นายภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สถาบันอิโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต หรืออีไอยู ในประเทศอังกฤษ จัดอันดับดัชนีความมั่นคงทางอาหารโลก (จีเอฟเอสไอ) ปี 59 จาก 113 ประเทศทั่วโลก โดยคิดจากองค์ประกอบ 3 ด้าน คือ 1.ความพอเพียงของอาหาร 2.ความสามารถในการหาซื้ออาหาร และ 3.คุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร ซึ่งพบว่าไทยมีคะแนนรวมอยู่ที่ 59.5 คะแนน สูงขึ้นจากปี 58 ประมาณ 0.5 คะแนน หรือคิดเป็นอันดับที่ 51 ของโลก โดยมีสหรัฐอเมริกา ครองอันดับ 1 รองลงมา คือ ไอร์แลนด์ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์
อย่างไรก็ตาม หากคิดคะแนนเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน 9 ประเทศ (ไม่รวมบรูไน) ไทยอยู่อันดับ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ ที่มีคะแนน 83.9 คะแนน และมาเลเซีย ที่มีคะแนน 69 คะแนน ทั้งนี้แม้วิกฤติอาหารโลก จะดูเหมือนไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย เนื่องจากไทยสามารถผลิตอาหารเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ และยังเป็นผู้ผลิตสินค้าส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ จนขึ้นเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สับปะรดกระป๋อง อันดับ 1 ของโลก ข้าวและน้ำตาล อันดับ 2 ของโลก กุ้ง อันดับ 3 ของโลก และไก่เนื้อ อันดับ 4 ของโลก แต่ประเทศไทยก็ยังมีความเสี่ยงหลายด้านที่อาจกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะการกระจายรายได้ที่มีการกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มคนส่วนน้อยของประเทศ ทำให้คนกลุ่มใหญ่ที่มีรายได้ไม่มากเข้าถึงอาหารที่ดีมีประโยชน์ได้ยากขึ้น
สำหรับภาคการตลาดมีแนวโน้มว่า บริษัทขนาดใหญ่ข้ามชาติจะเข้ามาครอบครองและผูกขาดกลไกการกระจายอาหารมากขึ้น จากการขยายตัวของกิจการร้านสะดวกซื้อ ที่เข้ามาแทนที่ตลาดสด ตลาดนัด และร้านขายของชำขนาดเล็ก รวมถึงปัญหาของการใช้ที่ดินทางการเกษตร และระบบน้ำ ทั้งนี้ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงความมั่นคงทางอาหาร ภาครัฐควรออกมาตรการเชิงนโยบาย โดยออกกฎหมายหรือมีมาตรการคุ้มครองที่ดินเพื่อการเกษตรเพื่อไม่ให้ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นนอกจากการเกษตร และไม่อนุญาตให้ต่างชาติเข้าครอบครองที่ดินทั้งทางตรงและทางอ้อม.