ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค มี.ค. ขยับเล็กน้อยที่ 79.9 จากส่งออก-ท่องเที่ยว รวมถึงปรับขึ้นค่าแรง ชี้ คนยังกังวลเลื่อนเลือกตั้ง กระทบเชื่อมั่นลงทุน น้ำมันแพง หวั่นผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐ-จีน....
เมื่อวันที่ 5 เม.ย. นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน มี.ค. 61 ว่า อยู่ที่ 79.9 ปรับตัวดีขึ้นเพียงเล็กน้อย จาก 79.3 ในเดือน ก.พ. 61 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 66.8 จาก 66.1 ในเดือน ก.พ. 61 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 74.9 จาก 74.2 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 98.0 จาก 97.4
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน มี.ค. ปรับตัวดีขึ้นตามการส่งออกและท่องเที่ยว โดยมีปัจจัยบวก ประกอบด้วย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงดอกเบี้ย 1.5% และได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 61 เป็น 4.1% จากเดิมที่คาดไว้ 3.9%, การส่งออกเดือน ก.พ.เพิ่มขึ้น 10.26%, การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งส่งผลให้ผู้ใช้แรงงานคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต และเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย
ขณะที่ปัจจัยลบจากความกังวลเสถียรภาพทางการเมือง อาจมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปกระทบกับความเชื่อมั่นประชาชนและนักลงทุน, ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, ความกังวลผู้บริโภคเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง, ความกังวลการแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร้ว รวมถึงผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่อาจมีผลต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต
พร้อมระบุเดือน มี.ค.61 ดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่ มีระดับสูงสุดในรอบ 26 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.พ. 59 ส่วนดัชนีความเหมาะสมในการซื้อบ้านหลังใหม่ ปรับตัวดีขึ้นและอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 12 เดือนนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 60 รวมทั้งดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว ปรับตัวสูงสุดในรอบ 12 เดือนเช่นกัน
สำหรับดัชนีทั้ง 3 รายการ แสดงให้เห็นว่ากำลังซื้อของประชาชนชั้นกลางเริ่มกลับมา และพร้อมที่จะมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ และหากผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความมั่นใจอย่างต่อเนื่อง ทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจและสถานการณ์ทางการเมืองทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวแบบกระจายตัวมากขึ้นภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ จะส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความมั่นใจในการบริโภคสินค้าและบริการมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยน่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเด่นชัดขึ้นในปลายไตรมาสที่ 2 และเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ 4.2-4.6%.