นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา คือ จุดเริ่มต้นของสงครามการค้าโลกรอบใหม่ หลังประธานาธิบดีทรัมป์ ดำรงตำแหน่งมาแล้ว 17 วัน เริ่มประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าแล้วกับแคนาดา เม็กซิโก ในอัตรา 25% และขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ากับจีนประมาณ 10% และหลังจากจัดการกับประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ 3 อันดับแรกแล้ว รายต่อไปจะเป็นสหภาพยุโรป เกาหลีใต้ ส่วนอาเซียน เวียดนามจะเป็นประเทศแรกที่ถูกโฟกัส เพราะเกินดุลการค้ากว่า 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสูงเป็นอันดับต้นๆ ขณะที่ไทยก็อยู่ในคิวของการขึ้นภาษีของสหรัฐฯเช่นกัน เพราะเกินดุลการค้าอยู่ในอันดับที่ 10 ประมาณ 40,000 ล้านเหรียญ
นอกจากนั้น การดำเนินนโยบายของทรัมป์ยังกระทบสร้างความผันผวนต่อตลาดเงินและตลาดทุนโลกอย่างมาก จะเห็นได้จากราคาสินทรัพย์ และราคาหุ้นทั่วโลก รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างๆที่ดิ่งลงและวิ่งขึ้นตามคำพูดของทรัมป์ และกรณีนี้จะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปอีก 4 ปี โดยได้ประเมินว่า สงครามการค้าครั้งใหม่นี้จะกระทบต่อไทย 5 ด้านสำคัญ 1.ด้านการค้า ส่วนที่กระทบโดยตรงคือการส่งออกสินค้าจากไทยไปสหรัฐฯ ซึ่งส่วนนี้จะต้องจับตาดูว่าสินค้าไทยเองจะกระทบแค่ไหน แต่ส่วนที่โดนแน่นอนคือ สินค้าที่โรงงานจีนมาตั้งในไทยและส่งออกไปสหรัฐฯและทั่วโลก ส่วนที่สองที่จะกระทบคือ การเข้ามาของสินค้าจีนในไทยมากขึ้น ทั้งการเข้ามาขายแข่งกับสินค้าไทยในตลาดไทย และแข่งในตลาดโลกโดยใช้ไทยเป็นฐานการส่งออก จุดนี้จะกระทบกับผู้ประกอบการไทยมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน และกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
ขณะที่ผลกระทบด้านที่ 2 คือ ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เพราะเมื่อการค้าโลก และเศรษฐกิจหลายประเทศถูกกระทบจะต้องติดตามว่า จะกระทบกับการท่องเที่ยวของไทยหรือไม่ในปีนี้ ด้านที่ 3 คือ การเคลื่อนย้ายเงินลงทุน ทั้งเงินลงทุนในตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนโดยตรงที่จะเคลื่อนย้ายจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาษี ซึ่งการเคลื่อนย้ายเงินทุนจะส่งผลมาที่ด้านที่ 4 คือ ความผันผวนของราคาสินทรัพย์ ต่อค่าเงินทั่วโลก ต่อราคาทองคำ และแม้กระทั่งคริปโตเคอร์เรนซีที่จะสูงขึ้น และด้านที่ 5 คือ ผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลกที่จะเปลี่ยนแปลงไป
“จากการเดินเกมของทรัมป์ในขณะนี้ ส่วนที่มุ่งต่อจีนโดยตรงคือ สงครามในการกีดกันเทคโนโลยี ทำให้อุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับเทคโน โลยีได้รับผลกระทบมากที่สุด รองลงมาคือ ผลกระทบจากสงครามการค้า จะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบมาก ซึ่งกรณีนี้ไทยจะได้รับผลกระทบ และมีคนถามว่า ไทยจะรอดจากสงครามการค้านี้อย่างไร ซึ่งผมมองว่า หากเราเจรจาให้ดีวางแผนรับมือให้ดีก็มีโอกาส”
นายกอบศักดิ์กล่าวต่อว่า ในช่วงต่อไปสิ่งที่ไทยควรทำคือ พยายามทำตัวให้เงียบเรียบร้อย เพื่อหลุดจากวงโคจรที่สหรัฐฯมองว่าเป็นประเทศที่ต้องขึ้นภาษี เน้นการเจรจาต่อรองให้ดี เช่น ถ้าเราสามารถที่จะให้ประโยชน์กับสหรัฐฯ ได้บ้าง ลงทุนสหรัฐฯได้เพิ่มขึ้นบ้าง หรือซื้อของสหรัฐฯเพิ่มขึ้นบ้าง และใช้โอกาสนี้ขยายการส่งออก ที่เราจะต้องหาทางทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ รวมทั้งการดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงในอุตสาหกรรมที่ดีกับการขยายตัวของประเทศ
ขณะที่บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองในมุมเดียวกัน โดยนายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ เป็นกรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวในหัวข้อ “นโยบาย Tariff รอบใหม่กับความโกลาหลของการค้าโลก ใครได้ ใครเสีย?” ว่า ประเทศไทยน่าจะได้รับผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากการที่ประเทศไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯเป็นอันดับที่ 10 ของโลก ซึ่งหากมองแบบไม่เข้าข้าง ไทยน่าจะเป็นประเทศหนึ่งที่ถูกขึ้นภาษีนำเข้า โดยจับตาการประกาศในช่วงวันที่ 1 เม.ย.นี้ ว่าจะมีไทยหรือไม่ ซึ่งส่วนหนึ่งที่เราเกินดุล มาจากสินค้าที่จีนมาผลิตในไทย ทำให้เราต้องมาพิจารณาว่าจะใช้วิธีอย่างไรเพื่อแก้ไขกรณีดังกล่าว
ทั้งนี้ สำหรับสินค้าของไทยที่จะถูกกระทบคือ สินค้าเกี่ยวกับการสื่อสาร และใช้เทคโนโลยีสูง ผลิตภัณฑ์โซลาร์เซลล์ ซึ่งที่ผ่านมาเราถูกขึ้นกำแพงภาษีไปแล้วในรอบแรก เครื่องแปลงไฟ อะไหล่รถยนต์ กล้องมือถือและเครื่องปรับอากาศ แต่อย่างไรก็ตาม สินค้าประเภทยางล้อรถยนต์น่าจะยังไปได้เพราะเราได้เปรียบในด้านต้นทุน อย่างไรก็ตามมองว่า เรื่องส่งออกเราอาจจะแก้ไขได้ยาก ดังนั้น อีกกลยุทธ์ของไทยในการรับมือมองว่า จะต้องเน้นการเจรจา อยากให้ทีมเจรจาของไทยดำเนินการโดยเร็วที่สุด.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่