นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยระหว่างการนำคณะผู้บริหารและสื่อมวลชนเยี่ยมชม Ota Wholesale Market (ตลาดกลางโอตะ) แหล่งค้าส่งสินค้าเกษตร 4 ชนิดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่นด้วยวิธีการประมูล ประกอบด้วย ปลา ผัก ผลไม้ และดอกไม้ ว่า กนอ.อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้การจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (อีเอฟซี) เนื้อที่ราว 50 ไร่ ภายในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค จ.ระยอง ซึ่งจะเป็นนิคมฯต้นแบบด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล ถือเป็นส่วนสำคัญของนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
ดังนั้น จึงเตรียมนำระบบของญี่ปุ่นไปประกอบการพิจารณา เพราะญี่ปุ่น มีวิธีการรับซื้อที่เป็นธรรม หากเป็นสินค้าพรีเมียมมีผู้ประกอบการค้าส่ง 4 รายที่ทำหน้าที่รับซื้อสินค้าจากเกษตรกร และมาเปิดประมูลให้พ่อค้าคนกลางที่ได้รับอนุญาตจากภาครัฐ จากนั้นจะมีพ่อค้าคนกลางกระจายสินค้าสู่ตลาด ซึ่งระบบนี้ ทำให้ราคาสินค้าเกษตรอยู่ในระบบที่ดี ส่วนสินค้ามาตรฐานทั่วไปจะขายระบบปกติคล้ายตลาดไทของไทย
ด้านนายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า รูปแบบตลาดกลางโอตะ ของญี่ปุ่น ได้มีการปรับแก้กฎหมายเพื่อเอื้อต่อการดำเนินการ ดังนั้นไทยก็จะพิจารณาอีกครั้งว่าจำเป็นต้องปรับแก้กฎหมาย หรือจะใช้วิธีออกเป็นประกาศแทน “ภายใน 2-3 ปี อีเอฟซี จะสามารถเปิดบริการได้อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อดูแลเกษตรกรในภาคตะวันออก ประกอบด้วย จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และตราด”
สำหรับการจัดตั้งโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก ภายในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค นั้น กนอ.จะมีการศึกษา 4 ขั้นตอน คือ 1.การตรวจสอบสินค้าก่อนประมูล 2.การประมูล ผู้ที่ให้ราคาที่สูงสุดจะเป็นผู้ชนะการประมูล โดยจะประมูลผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และผู้มีสิทธิร่วมประมูล 3.การตรวจสุขอนามัยของสินค้า เมื่อประมูลเสร็จสิ้น จะตรวจเช็กคุณภาพของสินค้า ทั้งในสถานที่ประมูล สถานที่จำหน่าย และตรวจสอบมาตรฐาน คุณภาพ ความปลอดภัยของสินค้า ซึ่งหากตรวจพบว่าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน จะถูกระงับไม่ให้จำหน่ายทันที 4.การกระจายสินค้า ที่ประมูลได้ออกจำหน่ายให้ผู้ซื้อในเวลาที่กำหนดไว้.