Thairath OnlineThairath PlusThairath SportThairath TVMIRROR

Forever 21 ยื่นล้มละลายอีกครั้งในรอบ 6 ปี เตรียมปิดกิจการหลังพ่ายศึก Shein-Temu สงครามราคา

Date Time: 19 มี.ค. 2568 10:05 น.

Summary

  • เกิดอะไรขึ้นกับ Forever 21 แบรนด์แฟชั่นรีเทลอเมริกันที่เคยนิยมทั่วโลก? ยื่นล้มละลายรอบสอง เตรียมปิดกิจการภายในประเทศอย่างเป็นทางการ ย้อนเส้นทางหลังการล้มละลายครั้งแรก หลังไม่สามารถแก้ปัญหาขาดทุนทางการเงินและรับมือการเปลี่ยนแปลงของตลาด การเติบโตของอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะจากคู่แข่งต้นทุนต่ำจากจีนอย่าง Shein และ Temu ที่ทำให้แบรนด์อเมริกายังไม่รอด

“Forever 21” แบรนด์เสื้อผ้าและไลฟ์สไตล์แฟชั่นรีเทลสัญชาติอเมริกันที่เคยได้รับความนิยมทั่วโลก ยื่นขอล้มละลายครั้งที่สองและเตรียมยุติการดำเนินธุรกิจภายในประเทศ นับเป็นครั้งที่สองภายในหกปีจากการยื่นล้มละลายครั้งแรกในปี 2019

Forever 21 เข้าสู่กระบวนการล้มละลายด้วยหนี้สิน 1.58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากขาดทุนมากกว่า 400 ล้านดอลลาร์ในช่วงสามปีที่ผ่านมา โดยในปี 2024 บริษัทขาดทุนถึง 150 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 180 ล้านดอลลาร์ในปี 2025 ตามเอกสารที่ยื่นต่อศาลล้มละลายในเมืองวิลมิงตัน รัฐเดลาแวร์ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (16 มี.ค.)

ผลกระทบของข้อยกเว้นภาษีพัสดุ de minimis

"เราไม่สามารถหาหนทางที่ยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เนื่องจากการแข่งขันจากบริษัทแฟชั่นรวดเร็วจากต่างประเทศที่ใช้ข้อยกเว้น de minimis เพื่อกดราคาสินค้าให้ต่ำกว่าของเรา" แบรด เซลล์ (Brad Sell) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของ Forever 21 กล่าว

บริษัทระบุว่า สถานการณ์ดังกล่าวเกิดจากต้นทุนที่สูงขึ้นและผลกระทบจากบริษัทต่างชาติที่ใช้ประโยชน์จากข้อยกเว้นภาษีศุลกากรและกระบวนการทางศุลกากรของสหรัฐอเมริกาสำหรับสินค้าที่นำเข้าส่งตรงถึงผู้บริโภคที่มีมูลค่าต่ำกว่า 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ (de minimis exemption) ซึ่งช่วยให้ผู้ค้าปลีกออนไลน์จากจีน เช่น Shein และ Temu สามารถคงราคาสินค้าให้ต่ำได้ สามารถส่งสินค้าราคาต่ำจากจีนมายังสหรัฐฯ ได้ ทำให้บริษัทเสียเปรียบด้านราคาและกำไร

อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ชะลอการยกเลิกข้อยกเว้นดังกล่าวในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วส่งผลกระทบต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร บริการไปรษณีย์ บริษัทขนส่ง และผู้ค้าปลีกออนไลน์ทั่วสหรัฐฯ

จุดสูงสุดและการล่มสลายของ Forever 21

Forever 21 ก่อตั้งขึ้นในลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อปี 1984 โดย Do Won Chang & Jin Soo ซึ่งเป็นสองผู้อพยพชาวเกาหลีใต้ที่เข้ามาพักพิงในสหรัฐฯ สไตล์ฟาสต์แฟชั่น การคัดสรรเสื้อผ้าตามเทรนด์และราคาไม่แพงมากในขณะนั้นทำให้แบรนด์ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ลูกค้าวัยหนุ่มสาวที่มองหาเสื้อผ้าแฟชั่นในราคาย่อมเยา โดยในช่วงที่ธุรกิจรุ่งเรืองราวปี 2000–2010 บริษัทมีพนักงานถึง 43,000 คน ดำเนินกิจการ 800 สาขาทั่วโลก และมีรายได้ต่อปีมากกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามข้อมูลจากเอกสารที่ยื่นต่อศาล

การแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมค้าปลีก

การเติบโตของอีคอมเมิร์ซและการลดลงของห้างสรรพสินค้าในสหรัฐฯ หลังสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อบริษัทค้าปลีกแฟชั่นหลายราย รวมถึง Forever 21 และ Express ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแบรนด์ Bonobos ที่ยื่นล้มละลายเมื่อปีที่แล้ว

ซาร่าห์ ฟอสส์ (Sarah Foss) หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและการปรับโครงสร้างหนี้ของ Debtwire ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อให้ความเห็นว่า Forever 21 ต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่รุนแรง ซึ่งต้นทุนการดำเนินธุรกิจสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามอัตราเงินเฟ้อ โดยตั้งแต่ต้นปี 2024 ภาคธุรกิจค้าปลีกมีการยื่นล้มละลายถึง 20 ราย ขณะที่มีธุรกิจค้าปลีกอย่างน้อย 25 รายที่เคยยื่นล้มละลายมาแล้วสองครั้งตั้งแต่ปี 2016 ตามข้อมูลของ Debtwire

การล้มละลายของ Forever 21 สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่เพิ่มขึ้นของผู้ค้าปลีกแฟชั่นรวดเร็วแบบดั้งเดิมที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน โดยเฉพาะยุคนี้ที่คนเดินห้างน้อยลงและแบรนด์แฟชั่นต่างใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นช่องทางหลักอย่างสมบูรณ์

การเติบโตของอีคอมเมิร์ซยิ่งทำให้ตลาดค้าปลีกแฟชั่นแข่งขันรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะจากคู่แข่งต้นทุนต่ำจากจีนอย่าง Shein และ Temu ที่ได้เปลี่ยนแปลงสภาพตลาดไปอย่างมาก ความสามารถของบริษัทเหล่านี้ในการจัดส่งสินค้าโดยตรงถึงผู้บริโภคโดยไม่ต้องเสียภาษีศุลกากรจำนวนมาก ตามกฎ de minimis ของสหรัฐฯ ได้สร้างแรงกดดันอย่างมากต่อผู้ค้าปลีกภายในประเทศ

เส้นทางของ Forever 21 หลังการล้มละลายครั้งแรก

Forever 21 เคยยื่นขอล้มละลายครั้งแรกในปี 2019 และได้รับการช่วยเหลือโดย Sparc Group ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Authentic Brands Group และผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ได้แก่ Simon Property และ Brookfield Asset Management

หลังจากพ้นสภาวะล้มละลายครั้งแรก บริษัทมีรายได้ 2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021 แต่เริ่มกลับมาขาดทุนอีกครั้งในปีถัดมา ในปี 2023 หลัง Shein ได้เข้าถือหุ้นใน Sparc Group เพื่อเป็นพันธมิตรให้ Forever 21 สามารถจำหน่ายสินค้าบางรายการบนเว็บไซต์ของ Shein ได้ แต่ข้อตกลงนี้ไม่สามารถหยุดยั้งการขาดทุนของบริษัทได้ ตามเอกสารของศาล

ปัจจุบัน Forever 21 เป็นเจ้าของโดย Catalyst Brands ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 มกราคม จากการควบรวมกิจการระหว่าง Sparc และ JC Penney ห้างสรรพสินค้าที่ Simon Property Group เป็นเจ้าของมาตั้งแต่ปี 2020
เมื่อ Catalyst Brands ก่อตั้งขึ้น บริษัทได้ประกาศว่ากำลัง "พิจารณาทางเลือกเชิงกลยุทธ์" สำหรับ Forever 21 ขณะที่ Authentic Brands ยังคงเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าและทรัพย์สินทางปัญญาของ Forever 21 ซึ่งอาจมีการนำไปใช้ในอนาคต

โดยในปีที่ผ่านมา เจมี่ ซอลเตอร์ (Jamie Salter) ซีอีโอของ Authentic Brands เคยกล่าวว่า "การซื้อกิจการ Forever 21 เป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่สุดของผม"

สถานะปัจจุบัน Forever 21 กำลังจัดทยอยจลดราคาสินค้า เพื่อเตรียมปิดกิจการในทุกสาขาทั่วสหรัฐฯ และจะยังคงให้ลูกค้าใช้บัตรของขวัญภายใน 30 วันแรกได้ตามเวลาที่ขอยื่นตามกระบวนการล้มละลาย นอกจากนี้ บริษัทจะยังคงพิจารณาผู้ที่สนใจซื้อกิจการบางส่วนหรือทั้งหมดของธุรกิจในสหรัฐฯ ขณะที่สาขาในต่างประเทศที่ยังดำเนินการอยู่จะไม่ได้รับผลกระทบจากการล้มละลายครั้งนี้

อ้างอิงข้อมูลจาก Reuters Retaildive 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -   

 


เราใช้คุ้กกี้

เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติมคลิก(Privacy Policy) และ (Cookie Policy)