“เศรษฐกิจแฟนคลับ” ในจีนร้อนแรง เปลี่ยนความคลั่งรัก เป็นมูลค่าแบรนด์ "หลานม่า" เปิดทางตีตลาด

Business & Marketing

Trends

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

“เศรษฐกิจแฟนคลับ” ในจีนร้อนแรง เปลี่ยนความคลั่งรัก เป็นมูลค่าแบรนด์ "หลานม่า" เปิดทางตีตลาด

Date Time: 3 ต.ค. 2567 11:07 น.

Video

วิธีเอาตัวรอดของ Wikipedia ไม่พึ่งโฆษณา ไม่มีค่าสมาชิก แต่อยู่มาได้ 23 ปี | Digital Frontiers

Summary

  • “เศรษฐกิจแฟนคลับ” ในจีน ร้อนแรง 5.5 หมื่นล้านหยวน เปลี่ยนความคลั่งรัก เป็นมูลค่าแบรนด์ คอนเสิร์ต - แฟนมีตติ้ง ดาราคนดัง แหล่งรายได้หลัก หนัง “หลานม่า” จากไทย จุดเริ่มตีตลาด

Latest


นับเป็นหนึ่งความสำเร็จของอุตสาหกรรมบันเทิงไทย ในระดับสากล ผ่านภาพยนตร์เรื่อง “หลานม่า” ที่ไม่เพียงแต่สร้างความประทับใจให้กับคนไทย แต่ “หลานม่า” ยังได้รับกระแสตอบรับอย่างมาก ในหมู่คนจีน ทำรายได้พุ่งเป็นประวัติการณ์ ติดอันดับ Boxoffice ในจีน จากเรื่องราวครอบครัวสุดลึกซึ้ง สะท้อนความจริง คะแนนรีวิวสูงถึง 9.0 คะแนน

ล่าสุด หน่วยงานภาครัฐ เอกชน การศึกษาของจีน Friends of Thailand กลุ่ม นศ. ไทย รวมทั้งกลุ่มแฟนคลับ BKPP (บิวกิ้นพีพี) นครซีอาน จัดงาน รวมแฟนคลับ ย้ำภาพ พร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรมหนังไทย และความสัมพันธ์ของคน 2 ชาติ สะท้อนความเป็นไทย ที่สามารถเข้าถึงและขยายตลาดในจีน ได้มากขึ้น

เจาะภาพรวม ปัจจุบัน ภาพยนตร์และละครไทย ได้รับความนิยมในตลาดจีน ดาราวัยรุ่นไทยชื่อดังหลายรายมีฐานกลุ่มแฟนคลับเป็นจำนวนมาก โดยช่วงที่ผ่านมา ดาราไทยได้เดินทางไปจีน เพื่อจัดงานแฟนมีตติ้ง เทศกาลดนตรี และกิจกรรมอื่นๆ ที่หลากหลาย

เศรษฐกิจแฟนคลับ “Fan Economy”

นี่คือปรากฏการณ์ส่วนหนึ่งที่ถูกเรียกว่า เศรษฐกิจแฟนคลับ “Fan Economy” ที่กำลังร้อนแรงในจีน โดยข้อมูลจาก สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองหนานหนิง รายงานว่า จากในอดีต กลุ่มแฟนคลับส่วนใหญ่ จะติดตามนักร้องและดาราภาพยนตร์ โดยเริ่มก่อตัวและค่อยๆ มีอิทธิพลทางด้านดนตรี ภาพยนตร์ ซึ่งการเติบโตของโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดช่องทางการพูดคุย

แฟนๆ สามารถโต้ตอบกับดาราผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้และมีส่วนร่วมในกิจกรรมออนไลน์และออฟไลน์ต่างๆ และรูปแบบธุรกิจของเศรษฐกิจแฟนคลับมีความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงการไลฟ์สด ระบบสมาชิก การระดมทุนของแฟนๆ

เศรษฐกิจของแฟนคลับคนดังส่วนใหญ่พึ่งพาเสน่ห์ส่วนตัวและอิทธิพลของดารา และสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์จากกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดคอนเสิร์ต และงานแฟนมีตติ้ง

“ธุรกิจโดยตรงส่วนใหญ่สร้างมูลค่าทางการค้าผ่านแฟนๆ ที่ซื้อสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น การซื้ออัลบั้มเพลง ตั๋วภาพยนตร์ อุปกรณ์ประกอบเกม เป็นต้น รูปแบบธุรกิจทางอ้อม คือ การขับเคลื่อนกิจกรรมทางธุรกิจอื่นๆ ผ่านการสนับสนุนและการมีส่วนร่วมของแฟนๆ เช่น โฆษณา ความร่วมมือของแบรนด์ กิจกรรมออนไลน์และออฟไลน์”

รูปแบบรายได้ จะอิงจากการเชื่อมโยงทางอารมณ์ระหว่างแฟนคลับกับบุคคลที่มีความน่าสนใจ (โดยปกติจะเป็นไอดอล คนดังในสาขาต่างๆ หรือ Virtual IP) สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยการแปลงความชื่นชอบ การติดตาม (Loyalty) และความเต็มใจของแฟนๆ ให้เป็นพฤติกรรมการบริโภคที่แท้จริง

แกนหลักของเศรษฐกิจแฟนคลับอยู่ที่การสะสมและการใช้ “ทุนทางอารมณ์” กล่าวคือ บริษัทหรือบุคคลจะพึ่งพาพลังของชุมชนแฟนคลับ และการใช้โซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มดิจิทัล และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อเปลี่ยนการลงทุนทางอารมณ์ของแฟนๆ ให้เป็นมูลค่าแบรนด์ การขายสินค้า และการสมัครเป็นสมาชิกบริการ เป็นต้น

โดยขนาดตลาดและอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจแฟนคลับในประเทศจีน ปี 2021 อยู่ที่ 1.8 แสนล้านหยวน ขอบเขตขยายอย่างกว้างขวางไปยังสาขาดนตรี ภาพยนตร์ วรรณกรรม และเกม ขณะในไตรมาสที่ 1 ปี 2024 ขนาดตลาดอยู่ที่ 5.5 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้น 6.06% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ชี้ว่า จากความสำเร็จของภาพยนตร์ไทย “หลานม่า” ในจีน อุตสาหกรรมบันเทิงที่เกี่ยวข้องของไทย ควรถือโอกาสที่ดีดังกล่าว ทำงานเชิงรุก เปิดตัวผลงานภาพยนตร์ที่มีคุณภาพสูง ให้ตรงกับความต้องการของผู้ชมชาวจีน และเข้าใจความต้องการของแฟนๆ และสร้างผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น พร้อมแนะให้พยายามศึกษาข้อมูลเทรนด์ความต้องการต่างๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มแฟนคลับดังกล่าวผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย อีกทั้งยังจะเป็นการส่งเสริมและสามารถสอดแทรก Soft Power ของไทยได้อีกด้วย

ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ