หลังการประกาศอัตราภาษีนำเข้าครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ ภายใต้ชื่อ "Liberation Day" กำลังทำให้รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกกำลังหวาดหวั่น เพราะอัตราภาษีพื้นฐานที่ถูกกำหนดเพิ่มขึ้น 10% สำหรับสินค้านำเข้าทั้งหมดและเพิ่มอัตราภาษีที่สูงขึ้นสำหรับบางประเทศที่มีการขาดดุลการค้ากับสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับ ประเทศไทย สินค้านำเข้าจะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 36% ซึ่งเป็นหนึ่งในอัตราที่สูงที่สุดที่กำหนดขึ้นในครั้งนี้ เหตุเพราะไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงถึง 4.56 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่การตัดสินใจดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการค้าที่ไม่เป็นธรรมและส่งเสริมการผลิตภายในประเทศของสหรัฐฯ
ด้วยอัตราภาษีที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าคาดการณ์ ทำให้ทั่วโลกวิพากษ์วิจารณ์ถึงหลักการในการเก็บภาษีชุดล่าสุดว่าเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงอำนาจของสหรัฐฯ และขณะเดียวกันยังเปรียบเทียบอัตราเรียกเก็บภาษีของแต่ละประเทศที่สะท้อนถึงการโต้ตอบระหว่างประเทศ หนึ่งในนั้นคือหมู่เกาะเฮิร์ดและแมคโดนัลด์ (The Heard and McDonald Islands) ที่สร้างความสับสนให้กับนักวิเคราะห์ เนื่องจากหมู่เกาะแห่งนี้ไม่ได้มีสถานะเป็นประเทศ แต่ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายใหม่ของมาตรการเก็บภาษีในครั้งนี้
ด้านสื่อออนไลน์ WIRED ที่เป็นผู้เปิดประเด็นการเรียกเก็บภาษีตอบโต้ดินแดนหมู่เกาะในครั้งนี้ ระบุว่า สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีตอบโต้ในอัตราส่วนลดกับหมู่เกาะเฮิร์ดและแมคโดนัลด์ที่ 10% โดยอ้างว่าหมู่เกาะเฮิร์ดและแมคโดนัลด์มีการเรียกเก็บภาษีต่อสหรัฐฯ ในอัตรา 10% พร้อมชี้แจงว่าภาษีดังกล่าวได้รวมถึงการแทรกแซงค่าเงิน (Currency Manipulation) และอุปสรรคทางการค้า (Trade Barriers) ในการตอบโต้สหรัฐฯ
หมู่เกาะเฮิร์ดและแมคโดนัลด์ นับเป็นดินแดนของออสเตรเลียที่ตั้งอยู่ในมหาสมุทรใต้ โดยมีพื้นที่ 37,000 เฮกตาร์หรือประมาณ 370 ตารางกิโลเมตร ตามข้อมูลขององค์การยูเนสโก ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนหมู่เกาะเหล่านี้เป็นมรดกโลกในปี 1997
พื้นที่ดังกล่าวเต็มไปด้วยหินและธารน้ำแข็ง ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของฝูงเพนกวินและนกทะเล และสามารถเดินทางไปถึงได้ทางเรือเท่านั้น นอกจากนี้เกาะเฮิร์ดเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่น ส่วนเกาะแมคโดนัลด์ยังล้อมรอบด้วยเกาะหินขนาดเล็กหลายแห่ง
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 หมู่เกาะเหล่านี้เคยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมล่าแมวน้ำเพื่อสกัดน้ำมัน ทำให้ประชากรแมวน้ำลดลงอย่างมากจนกิจกรรมล่าสัตว์ต้องยุติลงในต้นศตวรรษที่ 20 ต่อมาสหราชอาณาจักรได้อ้างสิทธิ์ครอบครองในปี 1910 และโอนอำนาจให้ออสเตรเลียในปี 1947 ตั้งแต่นั้นมา
โดยปัจจุบันสำนักงานแอนตาร์กติกแห่งออสเตรเลียเป็นผู้ดูแลหมู่เกาะเหล่านี้เพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการทำวิจัยเกี่ยวกับประชากรสัตว์ป่าและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อธารน้ำแข็ง หมู่เกาะเล็กๆ ของออสเตรเลียก็ไม่รอด
ทั้งนี้หมู่เกาะเฮิร์ดและแมคโดนัลด์ถูกระบุว่าเป็นพื้นที่ที่ไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่ และจากข้อมูลไม่พบกิจการการส่งออกสินค้า โดยส่วนใหญ่ของพื้นที่เป็นภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของฝูงเพนกวินและนกทะเล และสามารถเดินทางไปถึงได้ทางเรือเท่านั้น
โดยสำนักงานแอนตาร์กติกแห่งออสเตรเลีย ระบุว่า พื้นที่ดังกล่าวมีเรือที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การประมงเชิงพาณิชย์ และการท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเป็นครั้งคราว หมู่เกาะเฮิร์ดและแมคโดนัลด์ปรากฏอยู่ในรายชื่อ “ดินแดนภายนอก” (External territories) หลายแห่งของออสเตรเลียที่แยกจากกันในรายการภาษีนำเข้ากับออสเตรเลีย
อย่างไรก็ตาม หมู่เกาะเฮิร์ดและแมคโดนัลด์ไม่ใช่หมู่เกาะเดียวที่ถูกเพ่งเล็ง แต่ดินแดนเกาะต่างๆ ของออสเตรเลียก็โดนด้วย ได้แก่ หมู่เกาะคริสต์มาสและหมู่เกาะโคโคส (Keeling Islands) ถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 10% ขณะที่หมู่เกาะนอร์ฟอล์ก (Norfolk Island) ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของออสเตรเลียก็ถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงถึง 29% เช่นเดียวกัน ขณะที่ออสเตรเลีย ถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 10%
ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้มีการบันทึกการขาดดุลการค้ากับเกาะนอร์ฟอล์กในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เกาะแห่งนี้ส่งออกสินค้ามูลค่า 300,000 ดอลลาร์ไปยังสหรัฐอเมริกาในปี 2022, 700,000 ดอลลาร์ในปี 2023 และ 200,000 ดอลลาร์ในปี 2024 โดยพบว่าการนำเข้าของเกาะนอร์ฟอล์กจากสหรัฐอเมริกาพุ่งสูงสุดที่ 11.7 ล้านดอลลาร์ในปี 2020 ซึ่งไม่มีการบันทึกการส่งออก
ทั้งนี้ข้อมูลไม่ได้ระบุว่ามีการค้าขายสินค้าประเภทใด นอกจากนี้ตามข้อมูลการส่งออกของธนาคารโลก สหรัฐฯ นำเข้าผลิตภัณฑ์จากหมู่เกาะเฮิร์ดและแมคโดนัลด์มูลค่า 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2022 ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นการนำเข้าเครื่องจักรและไฟฟ้า แต่ยังไม่ชัดเจนในทันทีว่าสินค้าเหล่านั้นคืออะไร
อย่างไรก็ตาม จอร์จ พลานท์ ผู้ดูแลเกาะนอร์ฟอล์ก โต้แย้งข้อมูลดังกล่าวผ่านทางสำนักข่าว The Guardian ว่า “เราไม่แน่ใจว่าเกาะนอร์ฟอล์กเป็นคู่แข่งทางการค้ากับเศรษฐกิจขนาดยักษ์ของสหรัฐฯ หรือไม่” โดยยืนยันว่าไม่มีการส่งออกจากเกาะนอร์ฟอล์กไปยังสหรัฐอเมริกาและไม่มีการเก็บภาษีศุลกากรหรืออุปสรรคทางการค้าสำหรับสินค้าที่ส่งมายังเกาะนอร์ฟอล์ก ตัวเลขการส่งออกจากหมู่เกาะเฮิร์ดและแมคโดนัลด์นั้นน่าสับสนยิ่งกว่า เพราะดินแดนแห่งนี้มีการประมงแต่ไม่มีอาคารหรือที่อยู่อาศัยของมนุษย์เลย
ด้านออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ดูแลหมู่เกาะเฮิร์ดและแมคโดนัลด์และมีผลประโยชน์โดยตรงในดินแดนนี้ โต้แย้งว่ามาตรการนี้ละเมิดจิตวิญญาณของความร่วมมือระหว่างประเทศในแอนตาร์กติก
นอกจากนี้ประเทศที่ให้ความสำคัญกับสนธิสัญญาแอนตาร์กติกาที่ส่งเสริมความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ ชิลี อาร์เจนตินา และนอร์เวย์ อาจออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าการเก็บภาษีของสหรัฐฯ ขัดกับหลักการของสนธิสัญญาดังกล่าวเช่นเดียวกัน
อ่านเพิ่มเติม
อ้างอิงข้อมูลจาก Reuters , The Guardian , WIRED
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -