“บอลไทย” วาดหวังจะไปบอล โลกได้ฉันใด... “ยางไทย” ก็ตั้งฝันจะโกอินเตอร์ได้อย่างมั่นคงยั่งยืนได้ไม่ต่างกัน
ด้วยในปัจจุบันมีการนำมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมาใช้เป็นมาตรฐานในการรับซื้อสินค้ามากขึ้น ที่สำคัญหลายๆประเทศก็เริ่มให้ความสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วยเช่นกัน
“FSC (Forest Stewardship Council)”...เป็นอีกมาตรฐานหนึ่งที่นานาชาตินำมาใช้กับไม้และป่าไม้ ล่าสุดประเทศสหภาพยุโรป (อียู) ญี่ปุ่นและหลายๆประเทศ ได้ประกาศว่า...อีก 3 ปี ข้างหน้าจะไม่รับซื้อไม้...ผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพารา รวมทั้งผลผลิต...ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยาง ที่การจัดการสวนยางพาราไม่ได้รับมาตรฐาน FSC
ให้เข้าใจตรงกันเสียก่อนว่า “FSC” ที่ว่านี้เป็นองค์กรเอกชน (NGO) ที่ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่ม NGO ต่างๆทั่วโลก อาทิ กลุ่มนักอนุรักษ์ป่าไม้และสิ่งแวดล้อม ผู้ค้าไม้ ผู้ผลิตสินค้าจากไม้ กลุ่มชนพื้นเมือง องค์กรชุมชนท้องถิ่น สมาคมป่าชุมชน...โดยไม้ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน FSC จะต้องเป็นไม้หรือผลิตภัณฑ์จากไม้ที่มีระบบ “การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน” ซึ่งจะไม่ใช่ไม้ที่มาจากป่าธรรมชาติ แต่เป็นไม้หรือผลิตภัณฑ์จากไม้ที่ได้จากป่าปลูกที่มีการจัดการป่าไม้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ...เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
แม้ว่ามาตรฐาน FSC ยังไม่ได้บังคับใช้ในขณะนี้ แต่เรายังมีเวลาอีก 3 ปี ในการปรับปรุงพัฒนาการทำสวนยางให้ได้มาตรฐาน ซึ่งขณะนี้มีสวนยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) 18 ล้านไร่ และมีสวนยางที่ผ่านมาตรฐาน FSC แล้วประมาณ 50,000 ไร่
ด้วยเวลาที่บีบรัดเข้ามาทุกขณะ ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ กยท. มองว่า มาตรฐาน FSC จะเริ่มบังคับใช้ในปี 2563 แต่ไม่ได้บังคับใช้ทุกประเทศ ประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกยางรายใหญ่ของไทยยังไม่ได้มีท่าทีที่จะนำมาตรฐานดังกล่าวมาบังคับใช้...ที่ประกาศใช้ชัดเจน จะเป็นสหภาพยุโรป และประเทศญี่ปุ่น
ประเด็นสำคัญมีว่า...ถ้ามีการนำมาตรฐาน FSC มาบังคับใช้ ประเทศไทยน่าจะได้รับอานิสงส์มากกว่า เพราะการใช้มาตรฐานนี้ไม่ได้เลือกปฏิบัติ แต่บังคับกับประเทศผู้ผลิตยางทั่วโลก รวมถึงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม ด้วย
“ประเทศเหล่านี้ยังมีการตื่นตัวในเรื่องการทำสวนยางให้ได้ตามมาตรฐานสากล FSC น้อยกว่าประเทศไทยมาก ระยะเวลา 3 ปี...เพียงพอสำหรับพัฒนา ปรับปรุงสวนยางทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนไว้”
ดร.ธีธัช ย้ำว่า การทำสวนยางของเกษตรกรในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นไปตามมาตรฐาน FSC อยู่แล้ว มีการพัฒนาปรับปรุง หรือปรับเปลี่ยนไม่มาก กยท.ได้นำร่องดำเนินการในพื้นที่สวนยางพาราในพื้นที่ภาคใต้แล้วราวห้าหมื่นไร่ ถือว่าประสบผลสำเร็จ กำลังจะขยายผลไปดำเนินการในพื้นที่ภาคอื่นๆให้ครบทันภายในปี 2563 นี้แน่นอน
มองไปไกลในอนาคตจะมีการตื่นตัวในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกันมาก เน้นในเรื่อง...กรีนเทคโนโลยี วัตถุดิบ ผลผลิตทั้งหมดจะต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และไม่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
ที่สำคัญ “FSC”...จะไม่ครอบคลุมแค่ไม้ยางเท่านั้น แต่จะรวมไปถึงผลิตภัณฑ์อื่นที่มาจากยางพารา ไม่ว่าจะเป็นน้ำยาง ยางแผ่น ต่อเนื่องไปถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยาง เช่น ยางล้อรถยนต์ ถุงมือยาง ที่นอนยางพารา หมอนยางพารา...ทั้งนี้ จะต้องใช้วัตถุดิบที่ได้มาจากสวนยางที่ได้รับมาตรฐานสากล FSC เท่านั้น
ณรงค์ศักดิ์ ใจสมุทร หัวหน้ากองสวัสดิการเกษตรกร กยท. เสริมว่า หลักการของการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนตามมาตรฐาน FSC นั้นจะต้องดำเนินกิจกรรมให้สอดคล้อง...เกื้อหนุนสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ
หลักการสำคัญๆ หนึ่ง...การจัดการป่าไม้ต้องมีความสอดคล้องกับกฎหมายและหลักเกณฑ์ของ FSC เช่น จะต้องไม่ละเมิดกฎหมาย ต้องเสียภาษีที่ดินให้หน่วยงานปกครองท้องถิ่น ปฏิบัติตามกฎหมายอื่นๆ
สอง...การจัดการป่าไม้ต้องมีความชัดเจนในเรื่องของการถือครองที่ดิน สิทธิในการจัดการทรัพยากรในที่ดินจะต้องมีหลักฐานที่ดินถูกต้องตามกฎหมาย สัญญาเช่า หนังสือมอบอำนาจ สัญญาซื้อ-ขาย
และที่สำคัญ...ต้องไม่อยู่ในเขตป่าสงวน หรือที่ดินสาธารณะอื่นๆ
สาม...การจัดการป่าไม้ต้องให้ความเคารพในสิทธิของชนพื้นเมือง คนท้องถิ่น พื้นที่ใกล้เคียงสวนป่า...สถานที่สำคัญ เช่น ศาสนสถาน โรงเรียน แหล่งโบราณคดี ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่น
สี่...การจัดการป่าไม้ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน ตลอดจนตระหนักในสิทธิของคนงาน พิจารณาการจ้างงานแก่คนในชุมชนรอบข้างก่อน มีกิจกรรมร่วมกับชุมชน มีการอบรมการใช้สารเคมีอย่างถูกวิธีให้กับคนงาน มีอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยให้กับคนงาน จ่ายค่าแรง...ค่าจ้างอย่างเป็นธรรม มีสวัสดิการตามที่กฎหมายกำหนด
ห้า...การจัดการป่าไม้ต้องมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากป่าอย่างมีประสิทธิภาพ...เหมาะสม ใช้ประโยชน์จากสวนป่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการสูญเสียผลผลิต เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ไม่กระทบต่อสังคม...สิ่งแวดล้อม
หก...การจัดการป่าไม้ต้องมีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รักษาความสมดุลทางนิเวศ ไม่ให้มีการล่าสัตว์ป่า หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีอันตราย...กำจัดสารเคมีที่ใช้แล้วอย่างเหมาะสม ถูกต้องตามหลักวิชาการ
เจ็ด...การจัดการป่าไม้ต้องมีการจัดทำแผนการบริหารจัดการกิจกรรมต่างๆให้ครอบคลุมเป็นลายลักษณ์อักษร และมีการปรับปรุงอยู่เสมอ โดยจะต้องมีการกำหนดเกี่ยวกับเป้าหมายในการจัดการ การตัดไม้ การลงทุน การป้องกันสภาพแวดล้อม การป้องกันพืชสัตว์หายาก มีแผนการติดตามตรวจตราแก้ไขผลกระทบด้านต่างๆ
แปด...การจัดการป่าไม้ต้องมีการตรวจติดตามและตรวจประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะต้องกระทำอย่างสม่ำเสมอเกี่ยวกับผลผลิตไม้ อัตราการเจริญเติบโต การเปลี่ยนแปลงของพืช สัตว์ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม...สังคม ตลอดจนขบวนการควบคุมการเคลื่อนย้ายของสินค้าจากไม้ที่ได้รับการรับรองแล้ว
เก้า...การจัดการสวนป่าต้องดำรงไว้และส่งเสริมคุณค่าของป่าอนุรักษ์ในพื้นที่ไม่ให้มีผลกระทบใดๆ มีการจัดทำบัญชีรายชื่อพันธุ์พืชป่า สัตว์ป่าในพื้นที่ จัดทำแผนที่ป่าอนุรักษ์ประเภทต่างๆในพื้นที่ ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการอนุรักษ์ และ สิบ...การจัดการป่าไม้ต้องมีการปลูกทดแทนในพื้นที่ที่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว โดยจะต้องวางแผนและจัดการกับพื้นที่สวนป่าให้สอดคล้องกับหลักการรายละเอียดข้อที่ 1-9
ณรงค์ศักดิ์ ย้ำว่า หลักการทั้ง 10 ข้อข้างต้นหลายข้อ เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท.แทบจะไม่ต้องปฏิบัติอะไรเลยก็ผ่านแล้ว เพียงแต่ทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย...ระเบียบต่างๆเท่านั้น ส่วนหลักการบางข้อเพียงแค่เกษตรกรศึกษาเรียนรู้ เข้าอบรมหลักสูตรกับ กยท. ก็สามารถปฏิบัติได้ทันที...ไม่ยากเกินกว่าที่จะปฏิบัติได้
สำหรับหน่วยงานที่ออกใบการรับรองมาตรฐาน FSC ในประเทศไทยนั้น มีสถาบันเอกชนที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ 3 แห่ง...ซึ่งอาจจะต้องเพิ่มบุคลากรในการตรวจรับรอง เพื่อรองรับการขอที่เพิ่มสูงขึ้นในเร็วๆนี้
จตุพงษ์ ลิขิต เกษตรกรชาวสวนยาง บ้านห้วยยาง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เจ้าของสวนยางที่ได้รับมาตรฐาน FSC จำนวน 60 ไร่ เล่าให้ฟังว่า การพัฒนาสวนยางให้ได้รับมาตรฐาน FSC นั้นไม่ยาก หลายข้อเป็นเรื่องที่ปฏิบัติอยู่แล้ว เพียงแค่มีความตั้งใจก็สามารถดำเนินการได้ทันที และที่สำคัญไม่ได้ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น
ตรงข้าม...ยิ่งทำก็ยิ่งทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น สามารถกรีดยางได้ยาวนานขึ้น ตอนนี้สวนยางมีอายุ 20 ปีแล้ว แต่ยังให้ผลผลิตสูง ยังสามารถกรีดได้อีก 10 ปี ถึงจะโค่น และมีผู้ค้าโรงเลื่อยมาจองไม้ยางที่จะโค่นแล้วทั้งๆที่ยังไม่ถึงเวลาโค่น แถมจะให้ราคาสูงกว่าราคาท้องตลาดเสียด้วย
มาตรฐาน FSC...เป็นทางรอดอย่างยั่งยืนที่เกษตรกรสวนยางไม่ควรมองข้าม หมายถึงโอกาสที่จะขายยางได้ในราคาที่สูงกว่าราคาปกติ...มีตลาดรองรับที่แน่นอน ไม่ต้องมากังวลในเรื่องของราคายาง.