เศรษฐา ทวีสิน "เปลี่ยน" เพื่อเป้าหมายที่ใหญ่กว่า

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เศรษฐา ทวีสิน "เปลี่ยน" เพื่อเป้าหมายที่ใหญ่กว่า

Date Time: 5 ก.พ. 2561 05:01 น.

Summary

  • เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กำลังเป็นนักพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (Property Developer) ที่น่าจะประสบความสำเร็จสูงสุดในปี 2018

Latest

ที่สุดแห่งปี ! เปิด 10 ทำเล ราคาที่ดิน แพงสุด “ชิดลม-เพลินจิต” ทะลุ 3.7 ล้าน/ตร.ว. สงขลา รองแชมป์

เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กำลังเป็นนักพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (Property Developer) ที่น่าจะประสบความสำเร็จสูงสุดในปี 2018

หลังจากที่พยายามปรับองคาพยพทั้งหมดของบริษัท เพื่อนำทีมนักพัฒนาของเขา ข้ามผ่านวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เรียกว่า Digital Disruption ไปได้ด้วยความสำเร็จราบรื่นจนกระทั่งสื่อให้คำนิยามในตัวเขาและแสนสิริ ไว้มากมาย

ตั้งแต่การเป็น Global Brand ที่เต็มไปด้วยความคล่องตัวในการบริหาร ความทันสมัยในการใช้ชีวิตของลูกบ้านในโครงการแสนสิริ ไม่ว่าจะอยู่ในเจนเนอเรชั่นใด ลูกบ้านของแสนสิริ จะได้รับบริการที่มีรสนิยมและเหนือระดับกว่า เมื่อการลงทุนในสตาร์ตอัพของ เศรษฐา เริ่มเห็นผลในด้านต่างๆ

เริ่มตั้งแต่ หุ่นยนต์รับส่งพัสดุภัณฑ์ ไปจนถึง Farmshelf ชั้นสำหรับการปลูกผักไฮดรอโปนิกรับประทานเองในบ้าน-คอนโดมิเนียม ไปจนถึงการลงทุนข้ามชาติในธุรกิจบริการ เพื่อยกระดับ แสนสิริ ให้เป็นแบรนด์ระดับโลกอย่างสมบูรณ์

เศรษฐา ซึ่งกลายเป็นเจ้าพ่อแห่งวงการธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของประเทศอันดับ 1 ยึดหลักการในการยกระดับแบรนด์แสนสิริ ด้วยโมเดลของการทำงานที่ไม่ประมาท ไม่ทะนงตน และไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต

นั่นจึงทำให้เขาไม่หยุดนิ่ง ที่จะก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลา และพร้อมจะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งตามสไตล์ของตัวเองที่บินสูงกว่า ไฮเอนด์ และไม่ก๊อบปี้ใคร

หลังประกาศการลงทุนมูลค่า 80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2,800 ล้านบาท ใน 6 แบรนด์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

เศรษฐา บอกไว้ว่า การลงทุนในครั้งนั้น เป็นการลงทุนที่อยู่นอกเหนือธุรกิจของแสนสิริเป็นครั้งแรก

สิ่งที่แสนสิริกำลังทำ คือการขยายสู่ตลาดโลก มุ่งลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพที่ดีในการสร้างรายได้ใหม่ๆ ตลอดจนอาศัยพันธมิตรในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งไปพร้อมๆกัน

เขาบอกอีกว่า ก้าวสำคัญต่อไปของแสนสิริ คือการมุ่งตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปของลูกค้า ผลักดันแสนสิริให้ก้าวไปสู่การเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ระดับโลก หลังลูกค้าต่างชาติมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปีที่แล้วอยู่ที่ 30%

นอกจากนั้น เขายังต้องการให้แสนสิริ เป็นผู้นำด้านการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อที่อยู่อาศัย (PropTech) ในอันดับต้นๆ ของประเทศด้วย

สิ่งที่ เศรษฐา ประกาศในวันนั้น จะถูกทำให้ผลิดอกออกผล เริ่มต้นตั้งแต่ปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่เขาประกาศว่า มูลค่าการเปิดตัวโครงการใหม่ของแสนสิริจะทะลุ 100,000 ล้านบาท เป็นปีแรก สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

“เราโชคดีที่ทำธุรกิจที่เป็นปัจจัย 4 ที่พักอาศัยเป็นสิ่งสำคัญ อย่างไรคนก็ต้องมีบ้านอยู่ แต่เมื่อโลกเปลี่ยน เราก็ต้องปรับเปลี่ยนตลอดและเสมอ”

วันนี้...ความเปลี่ยนแปลงแรกของปี กำลังก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง เมื่อความร่วมมือกับทั้ง 6 แบรนด์ เริ่มคิกออฟ

ประกอบด้วย เดอะ สแตนดาร์ด (The Standard) และ โมโนเคิล (Monocle) ซึ่งเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ระดับโลก แบรนด์แรกเป็นโรงแรมที่โด่งดังมากในสหรัฐอเมริกา ขณะที่แบรนด์ที่ 2 เป็นสื่อไลฟ์สไตล์ทรงอิทธิพล

ขณะที่ 4 แบรนด์ ที่เหลือ เป็นสตาร์ตอัพ ซึ่งจะเข้ามาช่วยต่อยอด ธุรกิจและเน้นย้ำให้เห็นถึงความพยายามในการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อที่อยู่อาศัยของแสนสิริ ได้แก่ ฟาร์มเชลฟ์ (Farmshelf), วันไนท์ (One Night), โฮสต์ เมกเกอร์ (Hostmaker) และจัสท์ โค (JustCo)

เริ่มจากเดอะ สแตนดาร์ด จะเปิดตัวโรงแรม The Standard Residence แห่งแรกในเมืองไทยที่ภูเก็ตปีหน้า หลังเจรจาซื้อที่ดินที่ภูเก็ตเป็นที่เรียบร้อย โดยแสนสิริจะเป็นผู้ลงทุนสร้างเอง และเดอะ สแตนดาร์ดเป็นคนบริหาร ส่วนแห่งต่อไป มีแนวโน้มว่าจะเป็นที่หัวหินและกรุงเทพฯตามลำดับ

ส่วน Monocle Residence จะเปิดตัวเป็นครั้งแรกของโลกเช่นกันในปีนี้ นอกจากนั้นโมโนเคิล จะเป็นช่องทางสื่อสารที่สำคัญ ในการเผยแพร่ข่าวสารและโครงการของแสนสิริต่อแฟนๆ ของโมโนเคิลทั่วโลก โดยเฉพาะที่ญี่ปุ่น ซึ่งโมโนเคิลโด่งดังมาก

ขณะที่ Farmshelf ตู้ปลูกผักไฮดรอโปนิกในร่มผ่านแอพพลิเคชั่น ซึ่งแสนสิริเข้าไปถือหุ้นนั้น น่าจะสามารถนำไปให้บริการลูกบ้านแสนสิริได้ในช่วงกลางปี อาจเริ่มจัดตั้งตามสโมสร เพื่อให้ลูกบ้านได้ทดลองปลูก โดยมี เอสบี เฟอร์นิเจอร์ เป็นคนจัดทำตู้ให้ ซึ่งเชื่อว่าจะทำราคาได้ไม่สูงนัก จากราคาขายที่สหรัฐอเมริกาตู้ละ 5,000-7,000 เหรียญสหรัฐฯ


“แสนสิริ” ปีแห่งการก้าวกระโดด
“ไม่มีอะไรเสียหายก็เปลี่ยนได้ โลกเปลี่ยน เราต้องเปลี่ยนตาม”
เศรษฐา ทวีสิน


ที่เหลือได้แก่ Hostmaker ซึ่งเป็นบริการช่วยบริหาร จัดการอสังหาริมทรัพย์ของลูกบ้านที่ต้องการปล่อยเช่า จะเปิดตัวในเดือน ก.พ. กับเอเย่นต์ที่ฮ่องกง เบื้องต้นจะเริ่มจากอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการปล่อยเช่า 1 เดือนขึ้นไป ส่วน One Nignt แอพพลิเคชั่นสำหรับการจองโรงแรมในวันเดียวกับการเข้าพัก ซึ่งจะทำให้ได้ราคาประหยัดนั้น เบื้องต้นได้โรงแรมเข้าร่วมราว 10 โรงแรม ได้แก่ โรงแรมสุโขทัย, The MET, 137 Pillars น่าจะเปิดบริการได้ในเดือน มี.ค. โฟกัสที่แขกต่างชาติก่อน

ด้าน JustCo ซึ่งเป็น Co-Working Space หรือออฟฟิศที่ใช้งานร่วมกันนั้นจะเปิดสาขาแรกในไทยเดือน พ.ค. ณ ตึก AIA Sathorn และสาขาที่ 2 ที่อาคาร All Seasons Place ในเดือน ส.ค. และแน่นอนว่าลูกบ้านแสนสิริจะได้สิทธิพิเศษมากกว่าใคร ในการเข้าใช้บริการ

ด้านโครงสร้างองค์กรยังเป็นครั้งแรกของแสนสิริที่ได้มีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งประธานผู้บริหารสายงานเทคโนโลยีและวิเคราะห์ข้อมูล หรือ CTO (Chief Technology Officer) โดยมี ดร.ทวิชา ตระกูลยิ่งยง เข้ามาร่วมทีม

ดร.ทวิชา
ดร.ทวิชา

รวมทั้งตำแหน่งประธานผู้บริหารฝ่ายสร้างสรรค์ หรือ CCO (Chief Creative Officer) ซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่เอี่ยมสำหรับ นพปฎล (อู้) พหลโยธิน นักออกแบบสัญชาติไทยที่มีผลงานระดับโลก ที่เพิ่งเข้ามาร่วมงานกับแสนสิริเมื่อวันที่ 1 ก.พ.

นพปฎล (อู้)
นพปฎล (อู้)

นอกจากนั้น เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา แสนสิริยังได้ประกาศเปิดตัวบริษัทสิริ เวนเจอร์ส (Siri Ventures) บริษัทร่วมทุนกับธนาคารไทยพาณิชย์ ในการเสาะหาโอกาสลงทุนในสตาร์ตอัพดีๆ และใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นต่อยอดการให้บริการลูกบ้านของแสนสิริ โดยมี จิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีของสิริ เวนเจอร์ส

ล่าสุด สิริ เวนเจอร์ส ซึ่งได้งบลงทุน 1,500 ล้านบาทใน 3 ปี ยังขยับเข้าลงทุนในสตาร์ตอัพเพิ่มเติม โดยครั้งนี้เป็นการลงทุนผ่านสตาร์ตอัพ 3 ราย และ 2 ใน 3 เป็นสตาร์ตอัพไทย ได้แก่ Happysphere ซึ่งเชี่ยวชาญด้านระบบจัดการ Home Automation ทั้งการสั่งปิด-เปิดไฟ แอร์ ทีวี ผ่านแอพพลิเคชั่นที่เชื่อมกับอุปกรณ์ต่างๆภายในบ้าน

จิรพัฒน์
จิรพัฒน์

โดยนอกจากการสั่งการได้ในระยะต้น แสนสิริมีเป้าหมายที่จะพัฒนาแอพพลิเคชั่นร่วมกับ Happysphere ในการยกระดับไปสู่การทำงานที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่แอพพลิเคชั่นที่คิดเองได้ และเข้าใจสิ่งที่ต้องทำ

ส่วนสตาร์ตอัพอีกราย มีชื่อว่า Onionshack เป็นปัญญาประดิษฐ์หรือ AI (Artificial Intelligence) ซึ่งเข้าใจภาษาพูดไทย และน่าจะสามารถนำมาพัฒนาเพื่อให้บริการในฐานะผู้ช่วยส่วนตัวในบ้านได้

ขณะที่รายสุดท้ายเป็นสตาร์ตอัพสัญชาติสิงคโปร์ ชื่อ Techmatics เป็นผู้พัฒนาหุ่นยนต์แสนดี ที่ปัจจุบันให้บริการส่งของในคอนโดมิเนียมของแสนสิริแล้ว การตัดสินใจเข้าซื้อหุ้นจะทำให้แสนสิริมีความคล่องตัวในการทำงานร่วมกับ Techmatics เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อให้บริการในสาขาอื่นๆ เช่น หุ่นยนต์ผู้ช่วย (บัตเลอร์) หุ่นยนต์ รปภ. เป็นต้น โดยล่าสุดมีแผนที่จะเปิดโรงงานประกอบหุ่นยนต์ขึ้นในไทย เพื่อลดต้นทุนการผลิตด้วย

เศรษฐา บอกว่า เขาไม่เคยตั้งหรือกำหนดเป้าหมายใดๆเพื่อกดดันทีมงานของเขา อะไรที่ไม่อยากทำ ก็ไม่จำเป็นต้องทำ เพราะคนที่จะเข้ามาทำงานกับแสนสิริได้ ย่อมต้องถือว่าดีพออยู่แล้ว

แต่เขาก็มั่นใจเหลือเกินว่าปีนี้จะเป็นปีแห่งการก้าวกระโดดที่สำคัญมาก

โดยนอกจากทีมงานที่เพิ่มเติมเข้ามาเพื่อเสริมความแกร่ง โดยเฉพาะต่อเป้าหมายด้านการเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่มีนวัตกรรมระดับโลกแล้ว

ในด้านการขาย ยังเป็นปีแรกที่แสนสิริเปิดตัวทาวน์เฮาส์ในระดับราคาย่อมเยา 1.5-2 ล้านบาท ซึ่งถือเป็น 1 ใน 11 โครงการทาวน์เฮาส์ที่จะเปิดในปีนี้ การบุกตลาดทาวน์เฮาส์ราคาซื้อหาได้ง่าย จะทำให้โครงการของแสนสิริครอบคลุมลูกค้าได้ครบทุกกลุ่มเป้าหมาย เป็นการเก็บตกลูกค้ากลุ่มท้ายๆที่แสนสิริอาจเคยมองข้าม

เขามองการแข่งขันในปีนี้ว่า ผู้ประกอบการหลัก 7-8 ราย จะยังแอคทีฟอยู่ในตลาดเหมือนเดิม และเขาอยากให้คู่แข่งทุกรายประสบความสำเร็จ

“เมื่อไรที่คู่แข่งลำบาก จะเริ่มมีการลดราคา เมื่อมีการลดราคาการแข่งขันจะรุนแรงขึ้นโดยปริยาย โชคดีที่ผ่านมาการแข่งขันในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย ค่อนข้างศิวิไลซ์ ซึ่งผมอยากให้เป็นเช่นนั้นไปตลอด”

เขายังเชื่อว่า เศรษฐกิจในภาพรวมปีนี้จะดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะแรงกระตุ้นจากการลงทุนของภาครัฐ ทำให้ต้องจับตามองการมาของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายกลางจนถึงรายเล็ก ซึ่งจะเป็นตัวแปรของการแข่งขัน

“สำหรับแสนสิริซึ่งตั้งราคาขายแพงกว่า 10-15% จะยังแข่งอยู่ในตำแหน่งเดิม แต่เราจะไม่ทะนงตน ไม่ประมาท เราไม่ได้มีอะไรเสียหาย แต่เราก็จะเปลี่ยน เปลี่ยนไปตามโลก โลกเปลี่ยน เราต้องเปลี่ยนตาม”

เพื่อให้เป็นไปตามความหวังที่ว่าในอีก 1-2-3 ปีข้างหน้า แสนสิริจะเป็น “แบรนด์ในดวงใจ” ของคนไทยให้ได้.

ทีมเศรษฐกิจ


มร.อามาร์ ลาลวานี

CEO-Managing Partner
The Standard

เดอะ สแตนดาร์ด เป็นแบรนด์ทรงพลังที่สุดในธุรกิจไลฟ์สไตล์โฮเทล ที่มีเครือทั้งหมด 5 แห่ง ทั้งในมหานครนิวยอร์ก แอลเอ ไมอามี และที่กำลังจะเปิดใหม่ในมหานครลอนดอน และซานฟรานซิสโก

อามาร์ คือ ผู้บุกเบิกคนสำคัญในธุรกิจโรงแรมแบบไลฟ์สไตล์ที่สร้างประสบการณ์น่าประทับใจให้แก่ผู้เข้าพักด้วยการใส่รายละเอียด และการออกแบบที่โดดเด่นในทุกๆห้องพัก รวมไปถึงห้องภัตตาคาร ร้านค้าคุณภาพ และ ไนท์ไลฟ์ คลับชื่อดังที่มีเซเลบริตี้ของมหานครนิวยอร์กมาพบปะกันเป็นประจำ โดยแสนสิริถือหุ้น 35% ในธุรกิจของ Standard International and Management ซึ่งยังเป็นเจ้าของเครือโรงแรม Bunkhouse ซึ่งเป็นโรงแรมในสไตล์บูติคโฮเทล ที่เปิดธุรกิจอยู่ในแคลิฟอร์เนีย เท็กซัส และเม็กซิโก.


มร.แอนดรู เชียเรอร์

CEO Farmshelf

ฟาร์มเชลฟ์ เป็นสตาร์ตอัพที่ช่วยให้ผู้อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม และบ้านในโครงการของแสนสิริสามารถปลูกผักเพื่อการบริโภคด้วยตัวเองได้แม้จะมีพื้นที่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย หรือที่ทำงาน ด้วยการใช้แอพพลิเคชั่น และเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) เลี้ยง ให้น้ำ และแสงสว่างแก่พืชผักหลายชนิดที่สามารถปลูกได้ในทุกฤดูกาล

แสนสิริ ถือหุ้นในฟาร์มเชลฟ์แห่งนี้อยู่ราว 7% เพื่อนำเทคโนโลยีของสตาร์ตอัพรายนี้ เข้ามาต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และวัฒนธรรมของการใช้ชีวิตแบบใหม่ของคนไทยที่มีไลฟ์สไตล์ที่ทันสมัย ยั่งยืน และต้องการมีสุขภาพที่ดีกว่า.


มร.ไทเลอร์ บรูเล่

ผู้ก่อตั้ง Monocle

โมโนเคิล เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ชื่อดังของสหราชอาณาจักร ที่ประสบความสำเร็จจากการสร้างบรรทัดฐานใหม่ของอุตสา-หกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ทั่วโลก ที่นำเสนอเรื่องราวของข้อมูลข่าวสาร และประสบ-การณ์ของการใช้ชีวิตด้วยความหรูหราลักชัวรี่ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงการนำเสนอร้านค้า ร้านอาหาร และบริการที่พัก

ไทเลอร์ ในฐานะผู้ก่อตั้งยังเป็นศิลปินที่มีความเป็นอาร์ตตัวพ่อที่เข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงคุณค่าของแบรนด์ และการสื่อสารที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ

แสนสิริ กับ โมโนเคิล จะจับมือกันวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อเชื่อมโยงสู่ลูกค้าของโมโนเคิลในตลาดนานาชาติจากย่านธุรกิจที่มีอยู่ทั่วโลก และรวมเอาแนวคิดของกันและกันเข้ามาสู่โครงการของแสนสิริในประเทศไทย.


มร.จิมมี่ ซูฮ์

CEO One Night

จิมมี่ ซูฮ์ ทำงานด้านการโรงแรมมาตลอด ตั้งแต่ฝ่ายการตลาด จัดจำหน่าย จนถึงการจัดการรายได้ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระทั่งได้รับการคัดเลือกเป็นประธานสมาคมเครือข่ายการจัดจำหน่ายโรงแรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Hotel) จนได้รับการโหวตให้เป็นบุคคลผู้มีวิสัยทัศน์ 1 ใน 25 คนของอุตสาหกรรมโรงแรมชั้นนำทั่วโลก

เขาจึงมีประสบการณ์หลากหลาย ก่อนจะเข้ามาเป็น CEO ฝ่ายจัดหารายได้ของเดอะ สแตนดาร์ด และร่วมก่อตั้ง One Night Standard แอพพลิเคชั่นเพื่อการจองห้องพักนาทีสุดท้าย ซึ่งเป็นอีกผลิตภัณฑ์เพื่อการขายห้องพักที่มีราคาแตกต่างออกไป สำหรับการตอบแทนลูกค้า ขณะเดียวกันก็เพื่อเพิ่มความร่วมมือระหว่างโรงแรมต่างๆในเครือผ่านแอพพลิเคชั่นนี้อันเป็นการยกระดับแบรนด์ของโรงแรม.


มร.คง วัน ซิง

CEO และผู้ก่อตั้ง JustCO

จัสท์โค เป็นผู้ให้บริการพื้นที่ในลักษณะของ Co-working space ระดับพรีเมียมที่ใหญ่สุด และประสบความสำเร็จมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากที่ก่อตั้งบริษัทมาได้เพียง 2 ปี จัสท์โค สามารถเปิดพื้นที่ให้บริการ และทำรายได้ให้บริษัทได้มากถึง 11 แห่ง

ทุกวันนี้ โรงแรมใหญ่ๆที่มีชื่อเสียงโด่งดังหลายแห่งนำเอาโมเดลธุรกิจของ ซิง มาใช้ เนื่องเพราะพฤติกรรมของบรรดาผู้บริโภค และคนทำงานยุคนี้ปรับเปลี่ยนไป ผู้คนไม่ได้ต้องการแค่นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ในสำนักงานที่เป็นห้องสี่เหลี่ยม ขณะที่คนทำงานอิสระไม่จำเป็นต้องทำงานอยู่ที่บ้าน Co-working space ซึ่งสามารถ Share พื้นที่ร่วมกันได้ จึงกลายเป็นที่นิยมอย่างสูงจากเอเชียไปถึงสหรัฐฯ แสนสิริ จึงเข้าไปร่วมทำงานกับเขา.


มร.นกุล ชาร์มา

CEO และผู้ก่อตั้ง Hostmaker

โฮสต์ เมกเกอร์ เป็นผู้ให้บริการจัดการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการเช่า และอยู่อาศัยสัญชาติอังกฤษ ที่ช่วยลดความซับซ้อนในการจัดการเรื่องการจองที่พักระยะสั้นให้ง่ายขึ้น

ปัจจุบัน โฮสต์ เมกเกอร์ จัดการให้เช่าที่พักในหลายประเทศ เช่น ลอนดอน โรม ปารีส และบาร์เซโลนา ด้วยประสบการณ์ของการจัดการลูกค้าที่เข้าพักแล้วกว่า 150,000 ราย ทั้งที่เป็นโฮมสเตย์ระดับพรีเมียม และโรงแรมระดับมาตรฐานที่สามารถกลมกลืนไปกับคนในท้องถิ่น และให้ความรู้สึกเหมือนเป็นบ้านได้ ในขณะที่โฮสต์ เมกเกอร์มีบริการพิเศษในการออกแบบห้องพักเฉพาะบุคคล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มอัตราการจองห้องพักเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าด้วย และนี่เป็น เหตุผลสำคัญที่ทำให้ เศรษฐา จับมือกับ ชาร์มา เพื่อเป้าหมายสำคัญในอนาคต.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ