ไทยกำลังจะกลายเป็นชาติที่ 37 ของโลก และชาติแรกของอาเซียนที่มี "กฎหมายสมรสเท่าเทียม" หลังจาก สภาผู้แทนราษฎรไทย ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ขณะ เมื่อ 2 เมษายน ที่ผ่านมา ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติรับหลักการร่างวาระแรก พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาในรายละเอียดแล้ว
โดยความสำคัญของกฎหมายสมรสเท่าเทียมนั้น จะขยายสิทธิการสมรสให้ครอบคลุมบุคคลในทุกเพศอย่างถูกกฎหมาย และสนับสนุนให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการ เท่าเทียมกับ "คู่รัก" ชาย-หญิง
ขณะล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่า "กฎหมายสมรสเท่าเทียม" จะมีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับไทย และมีส่วนเสริมในการผลักดันเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคบริการให้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพ
เนื่องจาก กลุ่มผู้บริโภค LGBTQIA+ เป็นกลุ่มผู้บริโภคศักยภาพที่มีกำลังซื้อสูง รวมถึงโอกาสในการเป็นเจ้าภาพจัดงานเทศกาลระดับโลก World Pride ซึ่งจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของไทยในระดับสากลและก่อให้เกิดรายได้ในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้องของไทยได้อย่างมหาศาล
เจาะธุรกิจดาวรุ่ง ในภาคบริการ กับการมาของ "สมรสเท่าเทียม" ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานแต่งงาน เช่น ธุรกิจสตูดิโอถ่ายภาพ ธุรกิจเช่าชุดแต่งงาน สิทธิในการสมรสจะช่วยเพิ่มความต้องการในการจัดงานเฉลิมฉลองการแต่งงานมากขึ้น
โดยมีข้อมูลจากบริษัทให้บริการจัดงานแต่งงานของไทย Wonders and Weddings คาดการณ์ว่า ยอดจองการจัดงานแต่งงานจะเพิ่มมากขึ้น โดยการจองจัดงานแต่งงานของกลุ่ม LGBTQIA+1 จะคิดเป็น 25% จากยอดจองทั้งหมด
"การจัดงานแต่งงานถือเป็นการฉลองก้าวสำคัญ (milestone) ของชีวิตของหลายคน ซึ่งกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศก็ต้องการเฉลิมฉลองช่วงเวลาสำคัญนี้เช่นกัน"
ส่วน ข้อมูลของบริษัท IPSOS ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านตลาดข้ามชาติให้ข้อมูลว่าประชากร 9% ของไทย ระบุตนเองว่าเป็นกลุ่ม LGBTQIA+ ซึ่งความต้องการในการจัดงานเฉลิมฉลองที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานแต่งงานเติบโตอย่างมาก
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เป็นโอกาสที่กว้างขึ้น คือ ไทยควรผลักดันในการเป็นศูนย์กลางการจัดงานแต่งงานของทุกเพศสภาพในเอเชีย เนื่องจากความพร้อมในด้านกฎหมาย ความเป็นเลิศในด้านการจัดงานและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องของไทย และการมีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย ทั้งทางด้านธรรมชาติ วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ เหมาะสมอย่างยิ่งในการเป็นสถานที่สำหรับการจัดงานแต่งงานและฮันนีมูน ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับไทยเป็นอย่างมาก
การมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ยังจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่ม LGBTQIA+ ในการเดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศไทยที่เป็นจุดหมายการเดินทางที่เป็นมิตร
โดยข้อมูลจาก World Travel & Tourism Council ระบุว่า สัดส่วนของกลุ่มนักท่องเที่ยว LGBTQIA+ คิดเป็น 10% ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก และค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้คิดเป็น 16% ของค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวทั้งหมด ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ถือว่าเป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง ชอบเดินทางท่องเที่ยว สัมผัสประสบการณ์ที่หลากหลาย
ดังนั้น การมีกฎหมายที่รองรับและสภาพสังคมที่เป็นมิตรจะแสดงถึงการยอมรับและให้เกียรติกลุ่ม LGBTQIA+ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้รู้สึกปลอดภัยและสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น
กระทรวงพาณิชย์ ยังคาดการณ์ว่า ธุรกิจประกันภัยและธุรกิจทางการเงิน จะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจบริการที่จะเติบโตมากขึ้น เพราะกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้สนับสนุนให้คู่รักหลากหลายเพศได้รับสิทธิในการดูแลชีวิตของคู่รัก สิทธิในการดูแลจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส การเป็นตัวแทนทางกฎหมายและการสามารถรับมรดกจากคู่สมรสได้
ทำให้คู่ LGBTQIA+ สามารถทำประกันชีวิตให้กันและสามารถเป็นผู้รับผลประโยชน์ หรือสร้างความมั่นคงในฐานะครอบครัว เช่น การกู้เงินเพื่อซื้อบ้านร่วมกัน การถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินร่วมกัน ส่งผลความต้องการในการทำประกันภัยหรือการร่วมสร้างครอบครัวหรือธุรกิจร่วมกับคู่รัก เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ยังกฎหมายสมรสเท่าเทียม ยังเป็นโอกาสของ ธุรกิจการให้คำปรึกษาและการวางแผนครอบครัวสำหรับคู่รักหลากหลายเพศ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความบันเทิงและนันทนาการ โดยเฉพาะซีรีส์วาย ซึ่งสร้างรายได้ให้กับไทยเป็นอย่างมาก และยังสามารถสอดแทรกวัฒนธรรม สินค้าและบริการของไทยได้เป็นอย่างดี ทำให้ไทยเป็นที่รู้จักในตลาดโลกอีกด้วย
ที่มา : กระทรวงพาณิชย์
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney