Agoda เผยแพร่ข้อมูลจากงานวิจัยล่าสุดเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ที่ได้จัดทำร่วมกับ Access Partnership บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีระดับโลก เพื่อประเมินถึงโอกาสทางเศรษฐกิจที่ไทยจะได้รับหลังจากกฎหมายสมรสเพศเดียวกันเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 22 มกราคม 2568
โดยผลการศึกษาก่อนหน้าที่ได้ศึกษาเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ชี้ให้เห็นว่า ประเทศที่มีการออกกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเห็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 10% ภายในสองปีหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ นอกจากนี้ ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่จะเลือกเดินทางไปยังประเทศที่สนับสนุนสิทธิของชาว LGBTQIA+ โดย 43% ของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะยกเลิกการเดินทางทันทีหากรู้สึกว่าประเทศปลายทางไม่ได้สนับสนุนสิทธิของชาว LGBTQIA+
สำหรับการวิจัยบริบทประเทศไทยเฉพาะ พบว่า “ไทย” เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รับรองกฎหมายนี้และเป็นประเทศที่สามในเอเชีย รองจากไต้หวันในปี 2562 และเนปาลเมื่อปี 2565 โดยพบว่า “ไทย” เป็นประเทศที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นดินแดนที่เป็นมิตรสำหรับชุมชน LGBTQIA+ โดย 68% ของชาวไทยสนับสนุนให้บุคคลเปิดเผยเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศ นับเป็นอัตราการยอมรับที่สูงสุดในโลก และ 10% ของชาวไทยระบุว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน LGBTQIA+
โดย “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” จะเปิดโอกาสให้ประเทศไทยดึงดูดนักท่องเที่ยว LGBTQIA+ ทั่วโลก ซึ่งมีมูลค่ากว่า 200 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 4 ล้านคนต่อปี และมีแนวโน้มดัน GDP ไทยโตขึ้น 0.3% จากการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งสร้างงานใหม่ ๆ ในภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจโดยรวมหลังจากกฎหมายบังคับใช้
ทั้งนี้รายงานได้คาดการณ์ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะแพร่กระจายไปสู่เศรษฐกิจไทยในวงกว้างหลังกฎหมายประกาศบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ประกอบด้วย
Agoda ระบุว่า แม้ประเทศไทยจะเป็นจุดหมายท่องเที่ยวชั้นนำระดับโลกอยู่แล้ว แต่การออกกฎหมายสมรสเท่าเทียมในครั้งนี้จะยิ่งยกระดับความน่าสนใจของไทยในสายตานักท่องเที่ยว LGBTQIA+ ที่มองหาจุดหมายที่เปิดกว้างและต้อนรับทุกคนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในยุคที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญกับประสบการณ์การท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายและเปิดกว้างมากขึ้น
กฎหมายนี้จะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวสำหรับคู่รัก LGBTQIA+ จากประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องการเฉลิมฉลองการแต่งงานในประเทศที่ยอมรับการสมรสเพศเดียวกัน หลายเมืองในประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นสถานที่ยอดนิยมสำหรับการแต่งงาน ทั้งในด้านความสวยงามของสถานที่และความพร้อมในการบริการที่หลากหลาย
กฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ไม่เพียงช่วยกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมงานแต่งงานในไทย แต่ยังเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ เช่น โรงแรม บริการจัดเลี้ยง และอุตสาหกรรมบันเทิง ได้รับประโยชน์อีกด้วย นอกจากนี้ยังสามารถสร้างงานและเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจในประเทศ พร้อมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในระดับสากลว่าไทยเป็นประเทศที่ยอมรับและให้ความเท่าเทียมแก่ทุกเพศวิถีและเพศสภาพ
นอกจากนี้งานวิจัยได้เผยให้เห็นถึงโอกาสสำคัญในอนาคตที่กฎหมายฉบับนี้จะนำมา เช่น งาน WorldPride ซึ่งเป็นงานระดับนานาชาติที่มุ่งส่งเสริมความเข้าใจและการตระหนักรู้เกี่ยวกับชาว LGBTQIA+ งานดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว LGBTQIA+ ในประเทศเจ้าภาพได้อย่างมหาศาล
“การประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทย ไม่เพียงในแง่ของการส่งเสริมสิทธิที่เท่าเทียมสำหรับชาว LGBTQIA+ แต่ยังช่วยตอกย้ำภาพลักษณ์ของประเทศในฐานะจุดหมายปลายทางที่เปิดกว้างและปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวทุกคน ช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่ปลอดภัยและได้รับความนิยมในหมู่ LGBTQIA+ โดยเฉพาะการเปิดโอกาสใหม่ๆ ที่พวกเขาไม่สามารถหาได้จากที่อื่น เช่น การจัดงานแต่งงานในประเทศไทย”
งานวิจัยชิ้นนี้ เราต้องการเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของการส่งเสริมความหลากหลาย ซึ่งช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าและประโยชน์มากมายที่เกิดจากการยอมรับความแตกต่างและความหลากหลายในสังคม ซึ่ง Agoda สนับสนุนชาว LGBTQIA+ มาตลอดทั้งในหมู่พนักงานและผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มอโกด้า และในปีนี้ยังรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือและสนับสนุน Bangkok Pride Parade 2024 ด้วย ปิติโชค จุลภมรศรี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาดของอโกด้า และผู้สนับสนุนของกลุ่ม Agoda Pride กล่าว
การศึกษานี้จัดทำขึ้นโดย Access Partnership เรื่อง ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทย วิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจของกฎหมายสมรสเท่าเทียมต่อเศรษฐกิจไทย 4 ขั้นตอนหลัก ดังนี้ (1) การระบุความสัมพันธ์ระหว่างการท่องเที่ยวระหว่างประเทศกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม, (2) การประเมินผลกระทบของกฎหมายสมรสเท่าเทียมต่อการท่องเที่ยวผ่านการวิเคราะห์การถดถอยเชิงเส้นแบบ Fixed-Effects, (3) การประเมินการเปลี่ยนแปลงของจำนวนการท่องเที่ยวและรายรับจากนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ 2 ปี, และ (4) การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของการท่องเที่ยวที่ส่งผลกระทบไปยังเศรษฐกิจไทยโดยรวม
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -