นายมนูญ ศิริวรรณ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศพลังงาน กล่าวในการเปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ครั้งที่ 1 ว่า ข้อเสนอแนวทางปฏิรูปฯจะแบ่งเป็น 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐอย่างเป็นทางการในรูปคณะที่ปรึกษาหรือคณะกรรมการภาคประชาสังคม โดยมีคำสั่ง รมว.พลังงานรองรับ 2.ให้ประชาชนมีส่วนร่วมเลือกพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้า ทั้งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยรัฐบาลกำหนดเกณฑ์การออกประกาศเชิญชวนให้ประชาชนเสนอที่ตั้งโรงไฟฟ้า และเสนอให้มีการกำหนดสิทธิประโยชน์จากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพิ่มเติมจากที่ได้รับในปัจจุบัน โดยเปิดให้เสนอได้ตามความต้องการของพื้นที่
3.ต้องการให้มีแนวทางการจัดสรรค่าภาคหลวงปิโตรเลียมไปสู่ชุมชนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเจาะจงในพื้นที่ตั้งของแหล่งปิโตรเลียมนั้นให้มากขึ้น โดยควรยกเลิกส่งค่าภาคหลวงให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในจังหวัดที่ตั้งของปิโตรเลียม แต่ให้นำเงินส่งให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือเทศบาลในพื้นที่ผลิต 20% ให้ อบต.หรือเทศบาลจังหวัดของพื้นที่ตั้งปิโตรเลียม 20% และให้ อบต.ทั่วประเทศ 15%
4.ส่งเสริมและสร้างธรรมาภิบาลการบริหารจัดการองค์กร ลดความซ้ำซ้อนในตำแหน่งราชการกับรัฐวิสาหกิจ ให้เอกชนเปิดเผยตัวเงินที่จ่ายให้รัฐบาลระหว่างการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ขณะที่รัฐบาลต้องเปิดรายได้จากเอกชน และมีกรรมการกลางตรวจสอบ รวมทั้งต้องการให้กำหนดบทบาทของเอ็นจีโอและประชาชน ควรมีการแสดงเอกสารหลักฐานชัดเจนก่อนเข้ามีส่วนร่วมกับภาครัฐ
นายมนูญกล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นการจัดทำของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานที่อยู่ในคณะทำงาน 11 ด้านของกรรมการปฏิรูปประเทศ ได้จัดทำข้อเสนอด้านการปฏิรูปฯ หลังรับฟังความเห็นเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อบังคับใช้ช่วงเดือน เม.ย. 2561 ระยะเวลาบังคับใช้แผน5ปี.