หากพูดถึง “เดอะ คอฟฟี่ คลับ” (The Coffee Club) ในเครือไมเนอร์ฟู้ดส์ ร้านกาแฟแบบ All-Day Dining สัญชาติออสเตรเลีย ที่เข้าถึงฐานผู้บริโภคคนไทยทุกกลุ่มตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ ผ่านการนิยามตัวเองว่าเป็น “มากกว่าร้านกาแฟ” หลายคนคงจะนึกภาพร้านกาแฟโทนสีดำ ดูน่าดึงดูด ที่มักจะตั้งอยู่ในย่านชาวต่างชาติพลุกพล่านอย่างแน่นอน
แต่รู้หรือไม่ว่าปัจจุบันภาพของ “เดอะ คอฟฟี่ คลับ” (The Coffee Club) ที่หลายๆ คนเห็นนั้นอาจไม่ใช่แบบเดิมอีกต่อไป เพราะด้วยกลยุทธ์ใหม่ที่ต้องการเป็น Neighborhood Café คาเฟ่เพื่อนบ้านที่เสิร์ฟความเป็นกันเองในบรรยากาศไม่ธรรมดา ล่าสุดได้มีการเปิดตัว “เดอะ คอฟฟี่ คลับ สาขา MDCU” หรือที่เรียกกันว่า อาคารหอสมุด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับเป็นสาขาที่ 42 จากสาขาทั้งหมด บนพื้นที่ 140 ตารางเมตร
นงชนก สถานานนท์ ผู้จัดการทั่วไป เดอะ คอฟฟี่ คลับ ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เอ็มเอฟ คาเฟ่ แอนด์ เรสเตอรองต์ จำกัด กล่าวว่า สาขาใหม่นี้มีการปรับโทนสีใหม่ กราฟิกใหม่ โดยลดการใช้สีดำและขาวแต่เพิ่มสีสดใสอย่างโทนมอคค่าแทน พร้อมกับเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ในรูปแบบ Learning Cafe โดยเริ่มให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการ 400-500 คนต่อวัน เป็นนิสิตแพทย์ 30% บุคลากรทางการแพทย์ 30% และคนทั่วไป 40%
ซึ่งความพิเศษของสาขานี้คือราคาถูกกว่าสาขาอื่น 20-30% มาในกรีนคอนเซปต์ออกแบบเน้นการใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยนำวัสดุรีไซเคิลและอัพไซเคิลมาใช้ในการตกแต่งร้าน อาทิ เฟอร์นิเจอร์ที่ทำมาจากเปลือกกาแฟ ควบคู่ไปกับการเสิร์ฟเมนูเครื่องดื่ม เมนูขนมหวาน และเมนูเพื่อสุขภาพ
นงชนก กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน เดอะ คอฟฟี่ คลับ มีสาขาทั้งหมด 42 แห่ง จาก 70 แห่ง โดยแบ่งเป็นกรุงเทพฯ 22 แห่ง และต่างจังหวัด 19 แห่ง โดยมีสาขาในโรงพยาบาล 2 แห่ง คือ ที่โรงพยาบาลกรุงเทพฯ และโรงพยาบาลจุฬาฯ คาดว่าในอนาคตจะมีการเปิดสาขาในโรงพยาบาลรัฐบาลมากขึ้น
ทั้งนี้ในปี 67 ได้มีการเปิดไปสาขาใหม่ 4 สาขา คือ ตึกสำนักงานใหญ่ AIA สุรวงศ์, เซ็นทรัลพัทยา, โรงแรมโกลว์ มิรา กะรน บีช และสาขา MDCU ที่ใช้เงินลงทุนประมาณ 6 ล้านบาท ราคาสินค้าเริ่มต้นที่ 60 บาท
สำหรับปี 68 คาดว่าจะเปิดเพิ่ม 4-5 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อย่างแหล่งท่องเที่ยว อาทิ พัทยา, ภูเก็ต โดยร้านที่จะเปิด 24 ชั่วโมง ส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงเทพฯ อาทิ ทองหล่อ ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 7-8 ล้านบาทต่อสาขา พร้อมมีแผนปรับปรุงสาขาเดิม 5 แห่ง ทั้งนี้คาดว่าจะใช้เงินลงทุนสาขาละ 4-5 ล้านบาท โดยรวมแล้วประมาณ 60 ล้านบาท ขณะเดียวกันสาขาที่เวียงจันทน์คาดว่าจะเปิดในปี 68 ซึ่งจะเป็นแฟรนไชส์ โดยปัจจุบันมีแล้วที่หลวงพระบาง
“ตอนนี้กาแฟแข่งขันกันที่รสชาติ เพราะลูกค้าในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะเน้นทานเป็นเบสิกกาแฟ อาทิ อเมริกาโน, ลาเต้, เอสเปรสโซ ส่วนต่างจังหวัด ย่านท่องเที่ยวจะเน้นเป็นพรีเมียม อย่างแฟรปเป้ผลไม้ ใส่ไอติม ทำให้เดอะ คอฟฟี่ คลับ ต้องเร่งสปีดเพื่อเข้าถึงลูกค้าให้มากยิ่งขึ้น นั่นจึงเป็นเหตุผลให้บริษัทฯ คาดว่ารายได้รวมปี 67 จะเติบโตกว่า 9% จากปีที่ผ่านมา สำหรับด้านกำไรบริษัทฯ ทำกำไรได้ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 มากกว่าปีก่อนถึง 20 เท่า โดยกำไรที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการตัดร้านที่ขาดทุนออกในช่วงโควิดออก 30 สาขา ขณะที่ในปี 68 คาดว่ายอดขายจะโตประมาณ 10%”
นงชนก กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันเดอะ คอฟฟี่ คลับ มีจำนวนสมาชิกอยู่ประมาณ 240,000 ราย แอคทีฟ 10% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ยอดซื้อต่อบิล หากเป็นร้านที่ขายเครื่องดื่มจะเริ่มต้นที่ 100 บาท ส่วนร้านที่มีอาหารและเครื่องดื่มประมาณ 300 บาทต่อบิล แต่ส่วนใหญ่ลูกค้าจะเน้นซื้อเครื่องดื่มเป็นหลักมากถึง 80%
ทั้งนี้ในปี 68 คาดว่าจะมีการปรับราคาขึ้นน้อยมากเฉลี่ยอยู่ที่ 2 บาท แม้ว่าราคาเมล็ดกาแฟจะปรับขึ้นก็ตาม ขณะเดียวกันสัดส่วนลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวมากถึง 60% คนไทยอยู่ที่ 40%
ส่วนภาพรวมตลาดร้านกาแฟปี 67 และ 68 นงชนก มองว่า จะมีการแข่งขันสูงมาก จึงทำให้ เดอะ คอฟฟี่ คลับ มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า ผ่านกลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น การชูจุดเด่นผู้นำด้านกาแฟตามแบบฉบับออสเตรเลียด้วยการนำเสนอเมล็ดกาแฟซิกเนเจอร์ใหม่ล่าสุด
ที่ผสมผสานเอกลักษณ์จาก 3 แหล่งปลูกกาแฟชั้นนำระดับโลก ได้แก่ บราซิล โคลอมเบีย และอินเดีย เหมาะสำหรับการชงในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นกาแฟดำ หรือกาแฟนม ตอบโจทย์คอกาแฟ อีกทั้งยังมีเมนูอาหารที่เลือกทานได้ตลอดทั้งวัน ส่วนความท้าทายยังคงมองว่าเป็นในเรื่องของ “วัตถุดิบ”
ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney