โครงการรถไฟฟ้าใยแมงมุมในเมืองหลวง จัดเป็นอภิมหาโปรเจกต์ของชาวกรุงเทพฯและปริมณฑลที่รอคอยมานานแสนนาน กว่าบุพเพสันนิวาสดวงชะตามาบรรจบให้โครงการก่อสร้างเกิด และผุดเป็นดอกเห็ด เห็นเป็นเรื่องเป็นราว เดินเครื่องก่อสร้างกันอย่างจริงจัง ก็เพิ่งจะมาเกิดในยุคสมัยที่มี ฯพณฯ นายกฯบิ๊กตู่ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งหลายๆคนที่มีรถไฟฟ้าผ่านหน้าบ้าน หรือผ่านที่ทำงาน ก็กำลังสัมผัสได้กับความหวังรางๆ ที่มาพร้อมกับปัญหารถติดวินาศสันตะโร
ถนนสายสำคัญอย่างถนนแจ้งวัฒนะ ถนนลาดพร้าว ถนนรามอินทรา ถนนรามคำแหง ถนนพหลโยธิน ที่กำลังปิดช่องทางจราจรเพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าขณะนี้ ได้ซ้ำเติมจากเดิมติดเป็นอัมพฤกษ์กันอยู่แล้ว ให้กลายเป็นอัมพาตไปทั้งสาย อย่างไรก็ตาม หน้าเศรษฐกิจไทยรัฐ เลยอาสาขอพาไปสำรวจอัพเดตการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ รวมถึงอีกหลายสายที่ยังไม่เริ่มตอกเสาเข็ม ว่าคืบหน้ากันไปมากน้อยเพียงใด
มาเริ่มกันที่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ เป็นโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าใต้ดินที่เดิมสิ้นสุดที่บางซื่อและหัวลำโพง ให้วิ่งผ่าเมืองเชื่อม 2 ฝั่งพระนครและกรุงธนบุรีเข้าด้วยกัน โดยมีทั้งในส่วนเส้นทางลอยฟ้า ใต้ดิน และอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 27 กม. รวม 21 สถานี ซึ่งการก่อสร้างเส้นทางนี้มีความยืดเยื้อที่สุดสายหนึ่ง เพราะเริ่มกันตั้งแต่ปี 2554 หรือเมื่อ 7 ปีที่แล้ว แถมระหว่างทางก็ประสบปัญหามากมาย ทั้งการเกิดมหาอุทกภัยใหญ่ในปี 54 จนทำให้การก่อสร้างต้องหยุดชะงัก
อีกทั้งโครงการยังต้องใช้เทคนิคการก่อสร้างชั้นสูงทำอุโมงค์ลอดผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาจึงใช้เวลาเยอะ อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ความฝันของคนทั้ง 2 ฝั่งก็ใกล้เป็นจริงแล้ว เมื่องานการก่อสร้างงานโยธาเสร็จไป 98.09% ขณะที่งานระบบรถไฟฟ้าและงานเดินรถ มีความคืบหน้า 36% ซึ่งภายในปีหน้า 2562 จะเปิดใช้ช่วงหัวลำโพง-บางแคได้ก่อน จากนั้นในปีถัดไป 2563 ก็จะเริ่มเปิดช่วงบางซื่อ-ท่าพระได้
โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เป็นโครงการหนึ่งที่สร้างความสาหัสทางจราจรให้กับพี่น้องฝั่งทางเหนือของเมืองหลวง เพราะนอกจากรถจะติดถนนพหลโยธินจากจตุจักรยาวไปถึงสายไหมแล้ว ยังกระทบไปถึงถนนวิภาวดีรังสิตอีกด้วย ซึ่งโครงการมีทั้งสิ้น 16 สถานี เริ่มก่อสร้างกันตั้งแต่ปี 2558 ตามแนวเส้นทางจากรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีหมอชิต ผ่านห้าแยกลาดพร้าว มุ่งสู่แยกรัชโยธิน ไปตามถนนพหลโยธิน ไปสิ้นสุดที่คูคต ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างราบรื่นดี งานโยธาคืบหน้ากว่า 60.86% คาดจะสร้างเสร็จปี 2562 แต่กว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้จริงก็ต้องรอปี 2563 โน่น
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรม แห่งประเทศไทย-มีนบุรี โครงการเริ่มก่อสร้างไปตั้งแต่เดือน พ.ค.2560 ปัจจุบันการก่อสร้างงานโยธาคืบกว่า 7.72% ซึ่งถือว่าหนทางยังอีกยาวไกล โดยเส้นทางก่อสร้างมีทั้งใต้ดินและลอยฟ้า ประกอบด้วย 17 สถานี แนวเส้นทางเริ่มก่อสร้างแบบใต้ดินจากสถานีศูนย์วัฒนธรรมเป็นแบบรถใต้ดิน ก่อนเข้าสู่ถนนพระราม 9 ไปถนนรามคำแหง ก่อนถึงจุดตัดถนนศรีบูรพา เพื่อยกระดับลอยฟ้าไปตามแนวเกาะกลางสิ้นสุดถนนสุวินทวงศ์ ดังนั้นการที่สร้างทั้งใต้ดินและบนฟ้าทำให้ระยะเวลาการก่อสร้างจะกินเวลานาน พี่น้องย่านถนนรามคำแหง พระรามเก้า และเส้นทางใกล้เคียง คงต้องจำใจรับสภาพปัญหารถติดไปไม่ต่ำกว่า 5 ปี เพราะตามแผนสายสีส้มนี้จะเปิดให้บริการได้ก็ปี 2566
โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เพิ่งเริ่มลงมือเข้า พื้นที่ก่อสร้างสดๆร้อนๆ เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ มีระยะทาง 36 กม. จำนวน 30 สถานี โดยจะสร้างเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว โมโนเรล หรือเป็นทางรถไฟฟ้าขนาดเล็กกว่าทางปกติที่เป็นทางคู่ ทำให้ระยะเวลาก่อสร้างใช้ไม่นานนักเพียงแค่ 3-4 ปีเท่านั้น ซึ่งเส้นทางเริ่มต้นจากหน้าศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี วิ่งเข้า ถ.ติวานนท์ ผ่านถนนแจ้งวัฒนะ พุ่งตรงสู่ถนนรามอินทรา จนถึงแยกมีนบุรี สิ้นสุดที่แยกร่มเกล้า อย่างไรก็ดี ปัจจุบันโครงการเพิ่งเริ่มตั้งไข่ อยู่ ระหว่างดำเนินการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคเพื่อเตรียมการก่อสร้าง กว่าจะเปิดใช้ได้ต้องปี 2564
โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีกำหนดการก่อสร้างใกล้เคียงกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู โดยก่อสร้างเป็น รถลอยฟ้าทั้งหมด 23 สถานี ระยะทาง 30.4 กม. แนวเส้นทางเริ่มต้น ที่จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าใต้ดินที่แยกรัชดา-ลาดพร้าว วิ่งไปจนถึงทางแยกบางกะปิ ถนนศรีนครินทร์ ถนนเทพารักษ์ สิ้นสุดที่ถนนปู่เจ้าสมิงพราย ซึ่งความคืบหน้าปัจจุบันอยู่ระหว่างการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคเพื่อเตรียมก่อสร้าง และกำหนดเปิดให้บริการภายในปีเดียวกัน 2564 ดังนั้น ถนนลาดพร้าว ศรีนครินทร์ ก็ยังจะเป็นถนนต้องห้ามสำหรับผู้เดินทางอย่างน้อยไปอีก 3-4 ปีทีเดียว
โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง หรือโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต เป็นเส้นทางที่สร้างผลกระทบทางจราจรน้อยที่สุด เนื่องจากมีเขตการก่อสร้างขนานในเส้นทางรถไฟเดิม มีระยะทาง 26 กิโลเมตร จำนวน 10 สถานี การก่อสร้างปัจจุบันคืบหน้า ไป 55% โดยจะเปิดให้บริการในปี 2563 คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 86,000 คนต่อวัน นอกจากนี้ยังเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู รถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ได้อีกด้วย
ถัดจากนี้ไปเป็นโครงการรถไฟฟ้าที่ยังไม่เริ่มลงพื้นที่ก่อสร้าง แต่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ตั้งเป้าหมายจะเริ่มดำเนินการโครงการในปี 2561 เป็นต้นไป ได้แก่
โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วง แหวนกาญจนาภิเษก) มีระยะทาง 23.6 กม. แบ่งเป็นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 10 สถานี และยกระดับ 7 สถานี ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมการประกวดราคางานโยธาและจัดทำรายงานศึกษาวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 (พีพีพี) ก่อนเสนอขออนุมัติรูปแบบการลงทุนโครงการตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ มีแผนจะเปิดให้บริการปี 2567
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) มีระยะทาง 13.4 กม. โดยเป็นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ตลอดสาย จำนวน 11 สถานี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเสนอขออนุมัติดำเนินโครงการพร้อมกับรูปแบบการลงทุนโครงการไปในคราวเดียวกัน โดยมีแผนจะเปิดให้บริการปี 2568
โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (บางแค-พุทธมณฑล สาย 4) มีระยะทาง 8 กม. เป็นสถานีรถไฟฟ้ายกระดับตลอดสาย จำนวน 4 สถานี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงรายงาน PPP พร้อม ทั้งข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอขออนุมัติโครงการ โดยมีแผนจะเปิดให้บริการปี 2568
ปิดท้ายด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย (สมุทร-ปราการ-บางปู) ระยะทาง 6.7 กม. มีสถานีรถไฟฟ้ายกระดับจำนวน 4 สถานี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย (คูคต-ลำลูกกา) ระยะทาง 9.2 กม. มีสถานีรถไฟฟ้ายกระดับจำนวน 5 สถานี ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้รอความชัดเจนการโอนทรัพย์สินและหนี้สินสายสีเขียวฯ กับกรุงเทพมหานคร ให้ได้ข้อยุติก่อนเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
อัพเดตกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับโครงการรถไฟฟ้าในฝันของใครหลายคน ซึ่งถึงวันนี้ หลายสายก็มีวี่แววจะเสร็จในไม่ช้า แต่อีกหลายเส้นทางก็ยังไม่เริ่มตั้งไข่ หรือหากเริ่มก็เพิ่งแค่หัดคลานเท่านั้น ซึ่งคนกรุงจะต้องจำใจรับสภาพกับปัญหารถติดไปอีกหลายปี แต่เพื่อแลกกับความสะดวกสบายในระยะยาวก็ต้องทนกันไป.....