หนี้ ธปท.ไม่ใช่หนี้สาธารณะ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

หนี้ ธปท.ไม่ใช่หนี้สาธารณะ

Date Time: 18 ก.ค. 2560 05:01 น.

Summary

  • สบน. แจงเหตุแก้ไข พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ หวังให้การบริหาร และนับหนี้ของไทยเป็นสากลมากขึ้น ยันไม่นับรวมหนี้ ธปท.เป็นหนี้สาธารณะ เพราะไม่มีประเทศใดในโลกนับรวมหนี้ภาคการเงินด้วย นับเฉพาะหนี้ภาคการคลังเท่านั้น

Latest

กนง.ลดดอกเบี้ย 0.25% เบาภาระหนี้ครัวเรือน ยันไร้แรงกดดันการเมือง ชี้รับฟังทุกฝ่าย

สบน.ยันแก้กฎหมายหวังความเป็นสากล

สบน. แจงเหตุแก้ไข พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ หวังให้การบริหาร และนับหนี้ของไทยเป็นสากลมากขึ้น ยันไม่นับรวมหนี้ ธปท.เป็นหนี้สาธารณะ เพราะไม่มีประเทศใดในโลกนับรวมหนี้ภาคการเงินด้วย นับเฉพาะหนี้ภาคการคลังเท่านั้น ย้ำชัดตัดหนี้ ธปท.ออก ไม่ทำให้หนี้สาธารณะลดลง พร้อมทำแผนกู้เงินรถไฟไทย–จีนก้อนแรก 1.7 พันล้านบาท

นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยถึงการแก้ไข พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะว่า ล่าสุดอยู่ระหว่างการส่งเรื่องไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาก่อนให้มีผลบังคับใช้ต่อไป สำหรับสาระของการแก้ไขมี 3 ประเด็น คือ 1.แก้ไขนิยาม “หนี้สาธารณะ” โดยไม่นับรวมหนี้ของหน่วยงานภาคการเงิน ได้แก่ หนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหนี้รัฐวิสาหกิจ ที่ทำธุรกิจบริหารสินทรัพย์และธุรกิจประกันสินเชื่อที่กระทรวงการคลังไม่ได้ค้ำประกัน และแก้ไขนิยาม “รัฐวิสาหกิจ” โดยตัดรัฐวิสาหกิจประเภท (ค) ได้แก่ บริษัท จำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด 2.ปรับปรุงมาตรการกำกับดูแลหนี้สาธารณะ เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มีส่วนร่วมพิจารณาแผนกู้เงิน และบริหารหนี้รัฐวิสาหกิจ 3.ปรับปรุงการดำเนินงานของกองทุนบริหารเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ (กองทุนฯ) โดยขยายกรอบการลงทุนให้มากขึ้น

สำหรับหนี้เงินกู้ของ ธปท. ไม่นับเป็นหนี้สาธารณะตามกฎหมายการบริหารหนี้สาธารณะตั้งแต่แรก เพราะ ธปท.เป็นรัฐวิสาหกิจ ทำธุรกิจให้กู้ยืมเงิน โดยกระทรวงการคลังมิได้ค้ำประกัน แต่เนื่องจากปี 51 ธปท.แก้ไขกฎหมาย ทำให้ ธปท.เปลี่ยนสถานะจากรัฐวิสาหกิจมาเป็นหน่วยงานรัฐ ส่งผลกระทบต่อสถานะและการนับหนี้ของ ธปท. ภายใต้กฎหมายนี้ จึงต้องแก้ไขกฎหมายประเด็นดังกล่าวให้ชัดเจน และโดยหลักการแล้วหนี้เงินกู้ของ ธปท.เกิดจากการออกพันธบัตร และการดูดซับสภาพคล่องของระบบการเงิน เพื่อดำเนินนโยบายการเงินในฐานะธนาคารกลาง ไม่ได้นำมาลงทุน จึงไม่นับเป็นหนี้สาธารณะอยู่แล้ว สอดคล้องกับหลักปฏิบัติของธนาคารกลางทั่วไป โดย ณ สิ้นเดือน พ.ค.60 ธปท.มีหนี้เงินกู้ 4.26 ล้านล้านบาท ส่วนหนี้สาธารณะคงค้าง มี 6.347 ล้านล้านบาท คิดเป็น 42.90% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นสุทธิ 79,903 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

“พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ที่ตัดหนี้ ธปท.ออก ไม่มีผลทำให้หนี้สาธารณะลดลง แต่แก้ไขคำนิยามหนี้สาธารณะให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะปี 48 ที่กำหนดว่า หนี้สาธารณะเกิดจากภาคการคลัง ไม่นับหนี้ภาคการเงิน ซึ่งการแก้ไขกฎหมายจึงเป็นไปตามหลักสากล และที่ผ่านมา ไม่มีประเทศไหนนับหนี้ภาคการเงินของธนาคารกลางเป็นหนี้สาธารณะด้วย ส่วนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯตามนิยาม ถือเป็นนิติบุคคล ถือเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงนับหนี้กองทุนฯเป็นหนี้สาธารณะด้วย”

นายธีรัชย์กล่าวอีกว่า ในเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ สบน.จะลงนามในสัญญาเงินกู้ 1,700 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่าศึกษาการออกแบบก่อสร้าง และค่าใช้จ่ายในโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 1 (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) วงเงินรวม 179,413 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หลังจากมีความชัดเจนเรื่องไทม์ไลน์การก่อสร้าง รายละเอียดของแบบ และการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว สบน.จึงจะพิจารณาแนวทางกู้เงินทั้ง 179,413 ล้านบาท โดยพิจารณาจากสภาพคล่องในประเทศเป็นอันดับแรก คาดว่า สภาพคล่องของไทยรองรับการกู้เงินในประเทศได้ 70-80% ของเงินลงทุนรวม.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ