รัฐสกัดนายทุนฮุบที่ดิน รื้อกฎหมายขายฝากเอาใจชาวบ้าน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

รัฐสกัดนายทุนฮุบที่ดิน รื้อกฎหมายขายฝากเอาใจชาวบ้าน

Date Time: 1 พ.ค. 2561 05:01 น.

Summary

  • รัฐบาลเอาจริง!! ยกเครื่อง พ.ร.บ.ขายฝาก สกัดนายทุนฮุบที่ดินชาวบ้าน หลังพยายามแก้ไขมา 50 ปี แต่ไม่สำเร็จ

Latest

ลุยต่อ กำจัดนอมินี-สินค้าห่วย เดินหน้าแผนระยะกลาง-ยาวหวังให้สิ้นซาก

รัฐบาลเอาจริง!! ยกเครื่อง พ.ร.บ.ขายฝาก สกัดนายทุนฮุบที่ดินชาวบ้าน หลังพยายามแก้ไขมา 50 ปี แต่ไม่สำเร็จ พร้อมเปิดทางให้ปลูกไม้มีค่าในที่ดินของตนไว้ตัดขายเป็นทุนการศึกษาลูก ทุนแต่งงาน ไม่ต้องถูกไล่จับ และร่าง พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล ยกมาตรฐานบริการประชาชนสู่ยุค 4.0

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (กขร.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบการเร่งรัดกฎหมาย 3 ฉบับ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน โดยจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายใน 1-2 เดือนนี้ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการปลูกไม้มีค่าในที่ดินกรรมสิทธิ์ และร่าง พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล

ทั้งนี้ การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินนั้น เนื่องจากที่ผ่านมานายทุนได้อาศัยกฎหมายขายฝากเป็นช่องทางครอบครองที่ดินจากประชาชน เมื่อทำสัญญาขายฝากแล้ว เกิดปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง เกิดอุบัติเหตุ ครอบครัวไม่สามารถนำเงินมาคืนได้ เพราะที่ดินจะตกเป็นของนายทุน บางคนเมื่อครบกำหนดไถ่ถอน ก็เดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ เกิดการผิดนัดไถ่ถอน ทำให้ต้องสูญเสียที่ดิน และนำไปสู่ปัญหาบุกรุกป่า ปัญหาคนจนในเมืองกว่า 9 ล้านคน ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะแก้ไขกฎหมายนี้มา 50 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2516 แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมจากการขายฝากจึงจะมีการปรับปรุงแก้ไข กำหนดให้การขายฝากที่ดินการเกษตรหรือที่อยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ได้รับการคุ้มครองสัญญาตามกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภค การทำสัญญาขายฝากต้องทำเป็นหนังสือที่ได้รับการตรวจสอบสัญญาโดยนิติกร หรือพนักงานที่ดินก่อนนำไปจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดินเพื่อให้มีสัญญามาตรฐาน ขณะที่เรื่องการเพิ่มเติมสัญญาก็ต้องได้รับการตรวจสอบจากนิติกรและเจ้าหน้าที่ที่ดินก่อนเช่นกันหากมีข้อตกลงให้ผู้ขายฝากสละสิทธิ์การไถ่ถอนให้ถือว่าข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ

นอกจากนี้ ยังแก้ไขระยะเวลาไถ่ถอนอย่างต่ำต้อง 1 ปีหรือ 1 ปี 6 เดือน เนื่องจากสัญญาขายฝาก ในปัจจุบันมีการทำสัญญาขายฝากระยะเวลา 3 เดือน เพราะตั้งใจที่จะให้ประชาชนทำสัญญารอบใหม่โดยคิดค่าทำสัญญาครั้งละ 40,000-50,000 บาททำให้มีโอกาสที่ที่ดินจะหลุดมือสูง ส่วนกรณีที่ผู้ขายฝากมีความต้องการไถ่ถอนสินทรัพย์ แต่ นายทุนไม่อยู่ในอดีตต้องไปแจ้งเป็นหลักฐานที่สำนักงานวางทรัพย์ซึ่งอยู่ในตัวจังหวัด จะแก้ไขให้ใช้ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ได้ เพื่อไม่ให้ประชาชนถูกเอาเปรียบได้อีก

ส่วนการแก้ไขกฎหมายปลูกไม้มีค่าในที่ดินกรรมสิทธิ์นั้น ที่ผ่านมาประชาชนปลูกไม้มีค่าในพื้นที่ของตนเอง เช่น ไม้พะยูง ไม้สัก ไม้ชิงชัน แต่ไม่สามารถตัดได้ ทั้งที่ตั้งใจจะปลูกต้นไม้ไว้เป็นธนาคารต้นไม้ เพื่อตัดขายเป็นทุนการศึกษา หรือเป็นทุนแต่งงาน รวมทั้งมีเงินใช้ยามเกษียณ ซึ่งจะแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ป่าไม้ปี 2484 ว่าจะให้มีไม้กี่ชนิดประเภทที่ทำได้โดยกรมป่าไม้จะไปหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัลนั้นจะเป็นการปฏิรูปการบริหารจัดการของรัฐบาลครั้งสำคัญในยุคดิจิทัล โดยรัฐบาลจะดำเนินการลดภาระของประชาชน ทั้งเรื่องการขอเอกสาร การยื่นใบอนุญาตต่างๆ การประเมินผล และการใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆติดต่อกับทางราชการ เพื่อให้เข้าสู่ยุค 4.0.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ