คำสั่งฟ้าผ่าจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศใช้มาตรา 44 สั่งโยกย้าย “นายธีธัช สุขสะอาด” ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว ได้สร้างความสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้ว่าการการยางฯ คนนี้ เหตุใดจึงถูกปลดกลางอากาศ
ย้อนรอยกลับไปจะพบว่าที่ผ่านมามีการร้องเรียนจากกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางเรื่อยมา ตั้งแต่สมัย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ นั่งเก้าอี้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เรื่องการบริหารงานในด้านนโยบายที่ “ล้มเหลว” จนทำให้ราคายางพาราตกต่ำ รวมทั้งการตั้งข้อสังเกตถึงความไม่โปร่งใสในการทำงาน
ทั้งเรื่องการจัดซื้อปุ๋ยให้กับเกษตรกรชาวสวนยางนำไปปลูกยางพาราจำนวน 64,724 ตัน โดย กยท.ประกาศเปิดจัดซื้อประมูลปุ๋ยแบบเร่งด่วนในระยะ 5 วัน และตรงกับวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จึงเหลือวันทำการเพียง 3 วัน ทำให้มีผู้เข้าร่วมประมูลน้อยราย
จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าจะมีการฮั้วประมูลกันหรือไม่ รวมทั้งราคาปุ๋ยในสต๊อกที่ประมูลยังสูงกว่าราคาตลาดถึง 3 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) อย่างไรก็ตาม กยท.ได้ออกมาปฏิเสธและระบุว่า มีการจัดซื้อตามขั้นตอนทุกอย่างและสามารถตรวจสอบได้
นอกจากนี้ ในเรื่องการลงขันกับ 5 เสือ หรือบริษัทผู้ซื้อยางเพื่อส่งออกรายใหญ่ จัดตั้งบริษัทร่วมทุนรับซื้อยางจากเกษตรกร จำนวน 1,200 ล้านบาท โดยให้แต่ละบริษัทร่วมทุนรายละ 200 ล้านบาท การเข้าเปิดประมูลยางในตลาดกลางยางพาราของ กยท.เพื่อชี้นำตลาดนั้นกลับ “ล้มไม่เป็นท่า” เพราะ กยท.ตั้งราคากลางสูงกว่าราคายางในตลาดถึง 3-4 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ซึ่งขณะนั้นราคายางพาราเฉลี่ยอยู่ที่ 46 บาทต่อ กก.
เมื่อซื้อยางพารามาบริษัท 5 เสือก็ไม่รับซื้อเพราะราคาสูงทำให้ยางค้างในสต๊อกจำนวนมากถึง 7,000 ตัน จนในที่สุดบริษัทร่วมทุนฯหยุดรับซื้อยางจากเกษตรกร
ส่วนฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ในที่สุดผู้ว่าการการยางฯ ต้องหลุดจากเก้าอี้ครั้งนี้เกิดจากการที่นายธีธัชลงนามในประกาศเรื่องประกวดราคาจัดหาผู้รับจ้างบริหารการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการส่งยางพาราออกนอกราชอาณาจักร (เงินเซส) “จ้างเอกชนเข้ามาบริหารการจัดเก็บเงินเซส” แทนเจ้าหน้าที่ของ กยท. โดยจะมีการแบ่งรายได้ให้เอกชน 5% เป็นเวลา 5 ปี ของเงินที่เก็บได้แต่ละปี ซึ่งจะทำให้รายได้ตกเป็นของเอกชนไม่ต่ำกว่าปีละ 400 ล้านบาท ซึ่งเกษตรกรชาวสวนยางเห็นว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนมากจนเกินไป
ปัจจุบัน กยท.ได้ยกเลิกโครงการให้เอกชนจัดเก็บค่าธรรมเนียมการส่งยางพาราออกนอกราชอาณาจักร และให้ทาง กยท.เปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง
ทั้งนี้ หลังจากมีการร้องเรียนจำนวนมากจากเกษตรกรชาวสวนยาง ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนการทำงาน โดยให้ พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) กยท. เป็นผู้ตรวจสอบการทำงานของผู้ว่าการ กยท. ภายใน 7 วัน แต่หลังจากครบกำหนดกลับไม่มีข้อสรุป ทั้ง กยท.และกระทรวงเกษตรฯต่างโยนลูกกันไปมา จนถึงสมัยนายกฤษฎา บุญราช เข้ามารับตำแหน่ง รมว.เกษตรฯ ก็ยังไม่สามารถตอบคำถามกับประชาชนได้ว่า ผลการตรวจสอบผู้ว่าการ กยท.แท้จริงเป็นอย่างไร
ส่วนประเด็นปัญหาที่แก้ไม่รู้จบอย่างราคายางพาราตกต่ำ ตั้งแต่นายธีธัชเข้ามานั่งประจำตำแหน่งในเดือน มี.ค.2559 ขณะนั้นราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ 48.74 บาทต่อ กก. และน้ำยางสดราคาอยู่ที่ 46.04 บาทต่อ กก. ซึ่งในช่วงต้นปี 2560 กยท.มีการประกาศขายยางเก่าในสต๊อก 300,000 ตัน จากโครงการแทรกแซงราคายาง และโครงการมูลภัณฑ์กันชน โดยนำออกมาประมูลในตลาดกว่า 200,000 ตัน จนปัจจุบันเหลือเพียง 100,000 ตัน ซึ่งทำให้ยางพาราที่มีราคาสูงในเดือน ก.พ. ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 87 บาทต่อ กก. กลับปรับตัวลดลงมาเรื่อยๆ ค้านกับคำพูดของ กยท. ที่ระบุว่าไม่เกี่ยวกับการขายยางเก่าในสต๊อกแต่อย่างใด
จนถึงวันที่นายธีธัชพ้นตำแหน่ง ราคายางก็ยังไม่สามารถกลับขึ้นไปถึงในจุดที่เกษตรกรพึงพอใจได้ โดยราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ 48.65 บาทต่อ กก. น้ำยางสดราคาอยู่ที่ 48.28 บาท ต่อ กก. ถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีการผลักดันการใช้ยางในประเทศ การลดส่งออกยาง และให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำให้ราคายางถึง 60 บาทต่อ กก.
ดังนั้น การที่นายธีธัชหลุดจากตำแหน่งผู้ว่าการ กยท. ครั้งนี้ จึงไม่มีเสียงคัดค้านจากฝ่ายใด ทั้งชาวสวนยางต่างก็พึงพอใจกับการตัดสินใจในครั้งนี้ ซึ่งเป็นผลดีกับรัฐบาลในการลดกระแสสังคมเรื่องปัญหายางพาราที่พร้อมปะทุขึ้นมาตลอดเวลา ส่วนใครจะเข้ามารับตำแหน่งต่อจากนี้นั้น คงต้องรอดูกันต่อไป ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหายางพาราที่คาราคาซังได้หรือไม่.
นันท์ชยา ชื่นวรสกุล