จัดระเบียบแรงงานต่างด้าวทำงานเข้าถ้วนหน้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส ได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบจากพระราชกำหนด (พรก.) การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวปี 2560 ที่มีต่ออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน กับผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากสุดคือ บริษัทรับเหมาก่อสร้าง เพราะมีการใช้แรงงานสูงราว 20-30% ของต้นทุนรวมและในจำนวนนี้เป็นแรงงานต่างด้าว (ที่ทำงานโยธาและไม่ใช่งานฝีมือ) สูงถึง 70-90% จึงอาจเกิดผลกระทบระยะสั้นระหว่างการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว
ส่วนกลุ่มที่คาดว่าได้รับกระทบรองลงมาคือ เกษตร-อาหาร ที่แม้จะใช้เครื่องจักรเป็นหลัก และใช้แรงงานบางส่วนในอัตราราว 10% ของต้นทุนการผลิต โดยบางบริษัทมีการใช้แรงงานต่างด้าวในสัดส่วนสูง เช่น บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (TU) ใช้แรงงานต่างด้าวสูง 90% ของคนงานทั้งหมด (ต้นทุนแรงงานคิดเป็น 7% ของต้นทุนทั้งหมด) แต่ TU เผยว่าได้ใช้แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.59 ทำให้ต้นทุนค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว จึงน่าจะได้รับผลกระทบในวงจำกัด ขณะที่ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์ (CPF) ใช้แรงงานต่างด้าวราว 30% ของแรงงานทั้งหมด (ต้นทุนแรงงานคิดเป็น 13% ของต้นทุนรวม) แต่ CPF เองมีการใช้แรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายอยู่แล้ว ต้นทุนค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ จึงประเมินผลกระทบค่อนข้างจำกัดเช่นกัน
ส่วนผลกระทบต่อกลุ่มธุรกิจอื่นๆนั้น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเมินว่าใน 100% ของต้นทุนเป็นต้นทุนค่าแรงงาน 25% แต่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่ามีสัดส่วนการใช้แรงงานต่างด้าวมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตามกลุ่มบริษัทผู้พัฒนาอสังหาฯส่วนใหญ่มีการว่าจ้างบริษัทรับเหมาโดยใช้วิธี Outsource ดังนั้นหากผู้รับเหมาเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน ย่อมส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการก่อสร้างโครงการ อย่างไรก็ตาม การใช้อำนาจตาม ม.44 ของภาครัฐฯ ที่ให้ชะลอการบังคับใช้พ.ร.ก. แรงงานต่างด้าวออกไปอีก 180 วันจนถึง 31 ธ.ค.จะช่วยให้ทั้งผู้ประกอบการและแรงงานมีเวลาปรับตัวเพื่อบริหารจัดการแรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมายถือเป็นการลดผลกระทบเมื่อถึงเวลาที่กฎหมายมีผล.