รายงานจาก Digital News Report 2023 ของ Reuters Institution ทำการสำรวจพฤติกรรมการเสพข่าว พบไทยและเปรูเป็นประเทศที่ใช้ TikTok ในการเสพข่าวมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นอัตราที่สูงถึง 30% ขณะที่การใช้ TikTok เพื่อจุดประสงค์อื่นๆ อันดับหนึ่งของโลก คือ เคนยา อยู่ที่ 54% ประเทศไทยอันดับสอง อยู่ที่ 51% และแอฟริกาใต้เป็นอันดับสาม อยู่ที่ 50%
ขณะที่ประเทศที่มีสัดส่วนผู้ใช้งาน TikTok ในการตามข่าวน้อยที่สุดสามอันดับแรก ได้แก่ เดนมาร์ก 2% ญี่ปุ่นและเยอรมันเท่ากันที่ 3%
นอกจากนี้ข้อมูลจากการวิจัยยังพบว่าเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการระบาดของโควิดและสงครามรัสเซียยูเครนได้เร่งการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของสื่อให้มีความเป็นดิจิทัล อยู่บนมือถือ และพึ่งพาแพลตฟอร์มมากขึ้น โดยมีผลกระทบกับโมเดลธุรกิจและรูปแบบของการทำข่าวมากขึ้น
ขณะเดียวกันสื่อที่มีการนำเสนอข่าวอย่างถูกต้อง ได้รับเงินทุนสนับสนุนอย่างเพียงพอ และเป็นอิสระ ยังคงมีความสำคัญ แต่จากการสำรวจในหลายประเทศก็พบว่า คุณสมบัติเหล่านี้กลับสั่นคลอนจากความเชื่อมั่นและการมีส่วนร่วมกับสื่อที่ลดลง ตลอดจนสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ไม่แน่นอนก็เป็นส่วนหนึ่งของความท้าทายในอุตสาหกรรมสื่อ
การสำรวจการเข้าถึงข่าวออนไลน์ ยังพบว่าในทุกๆ ปีการเข้าแอปฯ และเว็บไซต์ข่าวโดยตรงมีความสำคัญน้อยลง กลับกันโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นจากความง่ายและสะดวกในการใช้เพื่อติดตามข่าว
โดยรายงานแสดงสัดส่วนของการรับข่าวจากแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ข่าวโดยตรงที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่การรับข่าวจากโซเชียลมีเดียกลับโตสวนทาง
ขณะเดียวกันก็มีความแตกต่างของพฤติกรรมผู้คนในแต่ละประเทศ โดยในตลาดฝั่งยุโรปเหนือที่ผู้คนยังคงตามข่าวจากเว็บข่าวโดยตรง ยกตัวอย่างประเทศฟินแลนด์ที่สัดส่วนการเข้าเว็บไซต์ข่าวโดยตรงอยู่ที่ 63% ตามมาด้วยนอร์เวย์ (59%) เดนมาร์ก (50%) และสวีเดน (48%)
ตรงกันข้ามกับบางประเทศในแถบเอเชีย ลาตินอเมริกา และแอฟริกา ที่โซเชียลมีเดียนับเป็นช่องทางสำคัญในการรับข่าวสาร ส่งผลให้สำนักข่าวต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มโซเชียลมากขึ้น
ซึ่งไทยก็ครองอันดับหนึ่งของการตามข่าวจากโซเชียลมีเดียอยู่ที่ 64% ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ (53%) ชิลี (52%) และเปรู (49%) ขณะที่สัดส่วนการรับข่าวจากเว็บข่าวโดยตรงของไทยอยู่ที่ 7%
ปัจจุบันพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ Facebook มีบทบาทอย่างมาก แต่ขณะนี้นับเป็นยุคแห่งการเติบโตของ TikTok และแพลตฟอร์มที่เน้นวิดีโอ และแม้จะมีข้อกังขาในเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง แต่การพึ่งพาแพลตฟอร์มเหล่านี้ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งสาเหตุก็มาจากพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่โตมากับโซเชียลมีเดียและให้ความสนใจกับอินฟลูเอนเซอร์หรือเหล่าคนดังมากกว่านักข่าว แม้จะเป็นประเด็นด้านข่าวโดยตรงก็ตาม
โดยเฉพาะเมื่ออยู่บนแพลตฟอร์มอย่าง TikTok, Instagram และ Snapchat ตรงกันข้ามกับ Facebook และ Twitter ที่บรรดาสื่อข่าวและนักข่าวยังคงเป็นศูนย์กลางในการพูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็น
ทั้งนี้พบว่าคนอายุต่ำกว่า 25 สนใจ Facebook น้อยลงมาก โดยเริ่มจากหันไปให้ความสนใจกับ Instagram และ Snapchat และต่อมาก็เป็น TikTok ที่ได้รับความสนใจในปัจจุบัน มียอดการเข้าถึงในปี 2023 เทียบเท่ากับ Facebook ที่ 38% แซงหน้า Twitter (33%) และ Snapchat (35%)
ขณะที่ Discord และ Twitch ก็ยังคงมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในกลุ่มคนอายุต่ำกว่า 25 ปีที่ 15% และ 12% ตามลำดับ
แสดงให้เห็นถึงความสนใจที่เปลี่ยนแปลงไปจากเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์กขนาดใหญ่ไม่กี่เจ้าที่เป็นตัวขับเคลื่อนยอดการเข้าชมเว็บไซต์ข่าว ไปสู่ความนิยมในแอปพลิเคชันที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งต้องมีการลงทุนผลิตคอนเทนต์ให้เหมาะสมกับผู้ชมในแต่ละแพลตฟอร์มมากขึ้น
จากการเก็บข้อมูลใน 12 ประเทศกลุ่มตัวอย่างในมุมของการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กในการรับข่าวสาร พบว่า Facebook ยังคงเป็นเครือข่ายที่สำคัญที่สุดสำหรับคนทุกช่วงวัย โดยมีสัดส่วนผู้ใช้เพื่อตามข่าวอยู่ที่ 28% แต่ยังคงต่ำกว่าจุดสูงสุดในปี 2016 ที่มีสัดส่วนผู้ใช้งานถึง 42% ขณะที่การใช้งาน YouTube มาเป็นอันดับสองที่ 20%
ซึ่งทาง Facebook ก็ให้ความสำคัญกับข่าวลดลงมาได้ระยะหนึ่ง โดยลดสัดส่วนการมองเห็นข่าวบนหน้าฟีดน้อยกว่า 3% ตามตัวเลขล่าสุดของบริษัทเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ ขณะเดียวกันก็มีอิทธิพลกับวงการสื่อน้อยลงเช่นกันจากบทบาทของ YouTube ที่เพิ่มมากขึ้น และ TikTok ที่เข้าถึงคนอายุ 18-24 ปี ในตลาดต่างๆ เพิ่มมากขึ้น
สำหรับสัดส่วนการใช้ TikTok เพื่อติดตามข่าวสำหรับคนทุกช่วงวัยนั้นอยู่ที่ 6% แม้จะอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ แต่การใช้งานในกลุ่มคนอายุน้อย และบางประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก ลาตินอเมริกา และแอฟริกากลับสูงขึ้นมาก
อ้างอิง