การรถไฟแห่งประเทศไทย เดินหน้าเปิดเวทีระดมความเห็นชาวชลบุรี ศึกษารถไฟไร้รอยต่อ เชื่อม 3 สนามบินหลัก งบ 2.8 แสนล้าน เติมเต็มโครงข่ายคมนาคมขนส่งครบวงจรรองรับ EEC พร้อมเปิดเอกชนลงทุนปี 2561 แล้วเสร็จปี 2566 ..
นายภวัต เลิศมุกดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานเปิดการประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) งานศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสม ที่โรงแรมเอเชียพัทยา อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เพื่อนำเสนอข้อมูลรายละเอียดโครงการ แนวเส้นทางโครงการ รูปแบบการก่อสร้าง และประโยชน์ของโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษา และสื่อมวลชน เข้าร่วมการสัมมนากว่า 300 คน
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ เป็นหนึ่งในแผนงานสำคัญด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและโลจิสติกส์ที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ทั้งทางถนน ทางราง ทางอากาศ และทางน้ำ โดยในส่วนของระบบราง (Rail) ได้รับการบรรจุไว้ในแผนการดำเนิน ในปีงบประมาณ 2560-2561 จำนวน 5 แผน ได้แก่ 1.โครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-ระยอง ระยะทาง 193.5 กม. 2.รถไฟเชื่อมต่อท่าอากาศยานดอนเมือง-ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ระยะทาง 50.5 กม. และ 3.รถไฟรางคู่ช่วง ฉะเชิงเทรา-แก่งคอย และการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอู่ตะเภา
อย่างไรก็ตาม พบว่าหลายโครงการมีความซ้ำซ้อน และสามารถเชื่อมต่อเพื่อให้เข้าสู่ระบบเดียวกันได้ จึงได้นำโครงการที่เกี่ยวข้องมาผนวกรวมกัน พร้อมนำเสนอแผนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-พัทยา-มาบตาพุด รวมทั้งการปรับปรุงสถานีหลักที่มักกะสัน ให้กลายเป็น EEC Gateway ที่มีความสมบูรณ์พร้อมในทุกด้าน
สำหรับรูปแบบโครงสร้างของโครงการนั้นจะใช้รางของระบบ Airport Link เดิมบางส่วน ซึ่งมีขนาดความกว้างของรางที่ 1.435 เมตร (standard Gauge) 2 ช่วง คือ พญาไท-ดอนเมือง และลาดกระบัง-ระยอง ซึ่งสามารถรองรับการใช้งานกับรถไฟฟ้าความเร็วสูงได้ เพียงแต่อาจใช้ความเร็วได้เฉลี่ย 160 กม./ชม. ก่อนต่อเชื่อมรางเพื่อให้ครบตามเส้นทางที่กำหนดที่จะทำให้รถมีความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม. ก่อนมีการเปิดใช้ต่อไป โดยการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง
นายจุลเทพ จิตสมบัติ วิศกรศูนย์ปรับปรุงทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย เผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อนั้น ได้มีการศึกษาและจัดทำรายงานไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคสังคม เพื่อนำมาบรรจุรวมในแผน ก่อนจะนำเสนอต่อคณะทำงานของ EEC ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อพิจารณาอนุมัติ ซึ่งคงจะสามารถนำเสนอได้ภายในช่วงเดือนกันยายนนี้ จากนั้นก็จะมีการเปิดประมูลให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุน ในงบประมาณกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งตามแผนแล้วการดำเนินการโครงการดังกล่าว จะเริ่มการก่อสร้างในปี 2561 และจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการก่อสร้างประมาณ 5 ปี โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2566.