“ประวิทย์” แจงไม่ทิ้งช่อง 3 ลูกขายหุ้นเกลี้ยงแต่ยังทุ่มเททำงาน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“ประวิทย์” แจงไม่ทิ้งช่อง 3 ลูกขายหุ้นเกลี้ยงแต่ยังทุ่มเททำงาน

Date Time: 30 เม.ย. 2561 08:50 น.

Summary

  • “ประวิทย์ มาลีนนท์” เผยลูกทั้ง 4 ขายหุ้นบีอีซีเวิลด์เกลี้ยง ไม่ได้หมายความว่าจะทอดทิ้งช่อง 3 ยังทุ่มเททำงาน เป็นพนักงานเหมือนเดิม แค่ไม่ได้รับเงินปันผล

Latest

ก้าวสู่แสนล้าน! ทุนจีนบุกไทย ตั้งฐานผลิต “รถยนต์ EV” แบรนด์ไหนบ้าง? เดินสายการผลิตแล้ว

“ประวิทย์ มาลีนนท์” เผยลูกทั้ง 4 ขายหุ้นบีอีซีเวิลด์เกลี้ยง ไม่ได้หมายความว่าจะทอดทิ้งช่อง 3 ยังทุ่มเททำงาน เป็นพนักงานเหมือนเดิม แค่ไม่ได้รับเงินปันผล วิเคราะห์ทีวีดิจิทัลหลังออกอากาศครบ 4 ปี มีสัญญาณที่ดีขึ้น ประเมินเหลือ 12 ช่อง ส่วนกระแสฮิตละครบุพเพสันนิวาสนั้น ถือเป็นสิ่งที่สวรรค์ให้มา

นายประวิทย์ มาลีนนท์ กรรมการบริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ในเครือบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3 เปิดเผยว่า การที่ลูกทั้ง 4 คน ได้ขายหุ้นบริษัท บีอีซี เวิลด์ ออกไปทั้งหมด ไม่ได้หมายความว่าจะทิ้งช่อง 3 ไปไหน ขณะนี้ยังทำงานอยู่ทุกวันและทำมากขึ้นด้วยซ้ำ

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุว่า นายประวิทย์ได้ขายหุ้นบีอีซี เวิลด์ (BEC) ที่ถืออยู่ทั้งหมดให้กับลูกทั้ง 4 คน อันได้แก่ นายวรวรรธน์ นางสาววัลลิภา นางสาวอรอุมา และนายชฎิล มาลีนนท์ ในราคาหุ้นละ 32 บาท รวมจำนวนทั้งสิ้น 117,575,000 หุ้น หรือคิดเป็น 5.88% ระหว่างวันที่ 14-15 ธ.ค.2558 อันทำให้นายประวิทย์ค่อยๆลดบทบาทบริหารของตัวเองลง นำไปสู่การเข้ามาแทนที่ของนายประสาร มาลีนนท์ พี่ชายคนโต ซึ่งภายหลังเสียชีวิต ตามมาด้วยนายประชุม มาลีนนท์ น้องชายคนสุดท้อง ซึ่งเข้าดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบีอีซี เวิลด์ ตั้งแต่เดือน มี.ค.2560 จนปัจจุบัน

ต่อมาเมื่อวันที่ 27 ก.พ.2561 ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ฯระบุ นาย วรวรรธน์ ในฐานะกรรมการบีอีซี เวิลด์ ได้ขายหุ้นบีอีซี เวิลด์ จำนวน 29.393 ล้านหุ้น หรือ 1.47% นำไปสู่การตรวจสอบพบว่า ไม่เหลือรายชื่อบุตรทั้ง 4 ของนายประวิทย์ถือหุ้น บีอีซี เวิลด์ อีกต่อไป โดยในกรณีของนายวรวรรธน์นั้น ที่ต้องแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯเนื่องจากดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท
“การขายหุ้นไม่ได้หมายความว่าผมจะทิ้ง ช่อง 3 ผมยังนั่งทำงานในฐานะพนักงาน ยังทุ่มเทเหมือนเดิม แค่ผมไม่ได้เงินปันผลเท่านั้น เช่นเดียวกัน ลูกๆก็ยังอยู่ในฐานะพนักงานทั้งหมด ขณะที่อ๋อง (นายวรวรรธน์) ซึ่งขายหุ้นออกไปเป็นคนสุดท้าย ก็ยังนั่งเป็นบอร์ดบีอีซี เวิลด์ อยู่เช่นเดิม”

นายประวิทย์ยังกล่าวถึงทิศทางของช่องทีวีดิจิทัลหลังออกอากาศมาครบ 4 ปีเต็มในเดือน เม.ย.นี้ ว่า ทุกช่องได้รับบทเรียนเพียงพอที่จะปรับตัวไปในทิศทางที่ควรจะเป็น หลายช่องลืมตาอ้าปากได้และรู้แล้วว่าไม่ควรขายของดีในราคาถูก แต่ที่พูดถึงนี้ จำกัดเฉพาะช่องที่แข็งแรงเท่านั้น “ส่วนช่องที่อ่อนแอ ต้องบอกว่าตอนนี้เลือดหมดตัวแล้ว ก็ควรหาทางให้ได้ออกไปอย่างสง่างามอย่าให้ถึงกับต้องหมดเนื้อหมดตัว ไม่เช่นนั้นจะเหมือนเอาศพขึ้นมาโบย”

นายประวิทย์ กล่าวว่า อยากเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการทุกช่อง เพราะทราบว่าหลายช่องหมดกำลังใจ จริงๆการทำทีวีไม่จำเป็นต้องสำเร็จในทุกรายการ ไม่จำเป็นต้องมีเรตติ้งดีทุกชั่วโมง แต่ต้องหารายการที่ทำเรตติ้งได้ดีมากๆ สักวันละ 1 ชั่วโมง ก็มีโอกาสรอดแล้ว

โดยหลังออกอากาศมาครบ 4 ปี ขณะนี้พอ มองออกแล้วว่าจะมี 6 ช่องแรกที่พอทำกำไรได้ ถือเป็นบัวพ้นน้ำ ส่วนอีก 6 ช่องถัดมา น่าจะรอดพ้นจากคำว่าขาดทุน ถือเป็นบัวปริ่มน้ำ โดยสรุปน่าจะมีอยู่ 12 ช่อง ที่จะอยู่แข่งขันกันต่อไป ส่วนช่อง ที่น่าเป็นห่วงที่เหลือ ส่วนใหญ่น่าจะเป็นช่องข่าว

“ผมมองว่าที่สุดการมาของทีวีดิจิทัลก็ไม่ได้ ทำให้ภูมิทัศน์ (Landscape) ของธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปนัก การแข่งขันแม้จะรุนแรงขึ้น แต่ยังคงอยู่ใน กลุ่มเดิมๆที่มีความเชี่ยวชาญ และขณะนี้ผมเริ่มเห็นสัญญาณที่ดี ยกตัวอย่าง ช่องเวิร์คพอยท์ ซึ่งเป็นช่องใหม่ทำเรตติ้งรายการ The Mask Singer ได้ถึง 8, ช่อง One ซึ่งทำเรตติ้งละครหลังข่าวได้ดีขึ้นเรื่อยๆ, ช่อง RS ที่สามารถทำเรตติ้งช่วง 19.00-21.00 น. ได้ในระดับ 3-4 ตลอดจนช่องไทยรัฐทีวี ที่เคยกระชากเรตติ้งถ่ายทอดสดฟุตบอลช้างศึกได้ถึง 12 สูงกว่าถ่ายทอดสดบอลโลกนัดสุดท้ายด้วยซ้ำ”

กุญแจสำคัญของธุรกิจจากนี้มีอยู่ 2 ปัจจัยคือ 1.การสร้างคนดู แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า เขาจะไม่อยู่กับเราตลอด จึงต้องสร้างตลอดเวลา หยุดไม่ได้ 2.การสร้างราคา ต้องไม่ขายของดีในราคาถูก หลายช่องทำเรตติ้งได้ แต่ยังสร้างราคาไม่ได้ ก็ต้องตีโจทย์ให้แตก

นายประวิทย์ยังกล่าวถึงปรากฏการณ์จากความฮิตของละครบุพเพสันนิวาส ว่า ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน เหมือนสวรรค์ให้มา บุพเพสันนิวาสยังพิสูจน์ให้เห็นว่า คอนเทนต์ที่ดีอย่างไรก็มีคนดู แถมมีคนช่วยโปรโมตให้ ซึ่งครึ่งหนึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับเทคโนโลยีอย่างมือถือและโซเชียลมีเดีย “กรณีของบุพเพสันนิวาส ทำให้ผมเห็นว่าโซเชียลมีเดีย หรือออนไลน์ไม่ได้มาฆ่าทีวี แต่มาช่วยสนับสนุนกัน ทีวีอย่างไรก็ถูกทดแทนไม่ได้ แต่ต้องทำรายการให้ดี ไม่ว่า 4 จี หรือ 5 จีจะมา ก็ไม่ต้องกลัว”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ