40% ของคนไทยใส่เสื้อผ้าครั้งเดียวแล้วทิ้ง Fast Fashion เบื่อง่าย เสพติดไลฟ์สไตล์ อินฟลูฯ เกินพอดี

Business & Marketing

Trends

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

40% ของคนไทยใส่เสื้อผ้าครั้งเดียวแล้วทิ้ง Fast Fashion เบื่อง่าย เสพติดไลฟ์สไตล์ อินฟลูฯ เกินพอดี

Date Time: 26 ส.ค. 2567 15:03 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • Fast Fashion ทั่วโลกเติบโตรวดเร็ว คาดปี 2571 มูลค่าแตะ 197 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตัวเลขเศรษฐกิจมหาศาล ที่แลกมาด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อม ขณะ สภาพัฒน์ฯ เผย 40% ของคนไทย ใส่เสื้อผ้าครั้งเดียวแล้วทิ้ง สวมแล้วไม่เหมาะ มีตำหนิ เสพติดไลฟ์สไตล์ อินกับอินฟลูเอนเซอร์เกินพอดี

Latest


ปัจจุบันธุรกิจ Fast Fashion (เสื้อผ้าตามกระแสที่มาไวไปไว) ทั่วโลก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล จากการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยข้อมูล Research and Markets พบว่า ในปี 2567 มูลค่าตลาดดังกล่าวอยู่ที่ 142.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 15.5% และคาดว่าในปี 2571 จะมีมูลค่าสูงถึง 197.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตามในอีกด้านหนึ่ง Fast Fashion กลับส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในวงกว้าง และสะท้อนมิติทางสังคมอย่างน่าเป็นห่วง 

ไทย ผลิตและนำเข้า "เสื้อผ้าสำเร็จรูป" 110.8 ล้านชิ้นต่อปี 

ล่าสุด สภาพัฒน์ฯ ออกรายงาน ภาวะสังคมไทย ไตรมาส 2 ปี 2567 โดยระบุว่า สำหรับประเทศไทยไม่ได้มีการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจ Fast Fashion ไว้อย่างชัดเจน แต่ถูกรวมอยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งในปี 2565 มูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่มมีมูลค่ามากถึง 1.6 แสนล้านบาท

ขณะจากข้อมูลปริมาณการผลิตและนำเข้าของอุตสาหกรรมสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พบว่า ในปี 2566 มีการผลิตเส้นใย 7.2 แสนตัน ผ้าผืน 287.1 ล้านเมตร และเสื้อผ้าสำเร็จรูปอยู่ที่ 110.8 ล้านชิ้น 

นอกจากนี้ยังมีการนำเข้าสินค้าในกลุ่มเส้นใยมูลค่ากว่า 5.2 หมื่นล้านบาท และเสื้อผ้าสำเร็จรูปอีกกว่า 4.8 หมื่นล้านบาท โดยแรงงานที่อยู่ในภาคส่วนดังกล่าวมีจำวนทั้งสิ้น 6.2 แสนคน และส่วนใหญ่อยู่ในสาขาการผลิตเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายในสัดส่วนมากถึง 68.1% 


ทั้งนี้ Fast Fashion ไม่ได้ส่งผลแค่ปริมาณขยะที่เพิ่มสูงขึ้น, สร้างความเสียหายทางชีวภาพและธรรมชาติที่เสื่อมโทรม, ปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมีปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือละเมิดแรงงานอยู่บ่อยครั้งเท่านั้น 

แต่เทรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นก็ได้สะท้อนถึงการสร้างวัฒนธรรมการบริโภคเกินพอดี (Overconsumption) เช่นกัน เพราะทำให้คนไม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าของการซื้อสินค้า โดยวัฒนธรรมดังกล่าวเกิดจากการโฆษณาส่งเสริมการขายที่กระตุ้นให้คนซื้อมากกว่าความจำเป็นในการใช้ และทำให้ค่านิยมเปลี่ยน เช่น การไม่ใส่เสื้อผ้าซ้ำ การใส่เสื้อผ้าแบบทิ้งขว้าง (ใส่ครั้งเดียวแล้วทิ้ง) 

รีวิว Influencer กระตุ้นการบริโภคเกินพอดี ค่านิยม Fast Fashion

นอกจากนี้การรีวิวโปรโมตสินค้า การขาย ไลฟ์สไตล์ของ Influencer ยิ่งกระตุ้นให้คนซื้อมากขึ้นไปอีก จากรายงาน 2019 Global Fashion Influencer Study พบว่า 86% ของผู้บริโภค ตัดสินใจซื้อเสื้อผ้าหลังเห็นอินฟลูเอนเซอร์ใส่ 

ในกรณีของ ประเทศไทย จากข้อมูลผลสำรวจของ YouGov55 พบว่า กว่า 40% ของคนไทย มีการทิ้งเสื้อผ้าหลังสวมใส่เพียงครั้งเดียว โดย 1 ใน 4 ทิ้งอย่างน้อย 3 ชิ้น ซึ่งสาเหตุการทิ้งส่วนใหญ่มาจากการคิดว่าเสื้อผ้าไม่เหมาะ หรือมีตำหนิ ตลอดจนรู้สึกเบื่อ ซึ่งสะท้อนการเสพติดวัฒนธรรมการบริโภคเกินพอดี 

ทั้งนี้ สินค้า Fast Fashion มักมีการปนเปื้อนของสารเคมีที่สามารถสะสมในร่างกายและเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวได้ โดยเฉพาะไมโครพลาสติก หรืออนุภาคพลาสติกที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ทำให้ยากต่อการกำจัด โดยเมื่อเข้าสู่ร่างกายอาจเข้าไปขัดขวางและรบกวนการทำงานของระบบฮอร์โมนและเส้นเลือด ตลอดจนส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กเล็กได้.

ที่มา : สภาพัฒน์ 

ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ