“หรูหรา” หรือ “Luxury” คำๆนี้ หากให้คุณ ลอง จำกัดความ จะตีความหมายว่าอย่างไร? ภายใต้ภาพใหญ่ตอนนี้ CMMU เผย “คนไทย 1 ใน 3 มีพฤติกรรมติดหรู และความต้อง luxuriousกลายเป็นเทรนด์ทางการตลาดที่น่าสนใจ จนผลักดันให้สินค้ากลุ่มพรีเมียมต่างๆ ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แม้ภาวะเศรษฐกิจจะไม่ค่อยดีนัก
ล่าสุด ในงานสัมมนา TERRAHINT BRAND SERIES ของเว็ปไซต์ TerraBKK.com ปีที่ 7 กับ คอนเซปต์ “Luxury is a necessity in the sustainability era” #ชีวิตติดแกลม เจาะกลยุทธ์การพัฒนาแบรนด์สู่ความลักซ์ชัวรี ตอบโจทย์ยุคแห่งความยั่งยืน
TerraBKK ได้เปิดอินไซต์ ข้อมูลผู้บริโภค จากตัวอย่างคนไทย 2,500 คน ภายใต้ข้อคำถาม ยุคแห่งความยั่งยืน ความหรูหรา ยังเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่?
โดยพบประเด็นที่น่าสนใจ ว่าคนไทย ส่วนใหญ่ มีการตีตวามคำว่า "Luxury" ที่นอกเหนือจากความหรูหรา ความร่ำรวย ไปสู่บริบทใหม่ๆมากขึ้น ซึ่งผู้พัฒนาแบรนด์เอง ก็สามารถนำไปต่อยอดเชิงกลยุทธ์ได้
เบื้องต้น สามารถแบ่งกลุ่มจากไลฟ์สไตล์และทัศนคติเกี่ยวกับคำว่า “หรูหรา” ออกเป็น 4 กลุ่ม ด้วยกัน ได้แก่
1. กลุ่ม High - End Image
จะให้ความสำคัญกับประสบการณ์ใช้ชีวิตหรูหรา รวมถึงการใช้สินค้าแบรนด์เนม ที่บ่งบอกถึงความสมดุลระหว่างความสวยงามภาพลักษณ์และการใช้งานในชีวิตประจำวัน และยอมจ่ายเพิ่ม เพื่อความเป็นส่วนตัว ความสะดวกสบายจากเทคโนโลยีและส่วนกลางที่ครบครัน โดยยอมเพิ่มเงิน ประมาณ 10-20%
“34% ของคนไทย เป็น กลุ่ม High โดยเฉพาะคนเจน X และ เจน Y ยอมจ่ายเพิ่ม เพื่อความเป็นส่วนตัว เน้นทั้งภาพลักษณ์ และการใช้งานสมราคา ถ้าเทียบกับแบรนด์อสังหาฯ อาจนึกถึง แสนสิริ ,สิงห์เอสเตท และ อนันดา เป็นต้น ”
2. กลุ่ม Connoisseur
มองว่า “Luxury” คือ ความพิเศษ, ความสมบูรณ์แบบที่บ่งบอกถึงความสำเร็จ เป็นกลุ่มที่มองหาสินค้าที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในอนาคต เช่น สินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หรือประสบการณ์ที่หรูหรา เช่น การใช้บริการโรงแรมระดับ 5 ดาว และยอมจ่ายเพิ่มกับเทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่อความสะดวกสบายประมาณ 10-30% พร้อมให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับเรื่องความเป็นส่วนตัว ที่สามารถเพิ่มเงินได้สูงถึง 40%
“กลุ่มนี้ ส่วนใหญ่เป็นคนเจน Y และ เจน Z ที่มองหาประสบการณ์ความหรูหราแบบแท้จริง ยอมจ่ายเพิ่มสูงถึง 40% ให้ภาพแทนแบรนด์ อาจเป็น SC ASSET ”
3. กลุ่ม Quiet Luxury
มองว่า “Luxury” คือ ความเรียบง่ายและคุณภาพที่ยั่งยืน โดยชอบสินค้าคุณภาพสูง แต่ไม่เน้นแบรนด์หรูหรา ที่ใช้งานได้จริง เป็นกลุ่มที่มองหาสินค้าที่สามารถใช้งานได้ในระยะยาวและมีคุณค่าทางจิตใจ โดยยอมจ่ายเพิ่มเพื่อความเป็นส่วนตัวและนวัตกรรมเพื่อการประหยัดพลังงานประมาณ 10-20% และปฏิเสธในการจ่ายเพิ่มเพื่อดีไซน์และความหรูหราที่ดูฟุ่มเฟือย
“กลุ่มนี้ เป็น เจน X และ Baby Boomer เป็นส่วนใหญ่ ไม่เน้นแบรนด์หรู แต่ชอบความเรียบง่าย ยกภาพจำ อย่าง แบรนด์ LAND & HOUSES ,ศุภาลัย หรือ ASSET WISE”
4. กลุ่ม Chic Innovator
มองว่า “Luxury” คือการใช้ชีวิตอย่างเต็มที่และแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเอง ชอบสินค้าแบรนด์หรูหรา สินค้าหายาก และเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด พร้อมมองหาประสบการณ์ที่หรูหราและเป็นเอกลักษณ์ ให้ความสำคัญกับการแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเองผ่านสินค้าแบรนด์หรูหรา โดยเป็นกลุ่มที่ไม่ยอมจ่ายเพิ่มในหลายๆ ด้าน และมองหาความสมดุลระหว่างราคากับคุณภาพ
“ความหรูหราของกลุ่มนี้ เป็นภาพแทนมุมมองของคนกลุ่มเจน Y และ Z บางส่วน ที่ชอบสินค้าหรูหรา หายาก เทียบเหมือนสินค้าของแบรนด์ AP หรือ BRITANIA”
ประเด็นดังกล่าว “สุมิตรา วงภักดี” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทอร์ร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด ได้สรุป และ สะท้อนว่า คำว่า "Luxury" ในบริบทใหม่ ในปัจจุบันนั้น สามารถบ่งบอกและตีความได้ ทั้งในแง่ คุณภาพ, ความสมบูรณ์แบบ, ความพิเศษโดดเด่น, ความพิถีพิถัน เรื่อยไปจนถึง ความสะดวกสบาย โดยเฉพาะ หากกล่าวถึงคำว่า “บ้านหรู ”
ขณะ ในด้านแนวโน้มการซื้อบ้าน พบว่า จากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด มีเพียง 36% ที่คิดว่าจะซื้อบ้านภายใน 3 ปี ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ลดลงต่อเนื่องจากปี 2023 ที่มีผู้ที่คิดว่าจะซื้อบ้านภายใน 3 ปี ราว 42% (จากจำนวน 2,000 คน)
สะท้อนกำลังซื้ออสังหาฯของผู้บริโภคที่ลดลง และชะลอการตัดสินใจซื้อหรือเลื่อนการซื้อออกไปนานขึ้น สอดคล้องกับ Consumer Confidence Index ที่พบว่า ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยในปี 2024 ลดลง ซึ่งคนส่วนใหญ่ขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยในช่วง 12 เดือนข้างหน้า และมองว่าในช่วงนี้ไม่ใช่โอกาสที่ดี ในการซื้อสินค้ามูลค่าสูง อย่างอสังหาฯ หรือรถยนต์
“ ปีนี้พบว่ากลุ่ม Baby Boomer มีแนวโน้มจะซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ภายใน 3 ปีเพิ่มมากขึ้น จากเจเนอเรชั่นอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ เพราะส่วนใหญ่กำลังมองหาบ้านใหม่ที่สามารถตอบโจทย์การอยู่อาศัยของคนสูงวัย โดยมีพื้นที่ระเบียง ที่สามารถนั่งพักผ่อน ภายใต้บรรยากาศที่เงียบสงบ มีมุมสงบเป็นส่วนตัว และใกล้ชิดธรรมชาติ สอดคล้องกับกลุ่ม Gen X ที่เห็นสัญญาณความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัย ขณะเดียวกันยังต้องการพื้นที่ส่วนกลางเพื่อรองรับการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม”
สำหรับเทรนด์การพัฒนานวัตกรรมบ้านในปี 2025 พบ คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ 3 ด้าน คือ บ้านเทคโนโลยี , บ้านรักษ์โลก และ บ้านสุขภาพดี เป็นต้น
ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney