดับปริญญาโทมีหลักสูตรสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์กับ สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ระยะเวลาเรียน 2 ปี มุ่งเน้นในเรื่องของงานวิจัยเป็นหลัก

ส่วนระดับปริญญาตรี ในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ขณะนี้ได้ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย สร้างหลักสูตรใหม่ในโครงการ “บัณฑิตพันธุ์ใหม่” ซึ่งจะเรียนเกี่ยวกับหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ หลักสูตรภาษาไทย 4 ปี เปิดรับสมัครเด็กพันธุ์ใหม่รุ่นแรกไปแล้ว จะเริ่มสอนในเดือน ส.ค.นี้

ส่วนหลักสูตรนานาชาติกำลังร่างกันอยู่ และเป็นครั้งแรกที่จะมีหลักสูตรหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ในไทย ซึ่งคาดว่าน่าจะเริ่มได้ในปีหน้า

สำหรับหลักสูตรปริญญาโทจะเรียน 1 ปี ที่คาร์เนกี เมลลอน แล้วกลับมาเรียนที่ สจล.

ส่วนปริญญาเอกจะเรียนในไทย 2 ปี โดยหลักสูตรเหมือนกันทุกอย่าง ซึ่งในแต่ละปีมีผู้สมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน หลายหมื่นคน แต่รับได้เพียง 10 กว่าคนเท่านั้น สำหรับปริญญาเอก

แต่ประเทศไทยจะได้โควตาไปเรียนร่วมกับนักศึกษาที่คาร์เนกี เมลลอนโดยตรง

เทรนด์ใหม่...ทำงานร่วมกับหุ่นยนต์

คนที่เรียนหลักสูตร CMKL จะกลับมาทำวิจัยเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมของประเทศไทยว่าจะเดินไปในทิศทางใด และเป็นคนที่จะต่อสู้กับการแข่งขันของโลกได้ โดยอาจารย์จากคาร์เนกี เมลลอน จะเป็นพี่เลี้ยงเพื่อแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมของไทยให้ด้วย

แต่ละปีไทยส่งเด็กไปเรียนเมืองนอกไม่น้อย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เด็กไทยไปทำวิจัยแล้วไปเป็นลูกมือของบริษัทต่างชาติ หรือของอาจารย์ต่างประเทศที่รับใช้บริษัทต่างๆอยู่ แล้วช่วงเวลา 4-5 ปีนั้น ก็หมดไปกับการทำวิจัยให้ต่างชาติ พอกลับมาก็นับศูนย์เริ่มต้นใหม่ ได้ทักษะทำวิจัยเท่านั้น แต่จะเอามาต่อยอดลำบาก

ส่วนโครงการนี้ เราจะไปนำความรู้เขากลับมาจากปริญญาโท 1 ปี ปริญญาเอก 2 ปี แต่สามารถเริ่มต้นทำงานวิจัยในไทยได้ทันที มาแก้โจทย์ให้ประเทศไทยเลย นี่คือข้อแตกต่าง

สำหรับสถาบันอุดมศึกษาไทย ศ.ดร.สุชัชวีร์ยังเชื่อมั่นว่าสู้ได้ แต่จำเป็นต้องปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ โดยเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีวิศวกรรม ถ้าอยู่เฉยๆจะเท่ากับล้าหลังลงไปเรื่อยๆ

“ถ้าเราอยากสร้างคนไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า ก็ต้องพยายามพยากรณ์คนไทยในอีก 10 ปีว่าจะเป็นอย่างไร อีก 10 ปีต่อไปโลกจะไม่มีการเรียนการสอนในสาขาใดสาขาหนึ่ง นักสื่อสารมวลชนจะต้องทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ คนจะต้องเข้าใจเรื่องคลังข้อมูล BIG DATA ปัญญาประดิษฐ์...

หมอจะต้องอ่านฟิล์มเอกซเรย์คู่กับหุ่นยนต์ ศัลยแพทย์ต้องผ่าตัดร่วมกับหุ่นยนต์ วิศวกรจะไม่มีโยธาสร้างตึก สร้างไฟฟ้าอย่างเดียวอีกแล้ว”

ทุกอาชีพจะรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ไม่เช่นนั้นจะแข่งขันไม่ได้เลย นี่คือจุดตายของประเทศไทย

สถานการณ์ประเทศไทยในด้านการศึกษาเทคโนโลยีขณะนี้มีลักษณะเหมือน “กบต้ม” คือ เอากบมาใส่หม้อต้ม พอน้ำเริ่มร้อนขึ้นจนถึงจุดกบก็จะหงายท้องตาย

สจล.เปิดหลักสูตรไบโอ “แพทย์–วิศวะ”

นอกเหนือจากระบบการศึกษาไทยแล้ว ระบบสาธารณสุขไทยก็ถือเป็นระเบิดเวลาอีกลูกหนึ่ง เพราะอุปกรณ์ทางการแพทย์ทุกอย่าง ตั้งแต่เตียง รถเข็น เครื่องเอกซเรย์ เข็มฉีดยา ยกเว้นถุงมือยาง นำเข้าจากต่างประเทศหมด ในขณะที่คนไทยอายุยืนขึ้น คนเกิดน้อยลง แต่งบประมาณส่วนใหญ่ไปอยู่ที่การนำเข้าสินค้าเทคโนโลยีเหล่านี้

เพราะฉะนั้น จึงต้องคิดหลักสูตรใหม่ขึ้นมา แล้วเปิดคณะแพทยศาสตร์ของ สจล. เพื่อสร้างแพทย์และวิศวกรให้อยู่ในคนคนเดียวกัน

“เราจะสร้างแพทย์ที่เป็นที่พึ่งของคนไทย หรือแพทย์นวัตกร แพทย์นักวิจัย สร้างองค์ความรู้ ให้เราพึ่งพาตัวเองได้ และลดการนำเข้าลง นี่คือสิ่งที่แตกต่าง”

สำหรับคณะนี้จะเป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี เรียนแบบนานาชาติใช้เวลาเรียน 6 ปี นักเรียนแพทย์เมื่อเข้ามาจะเรียนแพทย์ควบคู่กับวิศวะเพื่อรักษาคน มีการทำวิจัยอย่างเข้มข้น โดยมีอาจารย์ของคณะวิศวกรรมมาสอนพื้นฐาน และแพทย์ต้องเรียนทางด้านเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ โดยมีบุคลากรระดับปริญญาเอกหรือ Professer ที่มีความพร้อมจะถ่ายทอดองค์ความรู้มากกว่า 30 คนเข้ามาสอน

“ผมต้องขอบคุณแพทยสภาที่ให้การสนับสนุนมาตลอด ขณะนี้มหาวิทยาลัยอื่นๆ เริ่มเห็นด้วยกับแนวทางนี้แล้ว ว่านี่คือเทรนด์ของแพทย์ยุคใหม่ ไม่เช่นนั้นแพทย์จะถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์ ดังนั้น แพทย์ในปัจจุบันต้องถูกสอนให้ทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ได้ และต้องเข้าใจเทคโนโลยี 100% จึงจะสามารถเอาชนะหุ่นยนต์ที่ไม่มีวันเหนื่อยได้ด้วย”

ทำ “แก้มลิงใต้ดิน” แก้ปัญหา “น้ำท่วม”

สจล.ยังได้ตั้ง “สถาบันวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ” ที่ชื่อว่า Smart City Innovative Research Academy (SCIRA) ขึ้น เพื่อบูรณาการนวัตกรรมทุกด้าน ทั้งทางด้านคอมพิวเตอร์ คมนาคม และน้ำ ไว้ด้วยกัน ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง โดยขณะนี้เราโฟกัสเรื่องน้ำท่วม ซึ่งเป็นปัญหาที่คนกรุงเทพฯคิดว่าไม่สามารถแก้ไขได้

แต่ผมการันตีว่าความสามารถด้านวิศวกรรม สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ในแบบเบ็ดเสร็จ

เทคโนโลยีที่จะนำมาแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ก็คือการสร้าง “แก้มลิงใต้ดิน” ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั่นเอง

เพราะโครงสร้างกรุงเทพฯ คือ แอ่งกระทะ ถนนต่ำกว่าแม่น้ำเจ้าพระยา ซอยต่ำกว่าถนน โดยเฉพาะแถวรามคำแหงต่ำกว่าแม่น้ำเจ้าพระยา 2.50 เมตร เมื่อฝนตกลงมาน้ำระบายไม่ได้ เพราะท่อระบายน้ำอยู่สูงกว่าซอย สูงกว่าถนน และเป็นเช่นนี้เกือบทุกแห่ง ทั้งถนนอโศก สุขุมวิท พระราม 4

ดังนั้นสิ่งที่จะแก้ปัญหาได้ คือการทำแก้มลิงไว้ใต้ดิน

“เมื่อฝนตกลงมาซอยในอโศก สุขุมวิท พระราม 4 เราจะทำบ่อพักน้ำเพื่อยิงตรงเข้ามา โดยเราเสนอให้ใช้บึงเก็บน้ำของโรงงานยาสูบเป็นพื้นที่รับน้ำ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขังโซนสุขุมวิท อโศก พระราม 4 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ก็มีการสร้างแก้มลิงเก็บกักน้ำไว้ใต้ดิน และสามารถเก็บน้ำได้มากถึง 350,000 ลูกบาศก์เมตร...

ที่เก็บน้ำของโรงงานยาสูบ ผมกำลังคำนวณพื้นที่อยู่ว่า ถ้าทำแก้มลิงใต้ดินโดยใช้หลักการและเทคโนโลยีเดียวกับการสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน แต่ใช้งบลงทุนที่น้อยกว่าหลายเท่า เพราะใช้ประโยชน์แค่เก็บรับน้ำ ไม่ได้ให้เป็นที่ไว้รองรับคนเหมือนสถานีรถไฟฟ้าเพียง 40,000 ลูกบาศก์เมตร ก็สามารถรับมือกับปัญหาได้แล้ว”

เสนอทำแก้มลิงใต้ดินที่สวนจตุจักร

อีกพื้นที่ที่อยากให้พัฒนาเป็นแก้มลิงใต้ดิน คือ ใต้บริเวณพื้นที่ของสวนจตุจักรเพื่อแก้ไขน้ำท่วมขังในเขตจตุจักร ลาดพร้าว วิภาวดี บางซื่อ พหลโยธิน โดยใช้วิธีเปิดหน้าดินเป็นช่องเล็กๆ แล้วก็ใช้เครื่องไปเจาะคว้านดินด้านใน วิธีการนี้ยังไม่มีปัญหาเรื่องของการเวนคืนที่ดินอีกด้วย

เทียบกับการบริหารจัดการน้ำของ กทม.ในเวลานี้ ซึ่งสำนักการระบายน้ำใช้เงินมากถึงปีละประมาณ 10,000 ล้านบาทแล้ว คุ้มกว่าเยอะ

รูปแบบที่นำเสนอนี้ เป็นการแก้ไขในแบบเบ็ดเสร็จ ภายใต้โครงสร้างที่มีแผ่นคอนกรีตรับแรง ส่วนด้านบนก็ยังเป็นบึง หรือสระเก็บน้ำเหมือนปกติทั่วไป ซึ่งที่ญี่ปุ่นด้านบนเขาทำเป็นสนามกีฬา แต่ที่เราคิดเป็นแบบครบวงจร ซึ่งก็มีในส่วนของตรอกซอยต่างๆที่อาจมีน้ำท่วมให้เห็นเป็นประจำ ก็สามารถทำแบบแก้มลิงใต้ดินได้เช่นกัน

เพราะซอยส่วนใหญ่อยู่ต่ำกว่าท่อระบายน้ำ ก็ทำเป็นแก้มลิงซอยเป็นระบบบ่อแบบปิด ซึ่งถนนในแต่ละซอยตามกฎหมายก็ต้องกำหนดให้มีพื้นที่อย่างน้อย 6 เมตร บวกกับพื้นที่ฟุตปาท คือ กว้าง 4 เมตร ยาว 6 เมตร ลึก 8 เมตร ก็สามารถแก้ไขที่น้ำท่วมใน ซอยได้ น้ำไหลจากถนนใหญ่มาก็จะไหลเข้าแก้มลิงในซอยก่อนไม่ได้ไหลไปท่วมซอยทันที

หากเป็นซอยที่ยาวอย่าง โชคชัย 4 ก็อาจสร้างแก้มลิงใต้ดินหลายจุดได้ เพียงปิดถนนฝั่งเดียว และใช้เวลาก่อสร้างไม่นานก็จะเปิดให้รถวิ่งได้เหมือนเดิม

เรายังคิดซับซ้อนกว่านั้น คือช่วงเดือน มี.ค.–ต.ค. น้ำประปาจะมีรสชาติกร่อย เพราะน้ำทะเลหนุนเข้ามามาก ทำให้น้ำประปามีปัญหา เราจะใช้แก้มลิงที่เก็บไว้ใต้ดินมาใช้ทำน้ำประปาด้วยก็ได้ เป็นการทำครั้งเดียวได้ใช้ประโยชน์ถึง 2 ต่อ

ลุกขึ้นสู้กับแอปพลิเคชันต่างชาติ

สำหรับเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ที่จะมาช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไทยนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมากเมื่อ 20 ปี ขณะที่ผมเรียน MIT ผมทำวิจัยเรื่องปัญญาประดิษฐ์เป็นคนแรกของโลกในเรื่องการก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน

วันนี้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตเรามาก รู้จักตัวเราเองมากกว่าคนในครอบครัว หรือถึงขั้นรู้จักตัวเราเองมากกว่าตัวเราเองด้วยซ้ำ ซึ่งบางทีของที่ส่งมา เราคิดว่าเราไม่ชอบ แต่พอส่งมาเราเกิดความรู้สึกชอบและอยากได้ ซึ่งผมเป็นคนที่ไม่เคยคิดว่าจะซื้อของออนไลน์ในประเทศไทยเลย แต่ทุกวันนี้สั่งซื้อเป็นประจำ เพราะปัญญาประดิษฐ์จับทางเราถูกว่าเราชอบอะไร จึงนำเสนอสิ่งเหล่านั้นให้ตลอด

แต่ที่น่ากลัวกว่าคือ คนไทยส่วนใหญ่จะชินกับการเป็นผู้ซื้อมาใช้อย่างเดียว วันนี้การยึดครองประเทศไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธแล้ว แต่เป็นการใช้เทคโนโลยีความทันสมัยเข้ามายึดครองตลาดถึงตัวเลย

ประเทศและคนไทยวันนี้ จะต้องให้ความสำคัญในการสร้างคน และบุคลากรที่มีความสามารถด้านปัญญาประดิษฐ์เข้ามาสู้กับต่างชาติให้ได้ อย่างที่เรามีการผนึกกำลังกับมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่จะนำมาช่วยเสริมการต่อสู้ได้

ดูตัวอย่างจากประเทศจีนที่มีการทำแบบคู่ขนานก็ได้ เมื่อเขาไม่ให้ Facebook เข้าประเทศ เขาก็พัฒนาแอปพลิเคชันให้เป็น WECHAT ของตัวเอง และพัฒนามาจนทุกวันนี้ คนจีนสามารถใช้จ่ายเงินได้อย่างสะดวกสบาย ไม่ต้องพกเงินสดติดตัว แต่ของประเทศไทย เรากลับปล่อยไปเลย

สิ่งสำคัญคือ เราจะลุกขึ้นมาสู้หรือไม่ หรือจะปล่อยไหลไปเช่นนี้?!

แม้การต่อสู้จะยังไม่รู้ว่าอนาคตจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม แต่ระหว่างทางที่สู้มันจะเกิดการพัฒนาคนไปด้วยกัน และคนพวกนี้จะออกไปพัฒนาความสามารถตนด้านต่างๆ ทั้งในวงการแพทย์ วิศวกร การศึกษา พลังงาน เป็นต้น

“เหมือนตอนอเมริกาบอกจะไปเหยียบดวงจันทร์ ผลปรากฏระหว่างทางที่คิดค้นจะไปดวงจันทร์ ก็ได้ระบบเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยและดีที่สุด มาได้เสื้อที่ทนไฟใช้ในวงการแข่งขันรถยนต์ ได้อาหารที่มีขนาดเล็ก แต่ให้แคลอรีสูงเพื่อนำไปช่วยคนป่วยโรคเบาหวาน หรือลดความอ้วนได้”

หนุนรัฐสร้างปัญญาประดิษฐ์

แม้ในประเทศไทยจะยังไม่เกิด แต่ก็ยังไม่สายที่จะรีบลงมือทำ แต่จะให้มหาวิทยาลัยทำอย่างเดียว คงไม่สำเร็จ เพราะเรามีภารกิจมากมาย ทั้งต้องสอนบ่มเพาะคนให้ออกมาเป็นคนที่ดีและมีความรู้ ก็เหนื่อยแล้ว โดย เฉพาะอาจารย์ในประเทศไทย มีการสอนมากกว่าอาจารย์ในต่างประเทศหลายเท่า

เช่นเดียวกัน หากจะคิดทำงานวิจัยแข่งกับ Google Line Facebook ก็ควรเปิดให้มีการวิจัยที่มีศักยภาพจริงๆ เพราะต้องใช้การสนับสนุนที่มากมาย ทั้งงบประมาณ ที่สำคัญต้องมีพี่เลี้ยงที่ชำนาญด้วยจะยิ่งเป็นผลดี

จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องเข้ามาจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง อาจจะต้องหาคนรับผิดชอบเหมือนเป็น Project Manager เพื่อคอยควบคุมดูแล

ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เขียน จดหมายเปิดผนึกไปถึง แฟรงคลิน ดีรูสเวลต์ ประธานาธิบดี คนที่ 32 ของอเมริกา ว่า อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ จะทำ ระเบิดขีปนาวุธที่มีกำลังทำลายล้างสูง หากสำเร็จเมื่อไร สัมพันธมิตรจะแพ้สงครามทันที

รัฐบาลอเมริกาตัดสินใจตั้งทีมเฉพาะกิจเรื่องนี้ขึ้นมาทันที โดยมีนักวิทยาศาสตร์อายุเพียง 38 ปี ชื่อ ดร.เจ.โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ และรวบรวมนักวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ 6,000 คน กับคนงานอีก 130,000 คน มาช่วยกันทำโครงการแมนฮัตตัน เพื่อสร้างระเบิดปรมาณูจนสำเร็จภายใน 3 ปี โดยไม่เคยทำมาก่อน

ปัญญาประดิษฐ์สร้างขีดความสามารถ

ผมอยู่ในแวดวงการศึกษา รับรู้ดีว่ามีอาจารย์หลายท่านอึดอัด และอยากจะทำให้ประเทศมีศักยภาพในการแข่งขันได้ เพราะเชื่อว่าคนไทยเก่งและมีความสามารถ ทั้งยังมีพลังที่จะทำได้ไม่แพ้ ใครในโลก แต่ไม่ค่อยชอบออกมาสู้ด้วยกัน สิ่งสำคัญอยู่ที่การจัดการ และความมุ่งมั่นมากกว่า และผมก็พยายามเสนอให้ภาครัฐรับรู้อยู่ตลอดเวลา

ในการวิจัยที่จะทำให้ปัญญาประดิษฐ์มีประสิทธิภาพ อาจ ต้องใช้เงินลงทุนที่สูง โดยเฉพาะกับคน แต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้น คุ้มค่า โดยเฉพาะการได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลในทุกด้าน ตั้งแต่การจับจ่ายใช้สอย จนถึงความสามารถในการซื้อ รายได้ อายุ การศึกษา เป็นต้น

ปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์สามารถคาดเดาความน่าจะเป็นได้เอง เพราะมันสามารถหาข้อมูลจากทั่วทุกมุมโลกมาปะติดปะต่อกันได้ มันรู้พฤติกรรมการใช้เงินของเรา รู้จักการเดินทางไปไหนต่อไหนของเรา ก็ปะติดปะต่อได้หมด แต่จะต้องใช้คนมาช่วยวิเคราะห์เรื่องราวสอนให้

สิ่งเหล่านี้อาจแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนที่ถูกมองข้าม หรือถูกละเลยได้ เพราะรัฐจะเลือกข้อมูลที่เป็นความต้องการเฉพาะให้เด็กแต่ละคนได้ และเข้าถึงพื้นที่ต่างๆที่เด็กเหล่านั้น
อยู่ได้

สิ่งนี้เท่ากับช่วยพัฒนาเด็กไทยมากกว่า 10 ล้านคน ไม่ให้ ถูกทอดทิ้ง หรือละเลยได้

ถ้ารัฐบาลพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ขึ้น ประเทศไทยเราจะไม่มีเด็กสักคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ