นายอเส สุขยางค์ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า การจัดงานสถาปนิก’68 นอกจากวัตถุประสงค์ของการเป็นพื้นที่เชื่อมโยงผู้คนทั่วโลกในแวดวงสถาปัตยกรรม ผ่านงานแสดงนิทรรศการ การประชุมสัมมนา การเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ที่มีบทบาทส่งเสริมวิชาชีพสถาปัตยกรรม การพัฒนาองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรม มีส่วนสำคัญต่อคุณภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคม รวมถึงยังสามารถสะท้อนศิลปวัฒนธรรม และมีส่วนผลักดันเศรษฐกิจของประเทศได้
ทั้งยังเป็นสื่อกลางในการจัดแสดงงานออกแบบ วัสดุก่อสร้าง การให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เทคโนโลยี นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับวงการสถาปัตยกรรมระดับนานาชาติ รวบรวมผู้ประกอบการแบรนด์ชั้นนำของไทยและต่างประเทศ มาจัดแสดงบนพื้นที่เดียวกันที่ใหญ่มากถึง 75,000 ตร.ม.แล้ว คาดว่าจากความน่าสนใจของการจัดแสดงนิทรรศการ กิจกรรมเสวนาให้ความรู้ และสินค้าบริการที่ครบวงจร งานสถาปนิก’68 จะได้ผลตอบรับที่ดีมีผู้เข้าร่วมงานทั้งไทยและต่างประเทศรวม 6 วันของการจัดงานกว่า 325,000 คน
นายธันว์ ศรีจันทร์ ประธานจัดงานสถาปนิก’68 กล่าวว่า ปีนี้ได้จัดแสดงนิทรรศการที่น่าสนใจไว้มากมาย อาทิ นิทรรศการทบทวน ทิศทาง การนำเสนอแนวคิดการทบทวนคุณค่าของงานสถาปัตยกรรมในอดีต หาข้อมูล วิเคราะห์ และนำมาออกแบบใหม่อีกครั้ง โดยผ่านการตีความของสถาปนิก อาจารย์ นักศึกษาจากโรงเรียนออกแบบรุ่นใหม่ เพื่อเป็นการเชื่อมช่วงเวลาจากรุ่นสู่รุ่น และเป็นตัวอย่างการตีความจากอดีตสู่อนาคต
ต่อด้วยชิ้นแรก ชิ้นล่า : From the First Piece to the Latest พื้นที่นำเสนอผลงาน 2 ชิ้นประกอบไปด้วย ผลงานการออกแบบชิ้นแรก ที่นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทาง และผลงานการออกแบบชิ้นล่าสุดที่แสดงถึงการพัฒนาและความก้าวหน้าของผลงานในปัจจุบัน อีกทั้ง เรื่องเล่า 3 รุ่น เป็นความสัมพันธ์ของคน 3 วัย ที่จะมาสะท้อนแนวทาง ต่อยอด ส่งต่อ ผ่านการทำงานร่วมกัน บทสนทนา พร้อมภาพประกอบของคน 3 วัย หลากหลายสายงาน
ถัดมาคือ นิทรรศการสมาคมมัณฑนากร แห่งประเทศไทย : TIDA และ นิทรรศการและพื้นที่สัมมนาวิชาการ TALA : ไทยไท ปิดท้ายกับ นิทรรศการ สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย : TUDA ซึ่งในแต่ละโซนมีกิจกรรมที่น่าสนใจหลากหลาย อาทิ การเปิดให้คำแนะนำ คำปรึกษาด้านงานสถาปัตยกรรม การเปิดรับสมาชิก การให้ร่วมสนุกลุ้นรับรางวัล และจุดจำหน่ายสินค้าของสมาคมฯ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการจากทาง 4 องค์กรวิชาชีพสถาปนิก ได้แก่ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย, สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย, สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย ยังมีนิทรรศการวิชาการ ซึ่งเป็นนิทรรศการประกวดแบบเชิงแนวความคิด (ASA Experimental Design Competition) การแสดงผลงานการประกวดแบบในระดับนานาชาติที่เปิดให้สมาชิกสมาคมฯ สถาปนิก นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมส่งผลงานแสดงแนวคิดในการออกแบบภายใต้ธีม อนาคตนิยม Future Nostalgia In Architecture อีกด้วย
นายศุภแมน มรรคา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีทีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้สนใจลงทะเบียนเข้าชมงานล่วงหน้าแล้วเป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อเทียบกับข้อมูลในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่ามีอัตราเพิ่มขึ้นถึง 50.91% โดยสัดส่วนของผู้เข้าชมส่วนใหญ่เป็นกลุ่มในวงการการก่อสร้าง อาทิ สถาปนิก วิศวกร นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผู้รับเหมา สูงถึง 83.51% ซึ่งมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 49.33% จากปีก่อน
สำหรับสัดส่วนผู้เข้าชมจากต่างประเทศอยู่ที่ 16.66% ของยอดลงทะเบียนทั้งหมด ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าตลอดระยะเวลา 6 วันของการจัดงาน จะมีผู้เข้าชมงานรวมทั้งสิ้นประมาณ 325,000 คน โดยมีสัดส่วนผู้เชี่ยวชาญในสาขาสถาปัตยกรรมและการก่อสร้าง (Professional Visitors) เพิ่มขึ้นจากเดิม 55% เป็น 60% ในปีนี้
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคภาคตะวันออก และบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) โดยเมืองไทยสไมล์คลับ ผนึกกำลังจัดทริป ฟินแบบสไมล์@เกาะช้าง พร้อมนำสมาชิกเมืองไทยสไมล์คลับผู้โชคดีจากการลุ้นร่วมทริปเที่ยวเกาะช้าง ร่วมออกเดินทางเพื่อไปสัมผัสประสบการณ์ใหม่ของการท่องเที่ยวเกาะช้าง โดยผู้ร่วมทริปได้เพลิดเพลินกับการดำน้ำตื้น ชมความงามใต้ท้องทะเล และปะการังที่สวยงาม ท่ามกลางฝูงปลาหลากชนิด ที่เกาะคลุ้ม เกาะเหลายา และเกาะหวาย โดยกิจกรรมดังกล่าวถือเป็นหนึ่งการช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในภาคตะวันออก และช่วยเผยแพร่ให้นักท่องเที่ยวรู้จักเกาะช้างมากยิ่งขึ้น
โครงการ "โรงเรียนรักษ์โลก แยกขยะลุ้นโชคกับมอนเดลีซ ปี 3" จัดขึ้นโดย บริษัท มอนเดลีซ อินเตอร์เนชันแนล (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร และ แทรชลัคกี้ ได้บรรลุเป้าหมายสำคัญในการสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมแก่เยาวชนไทย ด้วยความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนพฤติกรรมการจัดการขยะอย่างยั่งยืน โดยโครงการนี้ได้ปลูกฝังแนวคิดการคัดแยกขยะให้กับนักเรียนมากกว่า 20,000 คน จาก 22 สถาบันโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร และสามารถรีไซเคิลขยะได้กว่า 9,400 กิโลกรัม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 36 ตัน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมกันยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยาน ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาค โดยร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจการศึกษาความเป็นไปได้ของความร่วมมือทางธุรกิจโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา
โดยมี นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทยฯ และ นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพฯ ร่วมลงนาม พร้อมด้วย นายเชิดพันธ์ โชติคุณ ประธานเจ้าหน้าที่สายช่าง บริษัท การบินไทยฯ และนายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสสายงานการเงินและบัญชี บริษัท การบินกรุงเทพฯ ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ สำนักงานใหญ่ การบินไทย ถนนวิภาวดีรังสิต