เชื่อหรือไม่? ว่ากว่าครึ่งหนึ่งของคนทำงานในประเทศไทย เป็นกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ฟรีแลนซ์” ทั้งในรูปแบบทำงานประจำเป็นหลัก แต่รับงานฟรีแลนซ์ควบคู่ไปด้วย, รับงานฟรีแลนซ์ควบคู่ไปกับการทำธุรกิจของตนเอง, กลุ่มคนทำงานฟรีแลนซ์แบบไม่มีนายจ้างประจำ และทำอาชีพอื่นด้วย
เรื่อยไปจนถึงกลุ่มคนที่ทำงานฟรีแลนซ์ที่ทำสัญญาเป็นรายโครงการหรือรายเดือน ทั้งที่มีและไม่มีนายจ้างประจำ รวมๆ 20 ล้านคน ผ่านคนหลากหลายช่วงวัย ตั้งแต่อายุต่ำกว่า 20 ปี ไปจนถึงอายุมากกว่า 61 ปี แต่กลุ่มใหญ่สุดกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนอายุ 21-40 ปี มากที่สุด ตามข้อมูลของ fastwork
ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์การทำงานในระดับโลกที่ระบุว่า มากกว่า 1 ใน 3 ของประชากรกลุ่ม Millennials ล้วนเป็น “แรงงานอิสระ” ภายใต้ 32% ของกลุ่ม Millennials มุ่งหวังว่างานในอนาคตที่เขาจะทำต้องมีความยืดหยุ่นในเรื่องของเวลาทำงานสูง
ขณะในแง่เศรษฐกิจ เราเรียกกลุ่มคนดังกล่าวว่า "Gig Economy" บ้างเรียก “เศรษฐกิจแบบกิก” “เศรษฐกิจแบบชั่วคราว” ซึ่งถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายเมื่อราว ๆ 10 ปีนี้เอง จนกลายเป็นส่วนสำคัญของตลาดแรงงานในปัจจุบัน
โดยรูปแบบงานที่เรามักพบเห็นอยู่ประจำ เช่น ไรเดอร์ส่งอาหารหรือสินค้า ฟรีแลนซ์ พาร์ตไทม์ ผู้ที่รับงานตามโปรเจกต์ต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ได้เป็นงานประจำหรือมีสัญญาจ้างงานระยะยาวเหมือนงานออฟฟิศทั่วไป และจะได้รับค่าจ้างเมื่อทำงานเสร็จแล้วเท่านั้น
ด้านแหล่งข้อมูลจากต่างประเทศ เช่น เว็บไซต์ AnyShift เปิดเผยว่า ปี 2024 นี้ คนทำงานในระบบ Gig Economy คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 25% ของแรงงานทั่วโลก และคาดว่าแรงงานระบบนี้จะเกิน 50 ล้านคน ภายในสิ้นปีนี้
ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ Gig Economy เติบโต คือ
ด้าน Jobsdb แพลตฟอร์มจัดหางานชื่อดัง ได้ยกตัวอย่าง Gig Economy ที่เห็นภาพชัดเจน คือ Line Man หรือ Grab ผู้สร้างแพลตฟอร์มกลางที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง คอยวางแผนและวางระบบให้ผู้ที่ต้องการใช้บริการ อย่างคนที่ต้องการสั่งอาหาร และผู้ให้บริการ อย่างร้านค้าร้านอาหาร และ Rider ผู้จัดส่งอาหารได้มาเจอกัน และให้บริการเป็นครั้ง ๆ ไป โดยมีแรงงานที่ทำงานด้วยเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ดี แม้ Gig Economy จะเป็นรูปแบบการทำงานที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ตาม แต่ก็มาพร้อมกับทั้งข้อดีและข้อเสียที่ควรพิจารณา อ้างอิงข้อมูลเผยแพร่ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ และธนาคารกรุงเทพ ระบุว่า การที่หลายคนผันตัวเองมาเป็น Gig Worker กันมากขึ้น เพราะนอกจากจะบริหารเวลาการทำงานได้แล้ว ยังสามารถเลือกรับงานที่อยากทำได้ด้วย รับงานได้เท่าที่ต้องการ ทำมาได้เงินมาก เลยทำให้การทำงานแบบ Gig Economy เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่น่าจับตามอง
รวมไปถึงการมีอิสระในการเลือกทำงานที่ตรงกับความสนใจและทักษะของตนเองได้ และมีโอกาสได้เรียนรู้และสัมผัสกับงานที่หลากหลายมากขึ้น หรือมีรายได้ไม่จำกัดที่เข้ามาเพิ่มเติมจากงานประจำ และยังสามารถเป็นเจ้านายของตัวเองที่สามารถตัดสินใจรับหรือไม่รับงานได้เอง โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับผู้อื่นแล้ว
แต่การทำงานอาชีพก็มีข้อเสียที่ต้องพิจารณาด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นรายได้ไม่สม่ำเสมอและไม่แน่นอน เพราะขึ้นอยู่กับจำนวนงานที่ได้และค่าตอบแทนของแต่ละงาน, ขาดความมั่นคงทางด้านสวัสดิการต่าง ๆ เช่น ประกันสังคม โบนัส เงินสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น
และคนที่ทำงานฟรีแลนซ์ต้องบริหารจัดการการเงินด้วยตัวเอง เช่น การทำบัญชี การจ่ายภาษี การตลาด การวางแผนการเงิน ขณะเดียวกัน หากเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ก็ต้องหมั่นฝึกฝนและพัฒนาทักษะให้เหนือคู่แข่ง และการไม่มีเพื่อนร่วมงานก็เป็น 1 ในข้อเสีย
ที่มา: ส.อ.ท., hrnote.asia, jobsdb, ธนาคารกรุงเทพ, Tellscore, fastwork, NIDA
ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney