น.ส. พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านเนื้อหารายการ การส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง และการพัฒนาองค์กรวิชาชีพในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2568 ได้หารือเรื่องการเสนอข่าวของช่องโทรทัศน์ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. เกี่ยวกับการเสียชีวิตของ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล หรืออดีตผู้กำกับโจ้ โดยมองเห็นถึงความพยายามของสื่อที่ต้องการแสวงหาข้อเท็จจริง โดยจำลองเหตุการณ์และอธิบายเรื่องที่ซับซ้อนให้เข้าใจง่าย แต่อาจละเลยแง่มุมที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบจากการนำเสนอเรื่องการฆ่าตัวตาย และควรปรึกษาประเด็นข้อกฎหมายภายในกองบรรณาธิการให้ชัดเจนก่อน โดยที่ประชุมจะพิจารณาวินิจฉัยถึงมาตรการต่อกรณีที่ตรวจสอบพบว่า ผู้รับใบอนุญาตอาจมีการเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในการประชุมครั้งต่อไป
ด้านแพทย์หญิงวรินทร พิพัฒน์เจริญชัย นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวว่าบุคคลที่อยู่ในภาวะเปราะบางหรือเด็กและเยาวชน อาจเกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เห็นภาพซ้ำๆ จากสื่อ ซึ่งอาจเกิดเป็นภาพจำที่ในวันหนึ่งอาจเกิดอารมณ์ชั่ววูบและนำไปสู่การกระทำได้ “การดูสื่อไม่ได้แปลว่าทุกคนต้องทำแบบนั้น แต่คนกลุ่มที่มีแนวโน้ม มีความรู้สึก มีความคิด หรือเป็นเด็กและเยาวชน อาจเกิดการรับรู้ ภาพจำ หากช่วยกันดูแลมากขึ้น อาจช่วยให้คนที่ไม่สบายใจ มีความเครียด เปราะบาง จะไม่เกิดอารมณ์ชั่ววูบ”
ส่วนนายพงษ์อภินันทน์ จันกลิ่น เลขานุการกรม กรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์มีกระบวนการสอบสวนอย่างระมัดระวัง และแม้จะเข้าใจว่าสื่อให้ความสนใจและต้องการนำเสนอเรื่องดังกล่าวอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม การนำเสนอของสื่ออาจเกิดความคลาดเคลื่อนหรือก่อให้เกิดผลกระทบได้ “การนำเสนอของสื่อ ตามทฤษฎีทางอาชญวิทยา เมื่อสื่อนำเสนอสิ่งที่สามารถจูงใจให้คนทำตามหรือเกิดขึ้นซ้ำๆ อาจนำไปสู่พฤติกรรมเลียนแบบ เช่น ข่าวการปาหินใส่รถในอดีต ผู้ชมจะต้องใช้วิจารณญาณในการรับชม”