สื่อปรับ ธุรกิจเปลี่ยน แนะ 4 สูตรเด็ด พิชิตใจผู้บริโภคยุคดิจิทัล 4.0

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

สื่อปรับ ธุรกิจเปลี่ยน แนะ 4 สูตรเด็ด พิชิตใจผู้บริโภคยุคดิจิทัล 4.0

Date Time: 24 มิ.ย. 2560 09:25 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Summary

  • คนเริ่มกลายเป็นสื่อเอง เป็นนักข่าวได้ สร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจเองได้ จนทำให้ตอนนี้ สื่อมวลชนไม่ค่อยได้รับความสนใจเหมือนเมื่อก่อน ดังนั้น สื่อต้องเริ่มปรับตัว ต้องมีเป้าหมาย และจุดมุ่งหมายชัดเจน ว่าตนเองต้องการทำอะไร

Latest


การสื่อสารเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับภาคธุรกิจต่างๆ รวมทั้งสื่อมวลชนอย่างมาก ที่ต้องเผชิญหน้ากับการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล 4.0 อินเทอร์เน็ต โซเชียลเน็ตเวิร์ก เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้การบริโภคข่าวสารเปลี่ยนแปลงไปมาก เมื่อเทียบกับในยุคก่อนๆ จะเห็นได้ว่า สื่อสังคมออนไลน์ เข้ามามีบทบาทอย่างมหาศาล จึงทำให้สื่อมวลชน รวมทั้งในส่วนของธุรกิจ ต้องปรับตัวให้ทันเพื่อความอยู่รอด

‘ไทยรัฐออนไลน์’ เก็บข้อมูลดีๆ ที่น่าสนใจจากผู้เชี่ยวชาญในวงการ ทั้งภาคธุรกิจ และสื่อสารมวลชน ในงานเสวนา ‘ทิศทางอนาคตนิเทศศาสตร์ 4.0’ ที่จัดขึ้น ณ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ โดยงานได้อธิบายถึงกลยุทธ์การสื่อสาร ที่จะทำอย่างไรให้ปัง และเข้าถึงผู้บริโภคได้หลากหลาย ตรงกลุ่มเป้าหมาย ที่ทั้งสื่อมวลชน และผู้ประกอบการในทุกธุรกิจต้องอ่าน

ช่องทางการสื่อสาร ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด แต่เป็นเนื้อหาที่นำเสนอต่างหาก

ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชน เปิดเผยว่า การสื่อสารในทุกๆ ส่วนย่อมสำคัญ แต่อยากให้เข้าใจว่า สิ่งที่สำคัญไม่ใช่แพลตฟอร์ม หรือช่องทางการนำเสนอที่หลากหลายเท่านั้น สิ่งที่สำคัญมากกว่า คือเนื้อหาที่ผลิตขึ้นมา คนสื่อสารเก่ง ไม่ได้หมายความว่าเป็นคนใช้เทคโนโลยีเป็น แต่อยู่ที่เนื้อหา ว่ามีความน่าสนใจ น่าเชื่อถือ และสามารถดึงดูดผู้คนได้มากน้อยเพียงใด

ขณะที่สื่อมวลชน และในส่วนของธุรกิจ ก็จะต้องสามารถปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้รับสาร และต้องตระหนักรู้ มีความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะถือว่าเราอยู่ภายใต้สายตาของสังคม หากจะทำอะไร ต้องคำนึงถึงจริยธรรมและความรับผิดชอบด้วยเช่นกัน

ปังหรือไม่ปัง อยู่ที่คอนเทนต์ที่สร้าง ไม่ใช่เงินที่ใช้ฟาด!

นายจักรพงษ์ คงมาลัย ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Thumbsup กล่าวว่า ปัจจุบัน โลกโซเชียลเน็ตเวิร์กนั้นมีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวัน พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป เห็นได้จากสื่อมวลชน จากเดิมการติดตามข่าวสาร ประชาชนจะต้องติดตามกับสำนักข่าวต่างๆ หรือตามข่าวจากสื่อมวลชนเท่านั้น แต่ ณ ขณะนี้ไม่ใช่แล้ว ทุกคนเริ่มกลายเป็นสื่อเอง เป็นนักข่าวได้ สร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจเองได้ จนทำให้ตอนนี้ สื่อมวลชนไม่ค่อยได้รับความสนใจเหมือนเมื่อก่อน ดังนั้น สื่อต้องเริ่มปรับตัว ต้องมีเป้าหมาย และจุดมุ่งหมายให้ชัดเจน ว่าตนเองต้องการทำอะไร

ในมุมมองของนักการตลาด อย่างนางสาวชลธิดา ทีฆคีรีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานการตลาด บริษัท คาร์มาร์ท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในมุมมองของภาคธุรกิจเองก็ต้องเริ่มปรับตัวแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้การลงโฆษณาในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ก็ได้รับผลตอบรับที่ดี ในส่วนของบริษัทฯ เอง ก็ปรับตัวด้วยเช่นกัน ปกติจะลงโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านนิตยสาร ปกหนังสือ แต่ ณ ตอนนี้ ก็ต้องทำการตลาดผ่านออนไลน์ โซเชียลมีเดีย ก็ถือเป็นข้อดี เพราะเสียค่าใช้จ่ายน้อยแต่ได้รับผลตอบรับที่เกินคาด

ดังนั้น ตนมองว่า การมีเม็ดเงินเพื่อใช้ลงโฆษณาเยอะๆ อย่างเดียว ก็ไม่สามารถขายของได้ แต่จะต้องผลิตคอนเทนต์ให้ชนะใจผู้บริโภคให้ได้ ทำให้ผลิตภัณฑ์ของเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้บริโภค จึงจะประสบความสำเร็จ ต้องเข้าใจในการสื่อสารการตลาดให้มาก มองหลายๆ ด้าน และเข้าใจผู้บริโภคให้ได้

ด้านนายอพิชาต บวรบัญชารักษ์ ผู้บริหารกิจการร้านอาหารทะเลชื่อดังอย่าง แหลมเกต กล่าวว่า ตลาดทุกวันนี้ เหมือนการโกหกใส่กัน คิดอีกอย่างแต่นำเสนออีกอย่าง สิ่งที่สำคัญคือ ต้องเรียนรู้ธรรมชาติของมนุษย์มากกว่า ไม่ควรยึดติดอะไรมาก เน้นที่การปรับตัวตามผู้บริโภคให้ทัน ในส่วนธุรกิจร้านอาหารนั้น ก็ต้องทำคอนเทนต์ที่สามารถดึงดูดลูกค้าได้ เช่น การทำแฟชั่นเซต เป็นต้น

“ทำอย่างไรก็ได้ ให้เป็นเรื่องแปลกใหม่ ทำอย่างไรให้สิ่งที่ไม่ควรมาอยู่ด้วยกัน แต่พออยู่ด้วยกันแล้วกลับสร้างมูลค่าให้ธุรกิจเราเพิ่มได้”

นอกจากนี้ การผลิตคอนเทนต์ขึ้นมานั้น นอกจากน่าสนใจ เข้าถึงผู้บริโภคได้แล้ว ต้องมีจริยธรรม ไม่ส่งผลกระทบต่อใครด้วย ซึ่งจะทำให้ทุกคนอยากอ่าน และอยากแชร์ต่อๆ กันไป สมัยก่อนอาจจะต้องสร้างกระแส โดยการจ้างดารานักแสดง ผู้มีเชื่อเสียงให้ช่วยโฆษณาให้ แต่ปัจจุบันนี้ไม่ต้องแล้ว ทุกธุรกิจสามารถสร้างแบรนด์ได้เอง และดังได้เอง ขึ้นอยู่กับวิธีคิดของแต่ละธุรกิจที่จะนำเสนอออกมา

นายอพิชาต ยังกล่าวอีกว่า ในหลายๆ ธุรกิจ หรือแม้แต่สื่อมวลชนเอง กำลังบ้ากับยอดกดไลค์ กดแชร์ อยากแนะนำว่า อย่าวิ่งเข้าหาช่องทางออนไลน์ จนลืมตัวตนของตัวเอง วิธีการสื่อสารด้านอื่นก็ยังสำคัญด้วยเช่นกัน ยอดไลค์ ยอดแชร์ เป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญคือ ทำสื่อออกไปแล้ว ผลตอบรับหรือยอดขายกลับมาเท่าใดมากกว่า

ทั้งนี้ การทำคอนเทนต์ออกมา ต้องไม่คัดลอกคนอื่น แล้วบอกทุกคนว่าเพื่อเป็นแรงบันดาลใจ ต้องมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง แม้โลกทุกวันนี้ก้าวไปเร็วมาก แต่อยากให้คิดช้าๆ ไตร่ตรองให้ถี่ถ้วน บางทีอาจจะไปได้เร็วกว่าคนที่คิดเร็วแต่สุดท้ายแล้วพลาด มองว่าการผลิตคอนเทนต์ให้น่าสนใจ ไม่จำเป็นต้องเป็นคอนเทนต์แรงๆ สำคัญคือการทำให้คนอินกับเรา

4 สูตรเด็ด พิชิตการสื่อสารยุค 4.0 ที่เจ้าของธุรกิจ-สื่อมวลชนต้องรู้

ผศ.สกุลศรี ศรีสารคาม หัวหน้าสาขาวิชาเอกวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจนท์ พีไอเอ็ม ได้เผย 4 สูตรสำเร็จของการสื่อสารในยุคดิจิทัล 4.0 ที่นักสื่อสาร นักธุรกิจและสื่อมวลชนต้องรู้

1. ปั้น เพราะเนื้อหาหรือคอนเทนต์ เป็นหัวใจหลักของการสื่อสาร ดังนั้นการปั้นคอนเทนต์ จึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ทำให้เป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นข้อความ ภาพนิ่ง อินโฟกราฟิก และอื่นๆ ต้องสามารถดึงดูดความสนใจได้

2. เปลี่ยน เปลี่ยนในที่นี้คือ การเปลี่ยนวิธีการนำเสนอ ด้วยการประยุกต์ใช้กับเทคนิคการเล่าเรื่องด้วยหลากหลายวิธี เช่น การถ่ายทอดสารแบบเล่าเรื่อง (Storytelling) ซึ่งเป็นการสร้างประสบการณ์ให้ผู้รับสารมีส่วนร่วมไปพร้อมๆ กันได้ ทำให้เกิดกระแสเป็นที่พูดถึงในวงกว้างได้

3. ปลุก คือ การปลุกจริยธรรม การสื่อสาร หรือสร้างคอนเทนต์ขึ้นมา จะต้องเป็นสิ่งที่เข้ากับหลักจริยธรรมของสื่อ ทั้งสื่อมวลชนกระแสหลัก สื่อใหม่ และทุกๆ คน

4. ปัง คือการขยายผลต่อยอดความสำเร็จของคอนเทนต์ที่สื่อสารออกไป ด้วยการกระจายผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้เกิดการแชร์ต่อกันในวงกว้าง และสามารถครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายได้มากยิ่งขึ้น


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ