นายธนวรรธน์ พลวิชัย รักษาการผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เร่งวาง 3 แนวทาง ดันราคายางพารา แตะโลละ 50 บาท ภายใน 3 เดือน
นายธนวรรธน์ พลวิชัย รักษาการผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังหาแนวทางผลักดันราคายางพาราในประเทศให้สูงขึ้น ผ่าน 3 แนวทางหลัก ได้แก่ 1.การเพิ่มปริมาณความต้องการยางพาราในประเทศ ด้วยการประสานกับหน่วยงานราชการในการนำยางพาราไปเป็นส่วนผสมทำถนน และแปรรูปในรูปแบบต่างๆ เช่น หมอนยางพารา และชีวมวล รวมทั้งหาตลาดใหม่เพิ่มเติมและเจาะตลาดเก่า 2.เร่งการหารือภายใต้กรอบข้อตกลงระหว่าง 3 ประเทศผู้ผลิตและส่งออกยาง ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
และ 3.ลดปริมาณยางและพื้นที่ปลูกยาง โดยตั้งงบประมาณกลางปี วงเงิน 1,500 ล้านบาท เพื่อเชิญชวนให้ชาวสวนยางที่ปลูกยางอายุ 1-25 ปี เปลี่ยนไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นแทน รวมทั้งยังมีมาตรการเพิ่มสภาพคล่องให้ชาวสวนยาง ทั้งการฝึกอบรมเสริมอาชีพ การให้เงินทุนหมุนเวียนและสินเชื่อ เป็นต้น
"เข้าใจว่าข้อความสำคัญในการมอบหมายให้เข้ามาทำหน้าที่นี้ คือ การรักษาเสถียรภาพราคายางพาราร่วมกับ 3 ประเทศ ไม่ให้ลดลงไปกว่านี้ ซึ่งเชื่อว่าหากทุกอย่างสามารถทำงานไปในทิศทางเดียวกัน น่าจะทำให้ราคายางพาราดีขึ้น แต่จะเป็นราคาสูงเท่าไหร่ ยังไม่สามารถตอบได้ แต่เชื่อว่าเป็นไปได้ที่จะมีโอกาสเห็นราคายางพาราเกินกิโลกรัม (กก.) ละ 50 บาท ภายในช่วง 3 เดือนจากนี้" นายธนวรรธน์ กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยผลิตยางพาราได้ 4.6 ล้านตัน/ปี ใช้ภายในประเทศเพียง 600,000 ตัน/ปี แต่ส่งออกมากถึง 4 ล้านตัน จึงทำให้ราคายางพาราไทยถูกกำหนดจากราคาตลาดโลกเป็นหลัก และปัจจุบันราคายางพาราไทยในตลาดส่งออกเฉลี่ยสูงกว่าอินโดนีเซียและมาเลเซียประมาณ กก.ละ 1-2 บาท
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าในช่วงนี้การผลักดันให้ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้นทำได้ยาก ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งความผันผวนของค่าเงินสกุลต่างๆ ในเอเชีย และความกังวลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่เป็นจิตวิทยาเชิงลบ เนื่องจากยางพาราส่งออกไปจีนมากที่สุด เป็นตัวกดดันราคายางพาราในตลาดโลก.