Thairath OnlineThairath PlusThairath SportThairath TVMIRROR

เล็งลดภาษีฮาร์เล่ย์เอาใจสหรัฐฯ

Date Time: 4 เม.ย. 2568 07:30 น.

Summary

  • รองนายกฯพิชัย ประชุมด่วน เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย หลัง “ทรัมป์” จัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐฯ เตรียมหาแนวทางแก้ไขผลกระทบ หวั่นส่งผลกระทบต่ออจีดีพี เล็งลดภาษีนำเข้ารถมอเตอร์ไซค์ฮาร์เล่ย์

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แถลงการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐฯ ทั้งหมด ว่า ทุกฝ่ายรับทราบการปรับภาษีดังกล่าวแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างหาแนวทางแก้ไขผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ หากประเทศไทยไม่ดำเนินการใด ๆ จะส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยราว 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)


“การประชุมหารือในครั้งนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเร่งไปจัดทำรายละเอียด จากนั้นผมจะเดินทางไปเจรจาที่สหรัฐด้วยตัวเอง ภายใน 2-3 สัปดาห์นับจากนี้ และจากนี้ไปนโยบายการเงินต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยด้วย โดยค่าเงินบาทควรอ่อนค่า”


นายพิชัย กล่าวว่า ปัจจุบันการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐมีมูลค่าราว 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยประเทศไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากับสหรัฐ 40,000 ล้านเหรียญ หรือราว 70% ซึ่งสหรัฐฯ มองประเด็นที่ไทยได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐที่สูง ดังนั้น เป้าหมายคือการปรับสมดุลทางการค้า ด้วยการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ให้มากขึ้น และการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ บางส่วนก็นำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ ซึ่งในท้ายที่สุดทำให้ไทยได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐลดลง


“หากการค้าขายระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็น 120,000 ล้านเหรียญ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ไทยนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น โดยประเทศไทยอาจจะยังได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐเท่าเดิมคือ 40,000 ล้านเหรียญ แต่เปอร์เซ็นต์ของการได้เปรียบดุลการค้าลดลงเหลือเพียง 33%”


ทั้งนี้ขอยกตัวอย่างสินค้า เช่น กรณีข้าวโพดที่ประเทศไทยผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ และปลาทูน่าที่ไทยเป็นผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่ของโลก อาจนำเข้าสินค้าเกษตรดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเนื้อหมูจากสหรัฐฯ เพื่อลดช่องว่างของการได้เปรียบทางการค้าดังกล่าว หรือกรณีภาษีนำเข้ารถมอเตอร์ไซค์ ที่ประเทศตั้งกำแพงภาษีนำเข้าไว้สูง 60-80% ทั้ง ๆ ที่เป็นสินค้าที่ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากเป็นการผลิตรถมอเตอร์ไซค์เป็นเวลานาน ขณะที่สหรัฐฯ ต้องการนำเข้ามอเตอร์ไซค์ฮาร์เล่ย์ ดังนั้นกำแพงภาษีนำเข้ารถมอเตอร์ไซค์สามารถลดลงมาได้ คิดว่าเหลือแค่ 10% ประเทศไทยก็ยังสามารถแข่งขันได้ สำหรับการส่งออกสินค้าบางประเภทไปสหรัฐ เช่น แผงโซลาร์เซลล์ ที่มีบางประเทศย้ายฐานการผลิตมาไทย ซึ่งหากตัวนี้ลดลง การได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐอาจเหลือแค่ 30,000 ล้านบาท รวมถึงกรณีสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางตัวที่ไม่ได้ผลิตจากประเทศไทย แต่ใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดการผลิตสินค้าของไทย อาจต้องไปเข้มงวดในเรื่องการออกหนังสือรับรองดังกล่าว


เราใช้คุ้กกี้

เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติมคลิก(Privacy Policy) และ (Cookie Policy)