ญี่ปุ่นนำเนื้อโกเบ เนื้อทาจิมะ เมลอนยูบาริ รุกจดคุ้มครองจีไอในไทย ด้านไทย เตรียมยื่น 4 สินค้าใหม่ขอจดจีไอในตลาดต่างประเทศ อาทิ ผ้าไหมยกดอกลำพูน ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ หวังสร้างมูลค่าสินค้าส่งออก...
น.ส.วันเพ็ญ นิโครวนจำรัส รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะตัวแทนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อประชุมหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรป่าไม้และประมงของญี่ปุ่น ถึงการขยายความร่วมมือด้านสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) ของญี่ปุ่นและไทย พร้อมทั้งตรวจสอบกระบวนการผลิตสินค้าจีไอของญี่ปุ่น ได้แก่ เนื้อโกเบ เนื้อทาจิมะ และเมลอนยูบาริ ที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนสินค้าจีไอในไทย
“ขณะนี้คำขอขึ้นทะเบียนสินค้าจีไอทั้ง 3 รายการ อยู่ระหว่างผู้ยื่นดำเนินการแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องตามพ.ร.บ.คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เมื่อได้รับข้อมูลเพิ่มเติมครบถ้วน กรมจะตรวจสอบคำขออีกครั้ง แล้วประกาศโฆษณาเป็นเวลา 90 วัน หากไม่มีผู้ใดคัดค้าน จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าจีไอในไทยต่อไป”
สำหรับลักษณะเด่นของสินค้าจีไอทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ เนื้อทาจิมะ เป็นเนื้อวัวคุณภาพสูง มีความนุ่ม และมีไขมันคุณภาพดี ผลิตจากลูกวัวทาจิมะที่เกิดมาจากพ่อพันธุ์วัวทาจิมะที่เลี้ยงในจังหวัดเฮียวโงะเท่านั้น ลูกวัวทาจิมะจะถูกเลี้ยงอย่างอุดมสมบูรณ์จนมีอายุอย่างน้อย 28 เดือน ก่อนที่จะนำมาผลิตเป็นเนื้อวัวได้ ส่วนเนื้อโกเบ เป็นเนื้อวัวคุณภาพสูง มีเนื้อละเอียด นุ่ม มีไขมันสีขาวคล้ายหินอ่อนแทรกอยู่ หรือที่เรียกว่า “ชิโมฟูริ” ซึ่งเป็นเนื้อคุณภาพสูงที่สุด เนื้อโกเบผลิตจากลูกวัวทาจิมะที่เกิดมาจากพ่อพันธุ์วัวทาจิมะที่เลี้ยงในจังหวัดเฮียวโงะเท่านั้น ลูกวัวทาจิมะจะถูกเลี้ยงอย่างอุดมสมบูรณ์จนมีอายุ 28-60 เดือน ก่อนที่จะนำมาผลิตเป็นเนื้อวัวได้
ขณะที่เมลอนยูบาริ เป็นเมลอนพันธุ์ยูบาริคิง ที่มีเนื้อสีส้ม อ่อนนุ่ม มีรูปทรงกลมรี มีเปลือกสีเทาเขียวลายตาข่ายเมื่อเก็บเกี่ยว และเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเมื่อถึงเวลาพร้อมรับประทาน มีกลิ่นหอม รสชาติหวานฉ่ำ มีปริมาณเส้นใยต่ำ และต้องมีปริมาณน้ำตาลตั้งแต่ 10% ขึ้นไป โดยจะต้องปลูกในพื้นที่เมืองยูบาริ จังหวัดฮอกไกโดเท่านั้น
ส่วนการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสินค้าจีไอของไทยในต่างประเทศในปี 60 กรมได้ยื่นคำขอ 3 คำขอ ได้แก่ มะขามหวานเพชรบูรณ์ ที่เวียดนาม ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน ที่เวียดนาม และกาแฟดอยตุง ที่กัมพูชา และอยู่ระหว่างการพิจารณายื่นคำขอจดทะเบียนจีไออีก 4 สินค้า คือ ผ้าไหมยกดอกลำพูน ที่อินเดีย ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง และมะขามหวานเพชรบูรณ์ ที่จีน ส่วนที่ญี่ปุ่น คาดว่าจะยื่นคำขอกาแฟดอยตุง ในปี 61
“การยื่นคำขอจดทะเบียนสินค้าจีไอในต่างประเทศ มีผลดีต่อสินค้าที่ต้องการส่งออกไปต่างประเทศ เพราะนอกจากจะเป็นการยืนยันถึงคุณภาพ และมาตรฐานว่าเป็นสินค้าจากแหล่งกำเนิดนั้นๆ แล้ว ยังสามารถผลักดันเข้าไปเจาะตลาดในกลุ่มประเทศยุโรป ที่นิยมสินค้าจีไอได้เป็นอย่างดี จนมีการพัฒนากฎหมายจีไอที่เข้มแข็งมารองรับ ซึ่งกรมได้เห็นความสำคัญในส่วนนี้ และดำเนินการส่งเสริมการจดทะเบียนสินค้าจีไอในอียู ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง และข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง และได้รับจดทะเบียนแล้ว”.