ลงทุน 400 ล้านพัฒนา “สวนสยาม” “วุฒิชัย” หวังเศรษฐกิจฟื้นหนุนคนไทยเที่ยวคึกคัก

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ลงทุน 400 ล้านพัฒนา “สวนสยาม” “วุฒิชัย” หวังเศรษฐกิจฟื้นหนุนคนไทยเที่ยวคึกคัก

Date Time: 16 ม.ค. 2568 09:30 น.

Summary

  • “วุฒิชัย” เผย สยามอะเมซิ่งพาร์ค หรือสวนสยาม วางแผนลงทุนเพิ่ม 400 ล้านบาท เล็งทุ่ม 100–200 ล้านบาท ปรับปรุงพัฒนาเครื่องเล่นเพื่อดึงดูดคนมาใช้บริการ และลงทุนอีก 300 ล้านบาท สร้างโรงแรมขนาด 100–200 ห้องขึ้นไป ชี้ผู้ใช้บริการหายไป 40%

Latest

เพลงทำหน้าที่เสมือน “เพื่อนคนหนึ่ง” คนไทยยังชอบฟังเพลงไทย ยอมจ่ายค่า Subscription แม้พุ่ง 2 เท่า

“วุฒิชัย” เผย สยามอะเมซิ่งพาร์ค หรือสวนสยาม วางแผนลงทุนเพิ่ม 400 ล้านบาท เล็งทุ่ม 100–200 ล้านบาท ปรับปรุงพัฒนาเครื่องเล่นเพื่อดึงดูดคนมาใช้บริการ และลงทุนอีก 300 ล้านบาท สร้างโรงแรมขนาด 100–200 ห้องขึ้นไป ชี้ผู้ใช้บริการหายไป 40% จากที่คนไทยไม่มีกำลังซื้อ หวังเศรษฐกิจประเทศกลับมาดีขึ้นปี 2569 และธุรกิจกลับมาดีขึ้นในปี 2570

นายวุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท สยามพาร์ค ซิตี้ ผู้ประกอบกิจการสยามอะเมซิ่งพาร์ค (สวนสยาม) และนายกสมาคมสวนสนุกและสวนพักผ่อนหย่อนใจแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ช่วงต้นปี 2568 โดยภาพรวมของสวนน้ำ สวนสนุก ผู้ใช้บริการหายไป 40-60% เฉพาะของสยามอะเมซิ่งพาร์ค ลดลงราว 40% ซึ่งเป็นสถานการณ์ต่อเนื่องมาจากปี 2567 ที่กำลังซื้อของคนในประเทศหดหาย

ทางสยามอะเมซิ่งพาร์คจึงได้จัดโปรโมชันฉลองครบรอบ 44 ปี ด้วยราคาบัตรเพียง 240 บาท จากราคาปกติ 1,000 บาท สามารถเที่ยวได้ไม่อั้นทั้งวัน ทั้งสวนน้ำและสวนสนุก เฉพาะการซื้อออนไลน์ล่วงหน้าอย่างน้อย 2 วัน ทาง ticket.siamamazingpark.com เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อและส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ โดยกำหนดระยะเวลาซื้อบัตรได้ขณะนี้จนถึงวันที่ 26 ก.พ.2568 และมีระยะเวลาใช้บริการถึงวันที่ 28 ก.พ.2568

“แม้สถานการณ์ในตอนนี้ยังไม่ดี แต่คาดว่าช่วงปลายปีสถานการณ์จะดีขึ้น และการที่สยามอะเมซิ่งพาร์คได้ทำโปรโมชันดังกล่าว เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้บริการที่ยังมีกำลังซื้อที่อ่อนแอ แต่อย่างไรก็ดี ในระยะยาวยังจำเป็นที่จะต้องลงทุนเพื่อพัฒนา ซ่อมแซมเครื่องเล่น และโครงสร้างอุปกรณ์ทางการท่องเที่ยวใหม่ เพื่อสร้างแรงดึงดูดให้กับผู้มาใช้บริการเพิ่มขึ้น”

ยกระดับเครื่องเล่น–โรงแรมรับนักท่องเที่ยว

นายวุฒิชัยกล่าวว่า สยามอะเมซิ่งพาร์คได้วางแผนที่จะทุ่มการลงทุนเพิ่มราว 400 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงธุรกิจโดยกู้เงินจากสถาบันการเงินมาพัฒนาเครื่องเล่น ในวงเงิน 100-200 ล้านบาท แต่พอผลประกอบการในช่วงปีหลังๆยังไม่ปกติ ก็จะติดเกณฑ์เรื่องความสามารถในการชำระหนี้ (LTV) ทำให้ธนาคารต้องพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งถ้าหากรัฐต้องการให้ผู้ประกอบการลงทุนในการพัฒนาธุรกิจ ก็ต้องออกนโยบายเพื่อช่วยเรื่องแบบนี้

นอกจากนี้ ในปี 2569 ยังมีแผนที่จะสร้างโรงแรมขนาด 200 ห้องขึ้นไป ใช้เงินลงทุนราว 300 ล้านบาท เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เพื่อทำให้นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการได้นานขึ้น โดยการลดภาระและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

“เนื่องจากมาตรการฟรีวีซ่าของรัฐบาล ทำให้ทางเราเห็นสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่เข้าประเทศไทยเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวระยะสั้น ทำให้สนใจเที่ยวสวนสนุกมากกว่าสวนน้ำ นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เรามีแผนที่จะปรับปรุงเครื่องเล่น เพื่อรองรับผู้ใช้บริการกลุ่มนี้ ถ้าให้ประเมินว่าเมื่อใดที่ธุรกิจนี้จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ที่ประชาชนจะกลับมามีกำลังซื้อ เมื่อดูจากสถานการณ์โดยรวมทั้งหมดทำให้คาดการณ์ว่า หลังจากเศรษฐกิจดีขึ้นปี 2569 ราวปี 2570 ธุรกิจของสยามอะเมซิ่งพาร์ค จะเข้าสู่สภาพปกติได้”

ส่วนของโครงการบางกอก เวิลด์ ที่ลงทุนเพิ่มเติมก่อนหน้านี้ร่วม 3,000 ล้านบาท บนพื้นที่ 70 ไร่ เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มีสถาปัตยกรรมของอาคารสมัยรัชกาลที่ 5 และรวบรวมแลนด์มาร์กที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร นับว่าได้รับผลตอบรับที่ดีพอสมควร แต่ยังต้องใช้เวลา เพราะบางกอก เวิลด์เป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสยามอะเมซิ่งพาร์ค ผู้ที่สนใจเข้ามาในโครงการก็จะมองดูสภาพของธุรกิจรวม ดังนั้น เมื่อไหร่ที่สยาม อะเมซิ่งพาร์คกลับมาใกล้เคียงปกติ บางกอก เวิลด์ก็จะปรับเพิ่มขึ้นตาม

ขอแรงรัฐฟื้นธุรกิจไทย–ผ่อนเงื่อนไขสินเชื่อ

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท สยามพาร์ค ซิตี้ กล่าวต่อไปว่า ปี 2568 ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย หลังจากในปี 2567 สถานการณ์ของผู้ประกอบการประสบปัญหาสภาพคล่องตึงตัว รายได้ส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อชำระดอกเบี้ย ทำให้ขาดทรัพยากรในการพัฒนาธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ในปี 2568 จะเป็นปีแห่งการฟื้นตัวด้วยมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น โครงการคุณสู้เราช่วย ซึ่งเน้นช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและผู้ประกอบการรายย่อย โครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล กระตุ้นการจับจ่ายและเพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน การผ่อนปรนเงื่อนไขสินเชื่อ จากธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) เพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและรายย่อยที่ยังมีศักยภาพ จะผลักดันเศรษฐกิจไปสู่ทิศทางบวก

“ธุรกิจขนาดกลางมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจไทย เป็นแหล่งจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับชุมชน หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและสถาบันการเงิน โดยเฉพาะการผ่อนปรนเงื่อนไขบางประการจากธนาคาร จะช่วยให้ธุรกิจกลับมาดำเนินกิจการได้อย่างเต็มศักยภาพ จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง ขณะที่เสถียรภาพทางการเมืองจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อโอกาสในการลงทุนและการท่องเที่ยว ทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจ ด้วยความเป็นมิตรต่อทุกฝ่ายและนโยบายสนับสนุนธุรกิจของรัฐบาล และการผลักดันโครงการเชิงยุทธศาสตร์ เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี และเอนเตอร์เทน เมนต์คอมเพล็กซ์ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ