เปิดสิทธิค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีอะไรบ้าง ที่พนักงานเงินเดือนผู้มีรายได้สามารถนำมาลดหย่อน ก่อนจะได้ข้อสรุปว่า จะต้องจ่ายภาษีเพิ่มหรือได้คืนภาษีอันน่าปรารถนา...
เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างเดือน ม.ค.-มี.ค.นี้ กรมสรรพากรได้กำหนดให้บุคคลธรรมดาที่มีรายได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90, ภ.ง.ด.91) รอบปี 2560 ทั้งช่องทางผ่านอินเทอร์เน็ตและ ณ ที่ทำการสรรพากร
ทั้งนี้ ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ จะพาไปไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการลดหย่อนภาษี จำนวน 10 หมวด รายละเอียด ดังนี้
1. ค่าลดหย่อนส่วนตัวและคู่สมรส หากไม่ได้จดทะเบียนสมรสจะหักลดหย่อนคู่สมรสไม่ได้ โดยสถานภาพโสด จะไม่สามารถหักลดหย่อนคู่สมรส
2. ค่าลดหย่อนบุตร มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับค่าเลี้ยงดูบุตรตามกฎหมายจากคนละ 15,000 บาทต่อปี เป็นคนละ 30,000 บาทต่อปี
3. ค่าลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูพ่อแม่อายุ 60 ปีขึ้นไปและไม่มีรายได้เลี้ยงตัวเองคนละ 30,000 บาท โดยพ่อแม่ต้องมีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 30,000 บาท อย่างไรก็ตาม หากพ่อแม่มีลูกหลายคน ลูกสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้เพียง 1 คนต่อพ่อแม่
4. ค่าลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูคนพิการและทุพพลภาพคนละ 60,000 บาท ตรงนี้ คือให้สิทธิเลี้ยงดูพ่อ แม่ สามี ภรรยา หรือ ลูก โดยชอบด้วยกฎหมาย ของผู้มีเงินได้ที่พิการ หรือ ทุพพลภาพ
5. ค่าลดหย่อนประกันชีวิตและประกันสุขภาพ โดยในส่วนเบี้ยประกันชีวิต นำมาหักลดหย่อนได้ตามจำนวนจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนเบี้ยประกันสุขภาพไม่เกิน 15,000 บาท แต่รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท
6. ค่าลดหย่อนซื้อหน่วยลงทุน RMF และ LTF โดยได้รับยกเว้นภาษีให้ยกเว้นได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินก่อนหักยกเว้นภาษี กรณีผู้มีเงินได้อายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษีที่ได้รับ
7. ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อและสร้างที่อยู่อาศัย สามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมมาลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
8. ค่าลดหย่อนประกันสังคม หักได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง และตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม หักได้ไม่เกินคนละ 9,000 บาท
9. ค่าลดหย่อนเงินบริจาค โดยต้องมีหลักฐานคือ ใบอนุโมทนาบัตร หรือ ใบเสร็จรับเงิน ซึ่งสามารถลดหย่อนได้เท่าจำนวนบริจาค แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินเหลือหลังจากหักลดหย่อน
10. ค่าลดหย่อนน้ำท่วม โดยผู้บริจาคสามารถนำเงินหรือมูลค่าทรัพย์สินที่ได้บริจาค ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.2560 ถึงวันที่ 31 มี.ค.2560 มาหักเป็นค่าลดหย่อน หรือหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีได้ 1.5 เท่า.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง