ในสถานการณ์ที่ “เศรษฐกิจไทย” กำลังต้องการ “แรงขับเคลื่อนใหม่” เพื่อยกระดับไปสู่ “ฐานเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้นและขยายตัวได้อย่างยั่งยืน” ท่ามกลางเทคโนโลยีการผลิตของโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การสร้างความตระหนักรู้ และเร่งให้เกิดปรับตัว ในภาคอุตสาหกรรมของประเทศ จึงเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญยิ่ง ทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่เป็นจุดแข็งของไทย การสร้างอุตสาหกรรม เป้าหมายใหม่ที่จะยกระดับขีด ความสามารถของประเทศ การ สนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ให้ปรับตัวรับกับการเปลี่ยนทางเทคโนโลยี สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตใหม่ของโลกได้
ขณะเดียวกัน การสร้างโอกาสเพื่อดึงดูด “เม็ดเงินลงทุน” และ “นักลงทุน” จากต่างประเทศ จะเป็นอีกหนทางหนึ่งในการหา “ตัวช่วย” เพื่อยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทยให้ไปถึง “อุตสาหกรรมยุค 4.0”
ทั้งหมดทั้งปวงนี้ คงไม่มีใครที่จะ ให้รายละเอียดได้ดีเท่ากับ อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม อีกแล้ว
ขยายฐาน ผลิตผ้าป้อน ซาร่า-ลีวาย
“นโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจไทย ซึ่งเรากำลังเร่งดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ได้รับการจับตามองจากนักลงทุนต่างชาติและองค์กรระหว่างประเทศค่อนข้างมาก และยังมีนักลงทุนจำนวนหนึ่งที่สนใจอยากเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยเป็นพื้นที่ศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ของเอเชีย มีนโยบายเปิดรับการลงทุนที่ชัดเจนรวมทั้งมีการดูแลเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาดีกว่าหลายประเทศ” อุตตม เริ่มต้นบทสนทนากับ “ทีมเศรษฐกิจ”
โดยเมื่อต้นเดือน ธ.ค. ได้เข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญ สมัยที่ 17 ขององค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) หรือยูนิโด ที่ประเทศออสเตรีย โดยยูนิโด อยากให้เรานำเสนอวิสัยทัศน์ไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะการเข้ามาลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายและการลงทุนของเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี และยังได้มีโอกาสในการเจรจากับหอการค้า และบริษัทเอกชนชั้นนำระดับโลกของออสเตรีย 25 บริษัท อาทิ Greiner Bio-One Fronius International บริษัทเทคโนโลยีทางการแพทย์ระดับนานาชาติ รวมถึงนักลงทุนสัญชาติออสเตรียที่สนใจลงทุนในไทยในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เชื่อมโลหะ ยานยนต์ ตลอดจนผู้ให้บริการปรึกษาธุรกิจ
“ผมขอย้ำว่าอีอีซี เป็นแผนที่นำทางการพัฒนาประเทศในภาพรวมไปสู่เศรษฐกิจฐานใหม่ที่สร้างมูลค่าและขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม อาทิ การยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเทคโนโลยีแกนหลักและอุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรม โดยนักลงทุนบางรายไม่เคยรับทราบมาก่อนว่าประเทศไทยมีอีอีซีและจะใช้อีอีซีเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนของโลกในอนาคต”
หลังจากรับฟังนโยบายและเป้าหมายของไทย นักลงทุนทั้ง 25 บริษัทยืนยันจะเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปตลาดโลก บางบริษัทที่ลงทุนอยู่แล้ว ก็พร้อมจะขยายการลงทุนเพิ่ม เช่น บริษัท เลนซิ่ง กรุ๊ป จำกัด (Lenzing Group) ของออสเตรีย ผู้ผลิตเส้นใยเซลลูโลสคุณภาพสูงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งสินค้าให้ผู้ผลิตเสื้อผ้า อาทิ กลุ่ม Intidex เจ้าของตราสินค้าซาร่า (zara) และผู้ผลิตกางเกงยีนส์ Levi Strauss และเป็นพันธมิตรร่วมงานกับบริษัท ดับเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) ของไทย
“เลนซิ่งได้ประกาศขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นที่ จ.ปราจีนบุรี มูลค่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 10,000 ล้านบาท เพื่อผลิตเส้นใย สังเคราะห์คุณภาพสูง มีคุณสมบัติพิเศษทนไฟ เพื่อนำไปผลิตเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ที่สามารถทนทานต่อไฟไหม้ได้เป็นระยะเวลานาน”
นอกจากนี้ ยังมีบริษัท ลู้ฟ จำกัด (Luf) ผู้ผลิตรถดับเพลิงและรถสำหรับคนพิการ ที่เป็นเอสเอ็มอีชั้นแนวหน้าระดับโลก ก็กำลังพิจารณาจัดตั้งโรงงานประกอบเรือเร็ว (Speed Boat) ในไทย โดยจะเข้ามาลงทุนในปี 2561 บริษัท ซุมโทเบล จำกัด (Zumtobel) ผู้ผลิตอุปกรณ์และระบบแสงแอลอีดีที่มีการลงทุนใน 90 ประเทศทั่วโลก ก็แสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในระบบไฟแอลอีดีในไทย รวมทั้งบริษัท SAP SE จำกัด ผู้ผลิตซอฟต์แวร์รายใหญ่ของโลกที่ได้แสดงความสนใจมาเปิดศูนย์วิจัยและทดสอบซอฟต์แวร์ ที่ดิจิตอลปาร์ค ในอีอีซี
ทั้งนี้ ยูนิโดเตรียมที่จะจัดตั้งสำนักงานเพื่อการส่งเสริมการลงทุน (ITPO) แห่งแรกในอาเซียนที่ประเทศไทย เพื่อผลักดันให้เป็นศูนย์กลางเสริมศักยภาพและกระจายความรู้ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและตะวันออกกลาง ซึ่งนอกจากจะช่วยประเทศไทยให้เชื่อมโยงการลงทุนจากนักลงทุนในกลุ่มสมาชิกยูนิโดซึ่งมีกว่า 100 ประเทศแล้ว ยังจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ที่จะร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืนอีกด้วย
3 แสนล้านประเคนเอสเอ็มอี
ขณะเดียวกัน สำหรับอุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งเป็นส่วนที่รัฐบาลเป็นห่วงมากที่สุด และเตรียมแนวทางการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมคือ “เอสเอ็มอี”
ล่าสุดที่ประชุมมาตรการพิเศษเพื่อขับเคลื่อนเอสเอ็มอีสู่ยุค 4.0 ประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กระทรวงอุตสาหกรรม ผู้บริหารธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ สภาหอการค้าไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สมาคมเอสเอ็มอี ได้จัดหามาตรการช่วยเหลือทางการเงินและการให้คำปรึกษาที่จะลงไปยังระดับฐานรากให้มากขึ้น
“จะมีการให้สินเชื่อใน 3 ลักษณะ แบ่งตามเม็ดเงินที่จะปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอี ประเภทที่ 1 วงเงินสินเชื่อ 100,000–1 ล้านบาท ช่วยเอสเอ็มอีขนาดเล็ก (ไมโครเอสเอ็มอี : M–SMEs) ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะเอสเอ็มอีในการท่องเที่ยวและเกษตรแปรรูป ประเภทที่ 2 วงเงินตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไปจนถึง 10 ล้านบาท เป็นการสร้างเอสเอ็มอีในระดับชุมชน และประเภทที่ 3 วงเงินตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป สำหรับกิจการที่ต้องการเปลี่ยนเครื่องจักร”
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2561 ให้กับเอสเอ็มอี โดยเป็นเม็ดเงินจากสถาบันการเงินของรัฐรวม 200,000 ล้านบาท เบื้องต้นมาจากธนาคารกรุงไทยและธนาคารออมสิน 100,000 ล้านบาท ซึ่งพร้อมจะปล่อยสินเชื่อได้ทันที ส่วนอีก 100,000 ล้านบาท มาจากธนาคารเพื่อพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม (ธพว.) และสถาบันการเงินอื่นของรัฐ ซึ่งจะต้องเสนอ ครม.อนุมัติก่อน โดยเม็ดเงินดังกล่าวคาดว่าจะเป็นฟันเฟืองทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 1 ล้านล้านบาท ช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านราย
ขณะเดียวกัน ยังจะมีเม็ดเงินจากธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ที่ส่วนใหญ่เริ่มหันมาจับลูกค้าเอสเอ็มอีเข้ามาเสริมคาดว่าจะมีเงินในส่วนนี้ประมาณ 100,000 ล้านบาท ทำให้มีเม็ดเงินรวมในส่วนที่จะช่วยเหลือกว่า 300,000 ล้านบาท
“มาตรการช่วยเหลือยังจะเน้นหยั่งรากลึกไปสู่เอสเอ็มอีระดับชุมชน อาทิ การเชื่อมโยงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการให้มีมาตรฐานสากล เช่น การช่วยพัฒนาการผลิตสินค้าโอทอป อาหารประจำถิ่น สินค้าที่ระลึกให้ถูกรสนิยมของนักท่องเที่ยว ตลอดจน พัฒนาการแปรรูปของผลผลิตทางการเกษตรในท้องที่ อาทิ สมุนไพร ผลไม้แปรรูป รวมทั้งช่วยเหลือพัฒนาธุรกิจโฮมสเตย์หรือสร้างกิจกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ในพื้นที่นั้นๆ”
ปีหน้า การพัฒนาเอสเอ็มอีจะเน้นกลุ่มฐานรากข้างต้นให้มากขึ้น เพื่อเป็นการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนที่จะมุ่งไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของโรงงานอุตสาหกรรม และผู้บริโภค โดยได้ตั้งเป้าหมายว่าจะยกระดับเศรษฐกิจฐาน รากชุมชนให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันไม่ต่ำกว่า 25%
หมัดเด็ดเอสเอ็มอีไทยสู่โลก
เมื่อมาตรการทางการเงินข้างต้นเข้าไปกระตุ้นชีพจรของเอสเอ็มอีให้เดินหน้าต่อไปได้แล้วก็จะต้องเติมเต็มด้วยการหามาตรการที่ไม่ใช่การเงิน เพื่อทำให้เอสเอ็มอีมีความเข้มแข็ง พร้อมนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดพัฒนานวัตกรรม การผลิต และช่องทางการค้าที่มีอยู่หลากหลาย
โดยสร้างกลไกสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจ (Service Upgrading) ที่จะยกระดับศูนย์ปฏิบัติการอุตสาหกรรม (ITC) เช่น การให้คำปรึกษาเชิงลึกผ่านศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Expert Pool) เพื่อช่วยผู้ประกอบการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในธุรกิจ ด้วยการแชร์ประสบการณ์ ปัญหาต่างๆระหว่างกัน
นอกจากนี้ ยังจะเสริมความแกร่งด้วยมาตรการผลักดันให้เอสเอ็มอีมีระบบบริหารจัดการ (Transform SMEs) ไปสู่เอสเอ็มอี 4.0 โดยจัดกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ผ่านการสรรหาจากกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งในและต่างประเทศ มาช่วยแก้ปัญหาด้านการผลิตและมาตรฐาน หรือเป็นโค้ชในการพัฒนา
“ที่สำคัญจะมีการจัดทำแพลตฟอร์ม SME Big Data เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงบริการฐานข้อมูลกลางเพื่อนำไปสู่โครงการการให้ความช่วยเหลือที่ตรงกับความต้องการการพัฒนาในแต่ละด้าน และองค์ความรู้ใหม่ๆผ่านช่องทาง SME One Portal ได้ในทุกที่ทุกเวลา”
รวมทั้ง การเพิ่มขีดความสามารถและการปรับเปลี่ยนธุรกิจ (Capacity Upgrading and Transforming) ภายใต้กลไกประชารัฐที่เน้นการเชื่อมโยงองค์กรธุรกิจชั้นนำระดับโลกกว่า 20 ราย อาทิ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน), เอสซีจี กรุ๊ป, บริษัท เดลต้า จำกัด, บริษัท เดนโซ่ จำกัด มาเป็นพี่เลี้ยงให้เอสเอ็มอี
ส่วนหมัดเด็ดนั้น คือการนำทัพเอสเอ็มอีไทยสู่ตลาดโลก เชื่อมโยงระหว่างเอสเอ็มอีไทยกับต่างชาติ เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือและถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยจะสร้างแพลตฟอร์ม (T–Goodtech) หรือระบบเชื่อมโยงธุรกิจและผู้ประกอบการไทย ที่จะช่วยให้เกิดการจับคู่ออนไลน์ (B2B) ระหว่างผู้ประกอบการไทยตั้งแต่ระดับต้นน้ำ ปลายน้ำ 1,400 รายกับเอสเอ็มอีในต่างประเทศ เริ่มจับคู่กับแพลตฟอร์ม J–Goodtech ของประเทศญี่ปุ่น และเขตปกครองพิเศษฮ่องกง (H–Goodtech) ซึ่งจะทำให้สินค้าเอสเอ็มอีไทยมีความน่าเชื่อถือในระดับโลกได้มากขึ้น
รับมือหุ่นยนต์ทุบหม้อข้าวแรงงาน
นอกจากการสนับสนุนเอสเอ็มอีแล้ว รัฐบาลยังต้องการผลักดันให้เกิดการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ฐานการลงทุนด้านอุตสาหกรรมของโลกที่เน้นการเพิ่มมูลค่า มีนวัตกรรมเทคโนโลยีการผลิตในระดับสูงบนเวทีโลก ผ่านพื้นที่อีอีซี
ล่าสุด ได้จัดทำแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่จะเป็นการสนับสนุนทั้งในส่วนของการใช้งานหุ่นยนต์และการผลิตหุ่นยนต์ โดยในแผน 5 ปีข้างหน้าคาดว่าจะมีการลงทุนในระบบ 200,000 ล้านบาท มีการใช้หุ่นยนต์ในโรงงานมากกว่า 50% ของจำนวนโรงงานในประเทศ หรือการใช้งานหุ่นยนต์ 30% ของกำลังแรงงานในขณะนี้
“ในส่วนของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ผมกล้าฟันธงเลยว่า ไม่ช้าหรือเร็วต้องมา ขณะนี้นำร่องโดยบริษัท โตโยต้า จำกัด ประกาศลงทุน 20,000 ล้านบาท และอีก 2 ค่ายยักษ์ใหญ่ที่อยู่ระหว่างการเตรียมตัวคือ มาสด้าและนิสสัน รวมทั้งค่ายรถยนต์จากต่างประเทศ อาทิ เทสล่า เป็นต้น”
เมื่อมีการใช้หุ่นยนต์ในกระบวนการผลิตมากขึ้น มีคำถามเกิดขึ้นว่าจะมีการปลดแรงงานหรือไม่ เรื่องนี้ได้เตรียมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมกับผู้ประกอบการทุกกลุ่ม ตั้งแต่เอสเอ็มอีไปจนถึงกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยจะนำแรงงานไปอบรม เพิ่มทักษะความรู้ใหม่ๆให้พร้อมที่จะก้าวไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆที่ขาดแคลนแรงงาน หรือยกระดับความสามารถของแรงงานให้อยู่ในอุตสาหกรรมเดิมได้
เพื่อให้แรงงานคนสามารถเดินไปพร้อมๆกันกับการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแห่งโลกอนาคต!!!!!
ทีมเศรษฐกิจ