นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม เปิดเผยในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ วันนี้ (25 มีนาคม 2568) ว่า ตามที่นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคประชาชนได้กล่าวหาถึงกรณีการแก้สัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ว่า ให้เอกชนได้รับสัมปทานไปก่อน แล้วมาแก้สัญญาภายหลัง มีการวางแผนการนี้ไว้ล่วงหน้า เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนคู่สัญญา โดยระบุว่า เป็นการพยายามสร้างเรื่องราวบิดเบือนข้อเท็จจริง โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นในยุครัฐบาลก่อนและขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการชุดต่างๆ อีกทั้งยังไม่ได้เสนอไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องมีการพิจารณาร่วมกันอีกหลายหน่วยงานเพื่อให้รัฐไม่เสียประโยชน์ ส่วนที่อภิปรายว่า มีการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนคู่สัญญา หรือ มีผู้ใหญ่เป็นคนสั่งการอยู่เบื้องหลัง ยืนยันว่า ไม่เคยรู้จักเป็นการส่วนตัวกับคู่สัญญา
นายสุริยะกล่าวต่อว่า สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ครม.มีการลงนามสัญญาร่วมลงทุน เมื่อวันที่ 24 ต.ค.62 ซึ่งรัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารเมื่อวันที่ 12 ก.ย.67 ซึ่งยืนยันว่า รัฐบาลนี้ไม่ใช่ส่วนหนึ่งในการสร้างปัญหา แต่เข้ามาแก้ไขปัญหา เนื่องจาก EEC มีการลงทุนจากภาคเอกชนไปแล้วกว่า 1.8 ล้านล้านบาท หากถอยโครงการนี้ประเทศจะเสียหายมาก และเป็นสัญญาที่เกิดขึ้นก่อนช่วงโควิด-19 ทำให้มีผลกระทบต่อการลงทุน
ทั้งนี้ โควิด-19 ถือเป็นเหตุสุดวิสัยตามสัญญาข้อ 28.1 (1) (ฉ) เอกชนไม่สามารถชำระค่าสิทธิแอร์พอร์ตเรลลิงก์ 10,671 ล้านบาทได้ เพื่อไม่ให้การบริการหยุดชะงัก ครม.จึงแก้ไขปัญหา ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และเอกชน จึงได้ทำ MOU โดยเอกชนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินรถ บำรุงรักษาและรับความเสี่ยงทั้งหมด จนถึงปัจจุบัน เอกชนขาดทุนสะสมไปแล้วกว่า 500 ล้านบาท และเงื่อนไขของสัญญาที่ลงนามไว้ระบุว่า ก่อนการก่อสร้างเอกชนต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนก่อน แต่เนื่องจากเหตุสุดวิสัยการคาดการณ์ผู้โดยสารที่ลดลงจากโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเสนอแผนทางการเงินตามแผนเดิมได้ และระยะเวลาขอรับบัตรส่งเสริมฯ สิ้นสุดลง จึงเกิดสถานะที่เรียกว่า Dead Lock แต่การยกเลิกสัญญาและประมูลใหม่เป็นทางเลือกที่ไม่สามารทำได้ตามกฎหมาย เพราะเป็นเหตุสุดวิสัย อาจทำให้รัฐเสียหาย มีผลกระทบทางต้นทุนและนำไปสู่การฟ้องร้องทำให้โครงการหยุดชะงัก
นายสุริยะกล่าวอีกว่า ส่วนแนวทางการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการดังกล่าว ยังคงเป็นรูปแบบ PPP Net Cost เหมือนเดิม และเอกชนยังคงเป็นผู้รับความเสี่ยงรายได้จากปริมาณผู้โดยสารเหมือนเดิม รัฐไม่ได้เสียผลประโยชน์และเอกชนต้องวางหลักประกันเพิ่ม 160,000 ล้านบาท เพื่อประกันความสำเร็จการก่อสร้าง อีกทั้งการแก้ไขสัญญา รัฐจะจ่ายเงินน้อยลงจาก 149,650 ล้านบาท เหลือ 125,932 ล้านบาท ประหยัดดอกเบี้ยเป็นเงินกว่า 24,000 ล้านบาท
ขณะที่การกล่าวหาเรื่องการขยายสัมปทานทางด่วน เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน นายสุริยะกล่าวว่า ไม่เป็นความจริง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) รายงานว่า โครงการนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนโครงข่ายทางด่วนในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ ที่ได้เปิดใช้งานมากว่า 35-40 ปี เพราะจากเดิมออกแบบให้รองรับปริมาณจราจร 8-9 แสนคันต่อวัน แต่ปัจจุบันมีถึงกว่า 1-1.2 ล้านคันต่อวัน โดยเฉพาะบนทางด่วนศรีรัช ช่วงพระราม 9-งามวงศ์วาน แต่หาก Double Deck แล้วเสร็จ ผู้ใช้ทางจะลดเวลาการเดินทางในช่วงพระราม 9-งามวงศ์วาน จาก 60 นาที เหลือ 40 นาที ประหยัดน้ำมันและเวลาเดินทาง คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 7,000 ล้านบาท
ส่วนประเด็นการลดค่าทางด่วนเหลือ 50 บาท นายสุริยะกล่าวว่า ก็เป็นไปตามนโยบายการลดค่าครองชีพให้ประชาชน โดย กทพ.ได้วิเคราะห์และให้ใช้กับโครงข่ายทางด่วนในเขตเมืองเป็นลำดับแรก กล่าวคือ โครงข่ายทางด่วนเฉลิมมหานครและทางด่วนศรีรัช ซึ่งมีปริมาณจราจร 1 ล้านคันต่อวัน คิดเป็น 60% ของผู้ใช้ทางด่วนทั้งหมด โดยการปรับลดค่าผ่านทางจากเดิมที่ต้องจ่ายมากสุด 90 บาท เหลือจ่ายไม่เกิน 50 บาท ขณะเดียวกัน กทพ.ได้เข้าชี้แจงและให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการ รวมถึงสำนักงาน ป.ป.ช.ซึ่งไม่ได้มีข้อกล่าวหาว่าเป็นการดำเนินการที่มิชอบ.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่