นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ....ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอโดยได้รับเอาข้อเสนอของ ครม.ที่ได้เสนอแนะให้มีการปรับปรุงรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.เพื่อให้โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นไปในแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ หลัง ครม.ให้ความเห็นชอบแล้วจะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป คาดว่าจะใช้เวลา 5 เดือน ก่อนที่กฎหมายจะมีการบังคับใช้อย่างเป็นทางการ แต่ในช่วงนี้การขับเคลื่อนนโยบายอีอีซียังดำเนินต่อไปตามปกติ โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่ให้นำกฎหมายบางมาตราของ พ.ร.บ.ฉบับนี้มาบังคับใช้ก่อน
ด้านนายกลินทร์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนมองว่า อีอีซีจะเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศ และเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนที่ทำให้ไทยเติบโตได้ต่อเนื่อง แต่ยังมีข้อกังวล เช่น การเตรียม ความพร้อมด้านกำลังคนรองรับการลงทุนในอนาคต และการบูรณาการของหน่วยงานรัฐในการให้บริการวันสต๊อปเซอร์วิส โดยจะนำข้อกังวลนี้ไปหารือกับทีมอีอีซีของรัฐบาลสัปดาห์หน้า
นายโซจิ ซาคาอิ ประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ กล่าว ว่า หลังกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (เมติ) พาคณะนักธุรกิจญี่ปุ่นมาเยือนไทย พบว่าสมาชิกหอการค้าญี่ปุ่น 40% สนใจลงทุนในไทยและอีอีซี คาดว่าจะเกิดการจับคู่ธุรกิจอย่างน้อย 2,000 คู่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องการเชื่อมโยงการผลิตไปยังประเทศอื่นทั่วโลก เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ที่ใช้ในอุตสาหกรรม, อุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมเฮลต์แคร์ แต่ยังมีสิ่งที่นักลงทุนญี่ปุ่นกังวล เช่น การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้เสร็จตามกำหนดที่ชัดเจน, การพัฒนาบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาลงทุนในอีอีซี และการกำหนดนโยบายส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการลงทุน ซึ่งเร็วๆนี้ หอการค้าญี่ปุ่นจะหารือกับรัฐบาลไทยเรื่องนี้ หากทุกอย่างมีความชัดเจนขึ้นจะสนับสนุนให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น.