Thairath OnlineThairath PlusThairath SportThairath TVMIRROR

เศรษฐกิจญี่ปุ่นเสี่ยง “ถดถอย” หากทรัมป์ ขึ้นภาษีรถยนต์นำเข้า 25% เร่งเจรจาสหรัฐ หลีกเกมย้ายฐานผลิต

Date Time: 28 มี.ค. 2568 11:56 น.

Summary

  • นายกฯ ญี่ปุ่น เตรียมงัดทุกท่า ต่อรองทรัมป์ ยกเว้นขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ 25% นักวิเคราะห์ หวั่นกระทบ GDP เตือนตามเกมทรัมป์ ย้ายฐานการผลิตไปสหรัฐฯ ได้ไม่คุ้มเสีย ทำลายซัพพลายเชนในประเทศ

เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2568 ที่ผ่านมา ชิเงรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ออกมายืนยันว่าจะทำทุกวิถีทางเพื่อเจรจาต่อรองให้สหรัฐฯ ยกเว้นการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์จากญี่ปุ่น หลังเมื่อวันพุธ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษี 25% กับรถยนต์ที่ผลิตในต่างประเทศ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย คาดว่าจะทำให้รัฐบาลมีรายได้ต่อปีเพิ่มขึ้น มากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ


โดยอัตราภาษีศุลกากรใหม่จะถูกเรียกเก็บเพิ่มเติมจากภาษีที่มีอยู่แล้ว เป็น 27.5% และ 50% ตามลำดับ จากอัตราภาษีปัจจุบันที่ 2.5% สำหรับรถยนต์โดย และ 25% สำหรับรถกระบะนอกจากนี้การขึ้นภาษีดังกล่าว ยังรวมถึงชิ้นส่วนยานยนต์ เช่น เครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง 


อย่างไรก็ตาม ผู้นำเข้ารถยนต์ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี “USMCA” ซึ่งสหรัฐฯ เม็กซิโก และแคนาดาลงนามร่วมกัน จะได้รับโอกาสในการรับรองว่าชิ้นส่วนใดผลิตในสหรัฐฯ เพื่อให้มั่นใจว่าการเรียกเก็บภาษี 25% นั้นจะถูกใช้กับชิ้นส่วนที่ไม่ได้ผลิตในสหรัฐฯ เท่านั้น 


จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดจากรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ชิ้นส่วนรถยนต์ที่อยู่ภายใต้ข้อตกลง USMCA จะยังคงได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากร


การประกาศขึ้นภาษีครั้งนี้ของทรัมป์ สร้างความประหลาดใจให้กับญี่ปุ่นไม่น้อย เนื่องจากญี่ปุ่นมองว่าเป็นการทำลายข้อตกลงทวิภาคีในปี 2019 ระหว่างทรัมป์กับนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ โดยข้อตกลงการค้าดังกล่าวเปิดทางให้สินค้าเกษตรของสหรัฐฯ เข้ามาขายในตลาดญี่ปุ่นมากขึ้น ภายใต้ข้อตกลงทั้งสองประเทศระบุว่าจะงดเว้นจากการใช้มาตรการที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของข้อตกลงเหล่านี้


ด้านค่ายผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นออกแถลงการณ์อย่างระมัดระวังหลังทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีรถยนต์นำเข้า โดยบริษัทโตโยต้า ซูบารุ มาสด้า และฮอนด้า ระบุว่าพวกเขากำลังประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น


โยชิมาสะ ฮายาชิ (Yoshimasa Hayashi)  หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวว่ารัฐบาลตั้งใจที่จะเจรจาเรื่องการยกเว้นภาษีกับสหรัฐฯ แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดว่าจะเจรจาอย่างไร  


ญี่ปุ่นงัดทุกท่า ต่อรองภาษีรถยนต์สหรัฐฯ


โคอิจิ ฟูจิชิโร (Koichi Fujishiro) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสแห่งสถาบันวิจัย Dai-ichi Life ให้ความเห็นว่า ในบรรดาตัวเลือกที่ญี่ปุ่นน่าจะใช้เป็นข้อต่อรองในการเจรจาภาษีรถยนต์กับสหรัฐฯ อาจมีทั้งการจำกัดการส่งออกรถยนต์ที่ผลิตในญี่ปุ่นโดยสมัครใจ, การเพิ่มการนำเข้าสินค้า เช่น ก๊าซธรรมชาติ ธัญพืชและเนื้อสัตว์ โดยนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากสหรัฐฯ แทนรัสเซีย ข้อมูลล่าสุดในปี 2023 ญี่ปุ่นนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย 8.9% มากกว่าสหรัฐฯ ที่ 7.2% 


“ญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะพิจารณาทางเลือกทั้งหมดเหล่านี้” 


แม้ว่านายกรัฐมนตรีอิชิบะยืนยันว่าจะใช้ตัวเลือกทั้งหมดที่มีในการต่อรองภาษี แต่ก็ยังมีวิเคราะห์ส่วนน้อยที่คาดหวังว่าญี่ปุ่นจะหันไปใช้มาตรการตอบโต้สหรัฐฯ อย่างน้อยก็ไม่ใช่ ณ จุดนี้


 "ญี่ปุ่นจะได้รับประโยชน์น้อยมากหากใช้มาตรการภาษีตอบโต้กับสหรัฐฯ" 


ญี่ปุ่นเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย หากย้ายฐานการผลิตตามเกมทรัมป์


รถยนต์เป็นสินค้าที่ญี่ปุ่นส่งออกไปสหรัฐฯ มากที่สุด โดยมีมูลค่ารวม 6 ล้านล้านเยน (4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และคิดเป็น 28% ของการส่งออกทั้งหมดของญี่ปุ่นในปี 2024 ซึ่งมูลค่าดังกล่าวเทียบเท่ากับ 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของญี่ปุ่น


ทาคาฮิเดะ คิอูจิ (Takahide Kiuchi) จากสถาบันวิจัยโนมูระ ประเมินว่าภาษี 25% จะทำให้การส่งออกรถยนต์ญี่ปุ่นไปยังสหรัฐฯ ลดลง 15% ถึง 20% ส่งผลให้ GDP ของญี่ปุ่นลดลง 0.2%


หากผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นพยายามรับมือมาตรการขึ้นภาษี ด้วยการย้ายฐานการผลิตมายังสหรัฐฯ จะทำให้การจ้างงานภายในประเทศลดลงและส่งผลให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นถดถอยในระยะยาว


ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลกหันมาผลิตในประเทศมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางการค้า ดังนั้น รถยนต์ญี่ปุ่น 60% ที่ขายในสหรัฐอเมริกาจึงผลิตในสหรัฐอเมริกา ตามรายงานของสถาบันวิจัยมิตซูบิชิ ส่วนแบ่งลดลงเหลือ 40% สำหรับรถยนต์เกาหลี มีส่วนแบ่งสูงถึง 70% สำหรับแบรนด์ยุโรป


มาซาโนริ คาตายามะ (Masanori Katayama)  ประธานสมาคมผู้ผลิตยานยนต์ญี่ปุ่น ให้ความเห็นว่า


“การส่งออกรถยนต์จากญี่ปุ่นมีความจำเป็นเพื่อเสริมการผลิตในประเทศของผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น และเพื่อจัดทำกลุ่มผลิตภัณฑ์รถยนต์ที่น่าดึงดูด เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าชาวอเมริกันผ่านทางตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ในแต่ละรัฐของสหรัฐฯ” 


เมื่อสหรัฐฯ เริ่มบังคับใช้มาตรการภาษี คาดว่าจะมีการปรับเปลี่ยนการผลิตอย่างมีนัยสำคัญ


“อุตสาหกรรมรถยนต์ของญี่ปุ่นไม่ได้ประกอบด้วยเพียงผู้ผลิตรถยนต์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนและแรงงานจำนวน 5.5 ล้านคนด้วย” เขากล่าวเสริม


นอกจากนี้คาตายามะยังเน้นย้ำว่าภาคอุตสาหกรรมและรัฐบาลญี่ปุ่นควรร่วมมือกันเพื่อรักษาห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศให้คงอยู่


การขึ้นภาษีรถยนต์นำเข้าครั้งนี้ ไม่เพียงแต่กระทบผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติ แต่ยังส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ ด้วย เนื่องจากผู้ผลิตเหล่านี้จัดซื้อชิ้นส่วนยานยนต์และดำเนินการผลิตในต่างประเทศเพื่อลดต้นทุนและทำให้ราคารถยนต์สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้


General Motors อาจประสบภาวะขาดทุนจากการดำเนินงานเป็นประจำทุกปีเนื่องจากการพึ่งพาโรงงานในเม็กซิโก ในขณะที่โตโยต้าอาจมีกำไรจากการดำเนินงานลดลง 30% 


ที่มา


เราใช้คุ้กกี้

เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติมคลิก(Privacy Policy) และ (Cookie Policy)