คนไทยใจกว้างสวนทางโลก ยอมแบกต้นทุน ซื้อของแพงขึ้น แม้ปริมาณลด

Business & Marketing

Trends

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

คนไทยใจกว้างสวนทางโลก ยอมแบกต้นทุน ซื้อของแพงขึ้น แม้ปริมาณลด

Date Time: 23 ธ.ค. 2566 12:28 น.

Video

บุกโรงงาน PANDORA ช่างไทยผลิตจิวเวลรี่ แบรนด์โลกแสนล้าน | On The Rise

Summary

  • “ปัญหาเงินเฟ้อ” ไม่ได้สะท้อนผ่านค่าครองชีพและภาระหนี้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการหดตัวของขนาดสินค้าในชีวิตประจำวัน ทำให้เราต้องจ่ายแพงขึ้น โดยที่ไม่ทันสังเกต Thairath Money ชวนดูสถานการณ์ Shrinkflation ในประเทศไทย คนไทยรู้ตัวแค่ไหน ยอมรับได้ไหม กับกลยุทธ์ลดต้นทุนของธุรกิจที่ลดปริมาณสินค้า แต่คงราคาเท่าเดิม

Latest


ในที่สุดก็เดินทางมาถึงสิ้นปี 2566 ตลอดทั้งปีนี้เรียกได้ว่าเป็นปีแห่งความท้าทายของเศรษฐกิจโลก แม้ทั่วโลกจะยังไม่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างที่นักวิเคราะห์หลายๆ คนคาดการณ์ไว้ในปีที่แล้ว แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆ เพื่อลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อที่กระทบค่าครองชีพของประชาชน ในขณะเดียวกันก็เป็นซ้ำเติมให้หนี้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนพุ่งสูงขึ้น จากต้นทุนการกู้ยืมที่มากขึ้น  


“ปัญหาเงินเฟ้อ” ไม่ได้สะท้อนผ่านค่าครองชีพและภาระหนี้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการหดตัวของขนาดสินค้าในชีวิตประจำวัน ทำให้เราต้องจ่ายแพงขึ้น โดยที่ไม่ทันสังเกต หรือที่เรียกว่า Shrinkflation


Shrinkflation คืออะไร


สถานการณ์นี้เรียกว่า “Shrinkflation” ซึ่งเป็นเทคนิคการตลาดของเหล่าแบรนด์ต่างๆ ที่จะทำการลดปริมาณ ขนาด หรือปรับส่วนผสมของสินค้า แต่ยังคงราคาขายเท่าเดิม เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่บริษัทต่างๆ ต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้ต้องส่งต่อต้นทุนมายังผู้บริโภค


เหตุผลที่กลยุทธ์นี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในกลุ่มธุรกิจอาหาร เนื่องจาก เป็นวิธีที่แนบเนียนและส่งผลกระทบต่อความรู้สึกผู้บริโภคน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับการปรับขึ้นราคาแบบโต้งๆ


อย่างไรก็ตาม Shrinkflation กลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างมากทั่วโลก ถึงความชอบธรรมว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรปเรียกสิ่งนี้ว่าเป็น “เทคนิคการตลาดที่หลอกลวง” ในขณะที่รัฐบาลฝรั่งเศสกล่าวว่าจะมีการออกกฎหมายเพื่อให้มั่นใจว่าผู้บริโภคจะได้รับการแจ้งเตือนหากมีการลดขนาดลง


ข้อมูลจากรายงาน ศึกษาชุดพิเศษ  “What worries Thailand” โดย อิปซอสส์ (Ipsos) บริษัทผู้ให้บริการงานวิจัยด้านการตลาดแบบครบวงจร ได้อธิบายถึงสถานการณ์ Shrinkflation ทั้งไทยและต่างประเทศ ดังนี้

สถานการณ์ Shrinkflation ทั่วโลก


จากการสำรวจผู้บริโภคใน 33 ประเทศทั่วโลก พบว่า กว่า 46% สังเกตเห็นถึงเห็นขนาดสินค้าที่เล็กลงแต่ราคาคงเดิม สถานการณ์ Shrinkflation ถูกสังเกตเห็นมากที่สุดในยุโรป โดยอังกฤษเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้บริโภค ที่สังเกตเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงมากที่สุดที่ 64% ตามมาด้วยฝรั่งเศส 63% และเยอรมนี 62%


ในขณะที่ผู้บริโภคในลาตินอเมริกา และเอเชีย สังเกตเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงน้อยกว่า โดยผู้บริโภคในโคลอมเบียมีการรับรู้ที่ 28% ในขณะผู้บริโภคในอินเดีย และจีนอยู่ที่ 30%


ทั้งนี้ ผู้บริโภคเกือบ 1 ใน 4 หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ยทั่วโลก 22% ยอมรับได้ที่ธุรกิจและผู้ค้าปลีกใช้กลยุทธ์ Shrinkflation เพื่อลดต้นทุน แต่ผู้บริโภคโดยเฉลี่ย 48% มองว่าการลดขนาดสินค้า แต่คงราคาเท่าเดิม เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ 

คนไทย 50% เห็นใจแบรนด์ ยอมจ่ายแพง


จากการสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคในไทย พบว่า ภาวะเงินเฟ้อ ยังเป็นปัจจัยที่กระทบเศรษฐกิจมากที่สุด เนื่องจากคนไทยต้องดิ้นรนต่อสู้กับภาวะวิกฤติด้านค่าครองชีพ ในขณะเดียวกันก็ยังมีความหวังกับเศรษฐกิจในอีกครึ่งปีข้างหน้า นอกจากนี้ 50% ของคนไทยยังมองว่า ราคาสินค้าและบริการในปีหน้า จะสูงขึ้นกว่าในปัจจุบัน

สอดคล้องกับการรับรู้ของผู้บริโภคไทยต่อเทคนิค Shrinkflation ดังนี้


39% ของผู้บริโภคไทยสังเกตเห็นขนาดสินค้าเล็กลงแต่ราคาคงเดิม

57% รู้ว่าต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้น ขณะที่ขนาดสินค้าเท่าเดิม

29% สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของส่วนผสมที่ใช้ในอาหารและผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยที่ราคาคงเดิม

โดยสินค้า 10 อันดับที่คนไทยสังเกตว่ามีการลดขนาดหรือปริมาณ ได้แก่

  1. ขนมขบเคี้ยว (มันฝรั่งทอดกรอบ เพรทเซล ฯลฯ) ที่ 52%
  2. กลุ่มอาหารสำเร็จรูป (อาหารแช่แข็งหรืออาหารสด พิซซ่า ฯลฯ) ที่ 50%
  3. ช็อกโกแลตและขนมหวาน ที่ 46%
  4. ผักสด/ผลไม้ ที่ 40%
  5. ของว่างแช่แข็ง/ไอศกรีม/ของหวานแช่แข็ง ที่ 36%
  6. เครื่องดื่มไม่อัดลม (น้ำผลไม้ น้ำหวาน ฯลฯ) ที่ 34%
  7. ขนมปัง ที่ 34%
  8. เนื้อสดหรือแช่แข็ง ที่ 31%
  9. นม/เครื่องดื่มนม ที่ 31%
  10. กาแฟ ที่ 30%

ทั้งนี้ 50% ของคนไทยคิดว่า การที่ธุรกิจและผู้ค้าปลีกทำการลดขนาดสินค้า  โดยยังคงราคาเท่าเดิม เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้น เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 22% อย่างมีนัยสำคัญ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ